รู้ลึกกับจุฬาฯ

เกาหลีศึกษาเพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาเซียนเพื่อเกาหลี

3 ตุลาคม ของทุกปีคือวันชาติของประเทศเกาหลี ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่วันชาติของเกาหลีใต้ หรือ Republic of Korea (ROK) เท่านั้น หากแต่เป็นวันชาติของเกาหลีเหนือ หรือ Democratic People’s Republic of Korea (DPRK) อีกด้วย

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าวันที่ 3 ตุลาคม เมื่อ 2,333 ปี ก่อนคริสต์ศักราช อดีตกษัตริย์ตันกุน ผู้ก่อตั้งอาณาจักรโบราณ โชซอน ได้รวบรวมหัวเมืองเล็กหัวเมืองน้อยทั่วทั้งคาบสมุทรเกาหลีให้กลายเป็นอาณาจักรเดียวกันได้สำเร็จ และสถาปนา เปียงยาง (พย็องยัง) เป็นเมืองหลวง ดังนั้นในวันที่ 3 ตุลาคมของทุกปี สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีทั่วโลก จะเป็นเจ้าภาพจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ และปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษอย่างยิ่งเพราะปี 2018 ถือเป็นวาระครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับเกาหลีใต้

ด้วยวาระโอกาสสำคัญเช่นนี้ ประกอบกับวาระ 101 ปีของการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกับ Academy of Korean Studies (AKS) และ Korean Research Institute แห่งนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย (KRI@UNSW) จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติของสมาคมเกาหลีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Korean Studies Association of Southeast Asia: KoSASA) ขึ้น ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26-28 กันยายนที่ผ่านมา

ในการประชุมดังกล่าวมีนักวิชาการด้านเกาหลีศึกษาจาก 10 ประเทศอาเซียน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เข้าร่วมมากกว่า 100 คน มีการจัดปาฐกถา 16 ครั้ง นำเสนอบทความวิชาการจำนวน 45 บทความ โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 หัวเรื่อง ได้แก่ เศรษฐกิจ-การเมือง สังคม-วัฒนธรรม เกาหลีศึกษา และ การเรียนการสอนภาษาเกาหลี

วาระหลักของงานในปีนี้ไม่ใช่แค่การโปรโมทเกาหลีศึกษา หากแต่เน้นการถอดบทเรียนที่เกิดจากการเรียนรู้ 2 ทิศทาง นั่นคือ เกาหลีศึกษาเพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียนเพื่อเกาหลี โดยเป็นการแสวงหาโอกาสและศึกษาความท้าทายเพื่อสร้างเวทีใหม่ในความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างทั้งสองภูมิภาค

 

ในงานประชุมครั้งนี้ มีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ผศ.ดร.ยอง ยูน แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ถอดบทเรียน นโยบาย แซมาเอิล อุนดง หรือ ขบวนการหมู่บ้าน/ชุมชนใหม่ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1970 ที่ทำให้เกิดการพัฒนาชนบทของเกาหลีจากภายในโดยการสร้างความเข้มแข็งจากระดับชุมชนผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐบาลที่ค่อนไปทางเผด็จการซึ่งนำโดยประธานาธิบดีปาร์ค จุง ฮี

นโยบายแซมาเอิล อุนดง ถือเป็นหนึ่งในพลังหลักสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้พัฒนาจากประเทศยากจนที่สุด ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก จนกลายเป็นประเทศพัฒนาที่มีรายได้ระดับสูง การถอดบทเรียนจากนโยบายนี้เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน จึงเป็นข้อเสนอที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง

ในขณะที่ ดร.ชฎาธาร โอสาธิต ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำเสนอบทความเพื่อเปรียบเทียบแนวทางการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งแน่นอนว่าเกาหลี ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำด้านไอซีที ซึ่งถือเป็นภาคการผลิตหลักของโลกในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ดังนั้นการเปรียบเทียบแนวทางการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของภาคธุรกิจนี้ของไทยกับเกาหลีใต้ จะเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนากำลังแรงงานของไทยให้เท่าทันโลกในยุคดิจิทัล

ส่วน เสกสรร อานันทสิริเกียรติ ซึ่งปัจจุบันได้รับทุนการศึกษา ASEAN Fellows และกำลังศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ณ กรุงโซล (Seoul National University) ก็นำเสนอบทความเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีทั้งสองชาติ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนสำหรับคาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่อุณหภูมิทางการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองในเวทีโลกกำลังขึ้นสูง โดยอาศัยการถอดบทเรียนจากความสำเร็จของอาเซียนที่สามารถรวมกลุ่ม บูรณาการภูมิภาคจนกลายเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่น่าจับตา เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของคาบสมุทรเกาหลี

ขณะเดียวกัน อาจารย์กมล บุศบรรณ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และกำลังศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ณ กรุงโซล ก็นำเสนอการเปรียบเทียบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเกาหลี แน่นอนว่าเกาหลีใต้เคยเป็นประเทศที่ยากจนมากที่สุดในโลก ยากจนและไร้ซึ่งทรัพยากรจนถึงขนาดที่ว่าในทศวรรษ 1960 ที่ธนาคารโลก เริ่มส่งนักวิชาการออกไปช่วยประเทศยากจนในการวางแผนพัฒนาประเทศ ปฏิเสธเพราะมองไม่เห็นหนทางว่าเกาหลีจะสามารถพัฒนาขึ้นได้อย่างไร แต่ ณ ปัจจุบันประสบการณ์ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในบทเรียนที่ทุกประเทศต้องเรียนรู้และนำมาปรับใช้

ในขณะที่ตัวผู้เขียนบทความนี้เอง ก็ได้นำเสนอผลการวิจัยจากการสำรวจข้อมูลร่วมกับคณะวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ในประเทศกัมพูชา เมียนมาร์ สปป.ลาว และเวียดนาม เพื่อหาข้อเสนอแนะและโมเดลการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ผลจากการสำรวจ พบว่าทุกประเทศมีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน การที่ต่างชาติเข้ามาให้ความช่วยเหลือ บางครั้งก็ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ หรือเกิดภาวะวิกฤติแห่งความเชื่อใจ (Trust Crisis) ดังนั้นเพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้า การลงทุน และร่วมกันเป็นพันธมิตรเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างกันและกัน กระบวนทัศน์ใหม่ในเรื่องของการค้า การลงทุน และการให้ความช่วยเหลือจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นักวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพยายามนำเสนอผลงานร่วมกับนักวิชาการจากนานาประเทศเพื่อเรียนรู้จากเกาหลีและนำมาพัฒนาอาเซียน และในขณะเดียวกันก็พยายามนำเอาเรื่องราวความสำเร็จของอาเซียนไปนำเสนอเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเกาหลีด้วยเช่นเดียวกัน สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจอยากอ่านผลงานวิชาการทั้งหมดที่มีการนำเสนอในการประชุมวิชาการ KoSASA ในครั้งนี้สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุมได้ที่ www.asean.chula.ac.th

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า