จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันเดียวที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระบรมราชูปถัมภกของสถาบัน และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวประดับที่สำรดของชายครุยระดับอก ชาวจุฬาฯ ควรสวมเสื้อครุยด้วยความสำรวม เคารพในพระมหากรุณาธิคุณและภาคภูมิใจในเสื้อครุยพระราชทาน ไม่ต้องประดับสิ่งใดบนเสื้อครุยเพิ่มเติม
ลักษณะสำคัญของเสื้อครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ระยะระหว่างแถบหรือช่องไฟ และขนาดของแถบบนสำรด ซึ่งกำหนดเป็น ๒ ขนาดคือ ขนาดเล็กและใหญ่ มีระยะห่างกันอย่างประณีตตามแบบจิตรกรรมไทย แถบของสำรดของเสื้อครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น งามทั้งรูปแบบและองค์ประกอบของศิลปะไทย การจัดสีพื้นกับสีประจำคณะ สีของเส้นที่แสดงระดับของวุฒิคือ ปริญญาตรี ๑ เส้น ปริญญาโทและเอกใช้ ๒ และ ๓ เส้น ตามลำดับนั้นการให้สีและจัดองค์ประกอบงามสง่าอีกเช่นกัน
บูรพาจารย์และศิลปินในอดีตได้เลือกสักหลาดเป็นพื้นสำรดสีดำ สำหรับบัณฑิตและมหาบัณฑิต ระดับดุษฎีบัณฑิตใช้พื้นสำรดสีแดงชาด และใช้สีเหลืองสำหรับฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก โดยการใช้สีดำเป็นการถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันเสาร์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สีดำหรือน้ำเงินเข้มเป็นสีประจำพระองค์ การใช้สีแดงชาดเป็นการถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคาร พระองค์ท่านโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ ใช้สีบานเย็นสำหรับกรมมหาดเล็กและโรงเรียนมหาดเล็ก ใช้สีแดงชาดสำหรับสีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำรัชกาล (เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า) แต่ในชั้นหลังต่อมาใช้สีชมพู ส่วนการใช้สีเหลืองเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์ และใช้กับฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกเท่านั้น
ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย