รู้ลึกกับจุฬาฯ

สร้างภูมิต้านโรคสื่อโซเชียล

ปฎิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนวัตกรรมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อพฤติกรรม และความคิดของมนุษย์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคการสื่อสารผ่านโลกไซเบอร์ การยึดติดกับโลกความจริงเสมือน และเสพติดกิจกรรมในโซเชียลมีเดีย ซึ่งแม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีผลเสียและอันตรายที่ซ่อนอยู่ไม่น้อย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกลุ่มงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล หยิบยกประเด็นปัญหาดังกล่าวมาเป็นหัวข้อเสวนาเรื่อง “SOCIAL MEDIA SYNDROME: โรคโซเชียล การจัดการทางอารมณ์ ผลกระทบการใช้สื่อโซเชียล” เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 มกราคม 2562)

พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือ หมอมินบานเย็นจากเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” อธิบายว่า โซเชียลมีเดีย ซินโดรม หรือโรคสื่อโซเชียล คือภาวะที่ส่งผลจากการใช้อินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียอย่างไม่เหมาะสม เกิดขึ้นจากความไม่เท่าทันของผู้ใช้ เช่น การใช้สื่อโซเชียลมากเกินไป ทำให้เกิดอาการเสพติด โดยเฉพาะเด็กมักติดการเล่นเกมออนไลน์ การใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มากเกินพอดีจนเกิดผลเสีย เช่น เล่นมากจนนอนน้อยลง ส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนเจริญเติบโต เด็กวัยรุ่นติดโทรศัพท์มือถือจนเกิดผลเสียต่อร่างกาย มีภาวะอ้วนเพราะไม่ออกกำลังกาย และเกิดอาการสมาธิสั้น เหม่อลอย เข้าสังคมในโลกความเป็นจริงไม่ได้

คุณหมอเบญจพร เน้นว่าพ่อแม่ควรมีเวลาให้ลูกเพื่อการปลูกฝังภูมิคุ้มกันในการใช้โซเชียลมีเดีย และสร้างเงื่อนไขที่ชัดเจนให้ลูกใช้โซเชียลได้ มีงานวิจัยในต่างประเทศอธิบายว่า เด็กอายุก่อน 2 ขวบไม่ควรรับสื่อด้านไอทีเพราะจะมีผลต่อพัฒนาการทางภาษาและสังคม และเมื่ออายุ 2 ขวบขึ้นไปถึงจะเริ่มดูได้ แต่เริ่มต้น ที่การ์ตูนเสริมสร้างจินตนาการ และไม่ควรเป็นแนวแฟนตาซีหรือชวนฝันจนเกินไป

“แต่พ่อแม่ก็ต้องควบคุมลูกอย่างใกล้ชิด เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบควรดูคลิปดูยูทูบด้วยกันกับพ่อแม่ พอหลังจากนั้นเริ่มปล่อยได้แต่ต้องจับตาดูแลอย่างใกล้ชิดว่าลูกทำอะไร มีการวางระเบียบชัดเจนในการเล่นมือถือ ต่างชาติเรียกว่า Cell Phone Contract Deal กำหนดว่าเล่นได้ช่วงเวลาไหน วันละกี่ชั่วโมง ถ้าลูกผิดสัญญา พ่อแม่จะเก็บมือถือคืน เป็นต้น”

อย่างไรก็ดี คุณหมอเบญจพรอธิบายว่า พ่อแม่เองก็ควรเข้าใจลูกว่าลูกมีสังคมและชีวิตของตนเอง ดังนั้นไม่ควรมีกฎเกณฑ์มากเกินจนมองไม่เห็นตัวตนของลูก ขณะเดียวกันก็ควรสร้างขอบเขต ทำให้การควบคุมและความเป็นอิสระของลูกสมดุลกัน การปลูกฝังภูมิคุ้มกันให้แก่ลูกตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลูกได้มากเมื่อโตขึ้น

ที่รัก บุญปรีชา หรือพี่หลาม จิ๊กโก๋ไอที ผู้ผลิตรายการด้านไอที และพิธีกรรายการล้ำหน้าโชว์ ให้มุมมองด้านสื่อว่าโรคโซเชียลซินโดรมเป็นปัญหาที่เกิดจากการตามใจตัวเอง ปัจจุบันการเข้ามาของเทคโนโลยีที่รวดเร็วทำให้หลายคนมีความอดทนน้อยลง รีบร้อนและรีบเร่งในชีวิต มีความกระหายด้านข้อมูลข่าวสารที่ทันท่วงทีโดยไม่ต้องออกจากบ้าน

“อินเทอร์เน็ตไม่มีหน่วยงานใดเป็นคนควบคุม สิ่งที่เราทำได้คือการทำตัวให้เป็นผู้ใช้งานที่ดี ต้องอย่าลืมว่าในโลกอินเทอร์เน็ตมี Digital Footprint ทำอะไรในเน็ตจะมีบันทึกไว้เสมอ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี ดังนั้นต้องระวังตัวเวลาจะทำอะไร”

ดังนั้นการใช้อินเทอร์เน็ตจึงเหมือนกฎแห่งกรรม เนื่องจากกิจกรรมทางออนไลน์และโลกโซเชียลที่เกิดขึ้นจะถูกบันทึกไว้เสมอ และผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นก็สามารถ ย้อนมาเป็นหอกทิ่มแทงในอีกหลายปีให้หลัง ที่รัก ยกตัวอย่างว่ามีหลายกรณีที่คนไปสมัครงานแต่ไม่ได้งานเพราะบริษัทที่สัมภาษณ์เห็นข้อความเชิงลบที่โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ดังนั้นการตระหนักรู้เรื่องพิษภัยของโลกโซเชียลต้องเริ่มต้นที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้เกิดความรู้เท่าทันสื่อโซเชียลด้วยตนเองก่อนที่จะไปสอนลูกหลาน

พ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บังคับการกองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบายแง่มุมเชิงกฎหมายว่าคดีที่พบมากที่สุดในโลกโซเชียลมีเดียคือคดีฉ้อโกงจากการซื้อของออนไลน์ และคดีหมิ่นประมาท แต่คดีการซื้อของออนไลน์แล้วถูกโกงจะไม่นิยมแจ้งความเพราะเห็นเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย

“คนที่จะทำความผิดมี 3 องค์ประกอบ หนึ่งคือแรงจูงใจ สองคือทักษะ สามคือช่องโอกาส อันที่สาม เป็นสิ่งเดียวที่เราควบคุมได้ ในโลกโซเชียลการระบุตัวตนช่วยให้สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดและช่วยสอดส่องได้ระดับหนึ่ง”

“เรามีกฎหมายที่ดีก็จริง แต่การบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพยาก ดังนั้นพ่อแม่มีส่วนช่วยให้บุตรหลานมีภูมิคุ้มกันให้เขาเจอความเสี่ยงน้อยที่สุด” พ.ต.อ.นิเวศน์ สรุป

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า