รู้ลึกกับจุฬาฯ

ตระหนักแต่ไม่ตระหนกกับฝุ่นพีเอ็ม 2.5

สถานการณ์ของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐานยังสร้างความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องจนต้องปิดโรงเรียนกันเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว และรณรงค์งดจุดธูปเทียนและเผากระดาษในเทศกาลตรุษจีน รวมถึงการฉีดน้ำลดฝุ่นเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่หลายคนก็ยังตื่นตระหนกเพราะมีข้อมูลที่เผยแพร่ออกมามากมายจนก่อเกิดความหวาดกลัว สับสน โดยเฉพาะเรื่องระดับค่าของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ว่ามีความรุนแรงแค่ไหนกันแน่ และวิธีการป้องกันตัวเองและบุตรหลานที่มีประสิทธิภาพ

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดเวทีเสวนา “พีเอ็ม 2.5 ตระหนัก อย่างไม่ตระหนก” เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันหาทางป้องกันตนเองและผู้ป่วยที่เป็น “กลุ่มเสี่ยง” เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพในการเกิดผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้

ผศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ ภาควิชาอายุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า กลุ่มเสี่ยงนั้นได้แก่ เด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา และคนที่มีสุขภาพไม่ดี เช่น ผู้ป่วยโรคปอด โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ เป็นต้น คนเหล่านี้มีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบจากฝุ่นขนาดเล็กได้ทันทีทันใด เนื่องจากขนาดของฝุ่นนั้นเล็กมากจนสามารถผ่านเข้าไปได้ถึงปอดและกระแสเลือดได้จนอาจจะไปกระตุ้นให้อาการของโรคต่างๆ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือดกำเริบได้

ผศ.นพ.กมล กล่าวว่า “พีเอ็ม 2.5 เป็นปัญหาที่ใกล้ตัวที่เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันลดพีเอ็ม 2.5 และต้องระวังตัวเรา รวมถึงคนใกล้ตัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง โดยใช้วิธี เลื่อน ลด ละ เลิก”

เลื่อน ปรับเวลาการเดินทาง เลี่ยงช่วงเวลาที่ค่าพีเอ็ม 2.5 สูง โดยเฉพาะเวลาเช้าและเวลาเย็นที่สภาพการจรารจรหนาแน่น เครื่องยนต์ปล่อยควันดำ กอปรกับสภาพอากาศนิ่ง การหมุนเวียนอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นมีความเข้มข้นสูง ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลื่อนออกเดินทางไปเป็นเวลาอื่นแทน

ลด การออกนอกบ้าน ถ้าหากค่าพีเอ็ม  2.5 ขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หลักการสำคัญคือการไม่ไปอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษมาก และต้องใส่หน้ากากให้ถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ระวังมากจนเกินไป จนกักตัวอยู่ในพื้นที่จำกัดหรือบ้านที่การระบายถ่ายเทอากาศไม่ดี  และเมื่อค่าพีเอ็ม 2.5 สูงเกินมาตรฐานมากก็ควรจะมีการละหรือ เลิก อาทิ งดกิจกรรมภายนอกอาคารกิจกรรมกีฬากลางแจ้ง ไปจนถึงงดการเรียนการสอน เป็นต้น

รศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เล่าถึงประสบการณ์ในการเป็นหมอภูมิแพ้ พบว่าบางบ้านทำความสะอาดจนไม่เหลือฝุ่นแล้ว แต่เด็กก็ยังมีอาการภูมิแพ้กำเริบอยู่ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องตระหนักถึงก็คือ “คุณภาพอากาศภายในอาคาร” (Indoor Air Quality) เพราะถึงแม้เราจะปิดหน้าต่างอยู่ในบ้าน แต่ภายในบ้านเองก็สามารถสร้างพีเอ็ม 2.5 ได้เช่นกัน ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น การสูบบุหรี่ การทำอาหาร เครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ หรือบ้านตั้งอยู่ใกล้ถนน เป็นต้น เพราะฉะนั้นการอยู่แต่ในบ้านก็ไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป

“วิธีการป้องกันตัวเองจากฝุ่นละอองที่ดีที่สุดก็คืออยู่ให้ห่างจากจุดกำเนิดที่มีค่าพีเอ็ม 2.5 แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องยากที่เราจะหลีกเลี่ยง เราจึงควรที่จะป้องกันตัวเองให้มากที่สุดด้วยการใส่หน้ากากอนามัย”

รศ.พญ.พรรณทิพา แนะนำว่า หน้ากากอนามัยที่ดีไม่ใช่หน้ากากที่ราคาแพง แต่ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติต่างๆ ได้แก่ มีวาล์วระบายอากาศ  ครอบได้พอดีกับใบหน้าและแก้มทั้งสองข้าง มีตัวกรองหลายชั้น เป็นต้น คุณสมบัติเหล่านี้ก็จะช่วยป้องกันฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากหน้ากากอนามัยแล้วเครื่องมือที่จะช่วยบรรเทาปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารได้บ้างก็คือ “เครื่องฟอกอากาศ” รศ.พญ.พรรณทิพา ได้แนะนำเกี่ยวกับการเลือกใช้เครื่องฟอกอากาศว่า ควรเลือกที่มีตัวกรอง HEPA Filter ซึ่งสามารถกรองได้ถึง 0.3 ไมครอน เป็นตัวกรองมาตรฐานที่ใช้กรองฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ หรือใช้ร่วมกับตัวกรอง Electrostatic Filter เป็นตัวกรองแบบประจุไฟฟ้า ซึ่งสามารถกรองได้ถึง 0.01 ไมครอน ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือเราต้องดูแลรักษาสภาพของเครื่องโดยการเปลี่ยน HEPA ทุกๆ 6 เดือน

“ปัจจัยหนึ่งในการเลือกใช้เครื่องฟอกอากาศก็คือขนาดของเครื่อง ควรเลือกให้เมาะสมกับขนาดของห้อง และเมื่อเปิดใช้งานก็อย่าลืมปิดหน้าต่าง มิฉะเช่นนั้นนอกจากจะช่วยไม่ได้แล้ว ยังทำให้เครื่องเสื่อมเร็วอีกด้วย” รศ.พญ.พรรณทิพา กล่าว

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเรื่องของ “เครื่องวัด พีเอ็ม  2.5” และแอปพลิเคชั่น ที่หลายคนต่างก็พากันหาซื้อมาใช้เพื่อเฝ้าระวังวิกฤติในครั้งนี้ สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความเข้มข้นของ พีเอ็ม 2.5 ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อสังเกตไว้ว่า เครื่องตรวจวัดพีเอ็ม 2.5 มีหลากหลายขนาด และราคา ต้องยอมรับว่าเมื่อราคาต่างกัน ประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ก็ต่างกันไปด้วย ซึ่งเครื่องที่ไม่แพงก็พอจะ ใช้ได้ แต่ก็อาจจะมีการคลาดเคลื่อนมากหรือน้อยไปตามลำดับ

ส่วนการดูค่าคุณภาพอากาศผ่านแอปพลิเคชั่น ควรคำนึงถึง วัตถุประสงค์ของแอปพลิเคชั่นนั้นๆ เช่น ของกรมควบคุมมลพิษจะใช้บอกค่าเฉลี่ยรายวันของช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ใช่ค่าแบบเรียลไทม์อย่างที่เข้าใจ ในขณะที่บางแอพพลิเคชั่นใช้บอกค่าเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง

“ค่าในแอปพลิเคชั่นที่ขึ้นตัวเลขเล็กๆ 150 เป็นสีแดง ความหมายของ 150 สีแดงนั้นแปลว่า คุณจะต้องไปยืนอยุ่จุดนั้น 24 ชั่วโมง และจุดนั้นจะขึ้น 150 ตลอดเวลา คุณจึงจะเจอสีแดง นั่นคือความหมายของแอปพลิเคชั่น  ดังนั้นเราควรจะอ่านให้เข้าใจเสียก่อนว่าข้อมูลนั้นๆ มีความหมายอย่างไรก่อนที่จะตระหนกไปเสียก่อน” รศ.ดร.สิริมา กล่าว

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า