รู้ลึกกับจุฬาฯ

จับตาเบร็กซิทกับอนาคตของอังกฤษ

การลงประชามติด้วยคะแนนเสียง 52 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 เป็นวันชี้ชะตาของสหราชอาณาจักรที่จะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) และเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทางสหราชอาณาจักรก็มีมติว่าจะออกจากสหภาพยุโรปในเวลา 23.00 น. ของวันที่ 29 มีนาคม 2562 หรือประมาณอีก 4 เดือนข้างหน้า

ผศ.ดร.ณัฐนันท์ คุณมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรปศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า หลังจากที่ผู้นำชาติในสหภาพยุโรป 27 ชาติลงมติอนุมัติข้อตกลงถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรในสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 พ.ย.) ในขณะนี้ การเตรียมตัวออกจากสหภาพยุโรป คือการนำร่างข้อตกลงเบร็กซิท(Brexit) ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรและคณะมนตรียุโรป (ที่ประชุมหัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป) ไปเสนอต่อรัฐสภาสหราชอาณาจักรเพื่อขอความเห็นชอบ  ซึ่งจะลงมติในวันที่ 11 ธันวาคมนี้

ประเด็นที่น่าจับตามองต่อทิศทางข้างหน้าของเบร็กซิทคือ ร่างฯ ข้างต้น จะผ่านความเห็นชอบของสภาสามัญหรือสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ เพราะร่างฯ ถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงทั้งจากบรรดาพรรคฝ่ายค้าน แม้แต่ ส.ส.จำนวนมากในพรรคอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ เอง รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลก็ยืนกรานปฏิเสธที่จะลงมติเห็นชอบ ในขณะเดียวกัน เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้เรียกร้องให้สาธารณชนสนับสนุนข้อตกลงนี้เพื่อเคารพต่อเสียงประชามติเมื่อปี พ.ศ. 2559

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ร่างฯ อาจไม่ได้รับคะแนนเสียงเพียงพอและไม่ผ่านการเห็นชอบ ซึ่งในทัศนะของอาจารย์ณัฐนันท์ เชื่อว่าทางเลือกใหม่อาจเป็นการถอนตัวจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง หากไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะใช้ทางเลือกใด หรือการใช้วิธีเจรจาเพื่อแก้ไขร่างข้อตกลงใหม่ การลงประชามติเบร็กซิทอีกครั้ง หรือการสิ้นสุดลงของคณะรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดรัฐบาลใหม่หรือเลือกตั้งทั่วไป

“ผู้นำสหราชอาณาจักรจำนวนหนึ่งออกมาแสดงทรรศนะว่าร่างฉบับปัจจุบันถือเป็นข้อตกลงลักษณะเดียวที่เป็นไปได้ แต่หากสภาสามัญไม่ให้ความเห็นชอบร่างฯ ก็อาจต้องถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลง หรือยกเลิกถอนตัว ประกอบกับความเห็นทางเลือกอื่นๆ ที่แตกต่าง อาจกดดันให้ ส.ส. ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างฯ ยอมลงมติให้ความเห็นชอบ เพราะการออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิทธิพลเมืองร้ายแรง ส่งผลให้ร่างฯ สามารถผ่านความเห็นชอบของสภาได้ในท้ายสุด”

อาจารย์ณัฐนันท์กล่าวต่อว่า ผลกระทบของเบร็กซิทที่กำลังจะเกิดขึ้นในภายหน้ายังประเมินได้ยาก แต่หากเบร็กซิทสามารถนำพาสหราชอาณาจักรไปสู่ความมั่นคงและมั่งคั่งกว่าก่อนสมัยที่ยังเป็นรัฐสมาชิกของอียูจะส่งผลเชิงลบต่อสหภาพยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ โดยรัฐสมาชิกอื่นๆ อาจจัดให้มีการลงประชามติอย่างเดียวกันและดำเนินถอนตัวตามอย่างสหราชอาณาจักร ในทางตรงข้าม หากเบร็กซิทนำพาสหราชอาณาจักรไปสู่หายนะ ก็จะกลายเป็นบทเรียนให้พลเมืองในรัฐสมาชิกอื่นของอียูไม่เอาเป็นแบบอย่าง

สำหรับสหภาพยุโรปเอง ในกรณีที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกไปและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตลาดเดียวยุโรปในอนาคต สหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่จะ บูรณาการทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ลึกซึ้งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะปราศจากการถูกขัดขวางโดยสหราชอาณาจักรในหลายประเด็น เช่น บริการ ตลาดเงินทุน นโยบายต่างประเทศ และความมั่นคง อย่างที่เคยประสบมา

“ยิ่งไปกว่านั้น สาระของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงนี้อาจมีความเป็นอิสระจากนโยบายของสหรัฐอเมริกามากขึ้นเพราะสหราชอาณาจักรมีความใกล้ชิดกับสหรัฐมากสุดในหมู่รัฐสมาชิกสหภาพยุโรป แต่การขาดมหาอำนาจอย่าง สหราชอาณาจักรไปก็อาจนำไปสู่ภาวะที่เยอรมนีและฝรั่งเศสกุมอำนาจในสหภาพได้มากขึ้น อาจกระตุ้นให้เกิดกระแสต่อต้านในรัฐสมาชิกบนแนวคิดที่มองว่าสภาพยุโรปเป็นเหมือนจักรวรรดิของเยอรมนีและฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้อิทธิพลของสหราชอาณาจักรในเวทีระหว่างประเทศลดลงอีกด้วย”

สำหรับผลกระทบเบร็กซิทที่อาจจะเกิดกับประเทศไทยนั้น อาจเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ หากสหราชอาณาจักรยังคงเป็นสหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรป การดำเนินการทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรก็อาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หากมิเป็นเช่นนั้น ไทยกับสหราชอาณาจักรก็อาจจะเปลี่ยนไปดำเนินการทางกฎระเบียบทั่วไปขององค์การการค้าโลก หรือพัฒนากรอบความตกลงอื่นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังมีความสัมพันธ์กับไทยผ่านรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับอาเซียน แต่หากเบร็กซิทเกิดขึ้นจริง ก็น่าจับตามองว่าสหราชอาณาจักรจะวางตำแหน่งความสัมพันธ์ต่ออาเซียนและประเทศไทยในอนาคตต่อไปอย่างไร

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า