รู้ลึกกับจุฬาฯ

‘คนไร้บ้าน’ ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำของไทย

ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในไทยถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในปี 2018 ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ตามข้อมูลของ CS Global Wealth Report ของสถาบันวิจัย Credit Suisse

ต่อมา โพสต์ดังกล่าวได้รับการส่งต่อกันในโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นประเด็นที่พูดถึงกันกว้างขวาง เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องรีบออกมาปฏิเสธว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 และย้ำว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในแง่ “รวยกระจุก จนกระจาย” ของไทยกำลังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลกำลังแก้ไขอย่างจริงจัง กระนั้น ก็มีหลายเสียงในโลกออนไลน์ไม่เชื่อคำกล่าวของรัฐบาล

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประธานยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. อธิบายว่า ปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาหนึ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ เป็นเพราะคนไร้บ้านคือกลุ่มประชากรที่มีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมอยู่ต่ำสุดของสังคม เป็นกลุ่มคนที่ขาดแคลนปัจจัย 4 โดยเฉพาะในด้านที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกัน ก็ขาดแคลนความมั่นคงทางชีวิตและรายได้ และการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมเหมาะสม

“มีงานศึกษาในหลายๆ ประเทศชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของคนไร้บ้านในแต่ละเมืองเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นระดับของความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบปัญหาสวัสดิการที่ไม่ตอบสนอง ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ ยกตัวอย่างในสหรัฐ พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแล้วมีคนว่างงานเป็นเวลานานจำนวนมากขึ้น จนประกันการว่างงานไม่ครอบคลุม ส่วนหนึ่งไม่สามารถเช่าหรือครอบครองที่อยู่อาศัยได้ เลยเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน”

คนไร้บ้านในประเทศไทยจำนวนหนึ่งประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้มีรายได้ประจำหรือมั่นคง การขยับฐานะทางเศรษฐกิจที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็เป็นไปได้ยาก มิหนำซ้ำ สภาวะทางสังคมที่ประสบส่งผลให้ต้นทุนชีวิตของตนเองลดลงอีกด้วย

“งานวิจัยของเราพบว่าต้นทุนชีวิตของคนไร้บ้านลดลงเรื่อยๆ จากความเสี่ยงที่เกิดจากสภาวะแวดล้อม ในแง่ของความเสี่ยงทางสุขภาพ กล่าวคือ คนไร้บ้านจะมีอายุสั้นกว่าคนทั่วไป เพราะมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 60 ปี ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยอยู่ที่ 75 และมักจะเริ่มมีปัญหาสุขภาพจากสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิต นอกจากนี้การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเข้าใกล้วัยชรา”

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจคือสาเหตุสำคัญหนึ่งในการเข้าสู่ภาวะคนไร้บ้าน ทั้งในแง่ความยากจน ความไม่มั่นคงทางรายได้และการทำงาน รวมถึงการขาดสวัสดิภาพจากการว่างงาน รวมถึงปัจจัยที่เอื้อให้เกิดสภาพไม่เท่าเทียมในสังคม

“อย่างประเด็นเรื่องการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยก็มีที่มา ในเมืองมีที่อยู่อาศัย แต่เมื่อเวลาผ่านไปที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้น คนจนในเมืองที่ต้องอยู่ในเมืองเพื่อหางานทำก็จ่ายค่าเช่าบ้านไม่ไหว พอจ่ายไม่ได้ส่วนหนึ่งก็เริ่มเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน”

งานวิจัยของแผนงานฯ ระบุว่า คนไร้บ้านใน กทม. ร้อยละ 50 ย้ายถิ่นฐานมาจากต่างจังหวัดเพื่อเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานคร เพราะ กทม.เป็นพื้นที่แห่งโอกาสและมีตำแหน่งงานจำนวนมากเมื่อเทียบกับต่างจังหวัด หากโชคดีก็จะได้งานที่สามารถขยับคุณภาพชีวิตได้ แต่หลายคนอาจประสบกับปัญหาและข้อจำกัดจนไม่สามารถเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยอันมั่นคงได้

อนรรฆ กล่าวว่า แผนงานฯ มีข้อเสนอหลายประการที่ต้องการช่วยเหลือและแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านถาวรของคนไร้บ้านหน้าใหม่และกลุ่มเปราะบาง เช่น บ้านพักที่เอาไว้รองรับกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มคนที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่พักพิง เป็นบ้านพักที่มีความเหมาะสม เอื้อต่อการยกระดับชีวิต ภายใต้การสนับสนุนในการยกระดับความมั่นคงทางชีวิต เช่น การพัฒนาทักษะด้านแรงงานที่เหมาะสม หรือ การจัดหางานที่เหมาะกับทักษะในรูปแบบต่างๆ

“สำหรับประเทศไทยไทย จำนวนคนไร้บ้านในไทยไม่ได้ถือว่าสูงมากนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร มีอาจารย์บางท่าน ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะเรามีภาคเศรษฐกิจนอกระบบเยอะ อาทิ หาบเร่แผงลอย หรือการขายของในพื้นที่สาธารณะ ทำให้กลุ่มคนที่หลุดจากงานประจำ หรือคนที่ต้องการหารายได้มีทางเลือก”

“แต่แนวโน้มนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย โดยที่ไม่มีมาตรการสนับสนุนมารองรับ จะทำให้คนเหล่านี้หลุดจากการทำงาน ไม่มีรายได้ และมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะไร้บ้านได้เช่นกัน” อนรรฆกล่าว พร้อมเตือนว่าคนไทยไม่ควรดีใจที่จำนวนคนไร้บ้านไม่เยอะเท่าประเทศอื่นๆ แต่ควรตระหนักถึงแนวโน้มความเหลื่อมล้ำที่จะเพิ่มมากขึ้นภายใต้นโยบายที่สร้างความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล ที่จะส่งผลต่อปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนและคนชายขอบในเมือง

ความตระหนักในที่นี้ ยังหมายถึงการเข้าใจสภาพปัญหาและการมองปัญหาคนไร้บ้านว่าเป็นปัญหาร่วมของคนในสังคม ที่บางกลุ่มมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเปราะบางและภาวะไร้บ้านได้ ปัจจุบันคนไทยยังมีภาพมายาคติผิดๆ เกี่ยวกับคนไร้บ้าน ยังคงนิยมมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะเป็นคนขี้เกียจทำงาน มีปัญหาสุขภาพจิต และอันตราย ซึ่งข้อมูลที่แท้จริงแล้วพบว่า ภาพจำเหล่านี้ต่างเป็นข้อมูลที่ผิดทั้งสิ้น

“ถ้าเรามองว่าคนไร้บ้านมีหลายรูปแบบ เราก็มองได้ว่าคนเหล่านี้ก็มีสภาพที่คล้ายคลึงกับเรา เราอาจแค่มีต้นทุนที่ดีกว่า จะช่วยให้สังคมเข้าอกเข้าใจปัญหานี้ได้มากขึ้น และนำไปสู่การสร้างมาตรการ สวัสดิการหรือนโยบายที่จะยกระดับให้ความเหลื่อมล้ำลดลง และป้องกันไม่ให้คนตกลงไปอยู่จุดต่ำสุดในสังคมได้”

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า