รู้ลึกกับจุฬาฯ

เข้าใจโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น

เหตุการณ์การฆ่าตัวตายของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย หลายรายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อสัปดาห์เศษๆ ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและปัญหาการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นในสังคมไทย งานจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 18 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา จึงใช้หัวข้อ “เข้าใจปัญหาเยาวชนกับภาวะซึมเศร้า” เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหาแนวทางคลี่คลายปัญหาผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักจิตวิทยา นักการศึกษา จิตแพทย์ และองค์กรอาสาสมัคร ร่วมเป็นวิทยากรบนเวทีเสวนาครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต อาจารย์สาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากรของงานเสวนาอธิบายว่า อาการเศร้าเป็นอารมณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นได้สำหรับมนุษย์ แต่กระบวนการฟื้นฟูจากอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หลายคนเมื่อเศร้าแล้วกลับมาสู่สภาพเดิมได้ แต่หลายคนมีอาการซึมเศร้าหนักขึ้น และกลายเป็นโรคซึมเศร้าตามมาในท้ายสุด

ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่ชี้ว่าอาการซึมเศร้าจะถูกกระตุ้นจากอาการเสียศูนย์จากปัจจัยต่างๆ เช่น การถูกประเมิน คะแนนสอบ เมื่อผิดหวังไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็จะเสียศูนย์ หรือแม้แต่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความรัก ความสัมพันธ์ และความรู้สึกผิด ก็ล้วนมีผลเช่นกัน

“แม้แต่คนที่เกิดอาการเสียศูนย์อย่างฉับพลันก็ไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีวิธีรับมือต่างกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ภายในตัวว่าจะทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นร้ายแรงแค่ไหน เนื่องจากคนแต่คนมีประสบการณ์ชีวิตต่างกัน มีรูปแบบความคิดต่างกัน มองโลกไม่เหมือนกันและเป็นเหตุให้การแสดงออกของแต่ละบุคคลต่างกันไปด้วย บุคคลที่มีอาการซึมเศร้าอาจมีพฤติกรรมบางประการที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุน ดังนั้นปัจจัยแวดล้อม เช่น ครู เพื่อน ครอบครัว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นที่พึ่งพิง”

ผศ.ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ หัวหน้าภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าในนักศึกษาพบว่า นักศึกษาที่เรียนชั้นปีสูง ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า และมีมากกว่าร้อยละ 6.4 ที่ฆ่าตัวตาย

งานวิจัยชี้อีกว่า ชีวิตของนักศึกษากว่า 50 เปอร์เซ็นต์เกี่ยวข้องกับการเรียนหนังสือ ดังนั้นครูอาจารย์จึงมีบทบาทสูงมากในความชอบหรือไม่ชอบในการเรียน ขณะเดียวกัน คนที่นักศึกษาขอรับความช่วยเหลือเป็นคนแรกคือเพื่อน ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตายมาจากปัญหาการทะเลาะกับคนใกล้ชิด รวมถึงปัญหาจากการเรียนหนังสือ

อาจารย์ปิยวรรณกล่าวว่า เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การสอบได้คะแนนไม่ตรงตามความคาดหวังคือตัวแปรที่ทำให้เด็กอาจเกิดการเสียศูนย์ เด็กที่สอบได้คะแนนดีมาตลอด แต่เมื่อได้คะแนนลดลงอาจเกิดอาการไม่คาดคิด จนเกิดเป็นความเศร้า ขณะเดียวกันเด็กที่สอบได้คะแนนไม่ดีมาตลอด ก็เห็นคุณค่าตัวเองน้อย ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กแต่ละคนจึงต้องมีความหลากหลาย

 ผศ.นพ.ณัฐทร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายในมุมมองของแพทย์ว่าโรคซึมเศร้ามีสเปกตรัมคือความรุนแรงของโรคตั้งแต่ในระดับที่น้อยไปจนถึงระดับที่มากจนต้องเข้ารับการรักษา ปัจจุบันพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน โรคซึมเศร้าก็ยังถูกมองว่าเป็นโรคจิต ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ต้องการไปพบแพทย์ และไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า

ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าจะมองโลกให้แง่ลบ มองในแง่สิ่งเลวร้าย และสามารถนำไปสู่ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย การรักษาจำเป็นต้องอาศัยการปรับวิธีคิด และการสร้างเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ให้กับผู้ป่วยผ่านวิธีต่างๆ พร้อมทั้ง การสร้างแนวทางให้กลับไปใช้ชีวิตได้ดังเดิม

“ในทางการแพทย์ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีภาวะที่เรียกว่าภาวะสิ้นยินดี คือไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่รู้สึกสนุกอะไรเลย กินไม่ได้ น้ำหนักลด นอนไม่หลับ เบลอๆ แต่ละคนมี อาการไม่เหมือนกัน หนักเบาต่างกัน วิธีการรักษาก็จะต่างกัน”

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีภาระโรคสูงสุดจากการตายก่อนวัยอันควรด้วยการฆ่าตัวตาย แต่ทุกวันนี้ยังถือว่าเป็นโรคที่จับต้องไม่ได้เพราะเป็นโรคน่าอาย

ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตทำเครื่องมืดคัดกรองและระบบพัฒนาเฝ้าระวังโรคซึมเศร้ามาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่ในระดับวัยรุ่นยังไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร เพราะไม่ถูกให้น้ำหนักเท่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ขณะเดียวกัน การแสดงออกของวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า ยังคงถูกมองว่าเป็นปัญหาพฤติกรรม ทำตัวเกเร มากกว่าที่จะถูกมองว่าเป็นโรค

พญ.ดุษฎี ยังระบุอีกว่าการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของนักศึกษาในสื่อที่มีการผลิตซ้ำและอธิบายถึงวิธีการกระทำ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เลียนแบบและทำให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงตาม ในทางกลับกันหากมีการนำเสนอในสื่อเมื่อมีข่าวคนฆ่าตัวตายถึงวิธีการแก้ไขปัญหาและการรับมือกับโรคซึมเศร้า พบว่าการฆ่าตัวตายของประชาชนจะลดลง

“การป้องกันการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นมี 4 แนวทาง 1.การสร้างทักษะชีวิต วัยรุ่นต้องมองโลกตามความเป็นจริง จัดการอารมณ์และสังคมได้อย่างเหมาะสม 2.ไม่ผลิตข่าวซ้ำ 3.จำกัดวิธี เช่น เอาคนไปเฝ้าสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และ 4.มีระบบเฝ้าระวัง เป็นโจทย์ของโรงเรียนและสถานศึกษาในการหาวิธี” คุณหมอดุษฎีกล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า