รู้ลึกกับจุฬาฯ

ไขปัญหาสูตรคำนวณเลือกตั้ง 62

นับตั้งแต่วันเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จนล่วงเลยมาเดือนเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็เพิ่งจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อไป พร้อมกับตัวเลข ส.ส.จากพรรคเล็กกว่า 13 พรรคที่ได้เก้าอี้ในสภาเพียงเก้าอี้เดียว ซึ่งสามารถเข้าสภาได้จากสูตรคำนวณของ กกต. ทำให้สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มาจาก 27 พรรค ทำลายสถิติการมี ส.ส. จากพรรคการเมืองจำนวนมากที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม มีความสำเร็จอยู่บ้าง คือการดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่จุดบกพร่องซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สืบเนื่องมาจนถึงขณะนี้คือความผิดพลาดในการบริหารจัดการ และการประกาศผลการเลือกตั้ง

ผลที่ตามมาอย่างที่ปรากฏกว้างขวางในโลกออนไลน์คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ของ กกต. ประชาชนขาดความเชื่อมั่น และไม่ไว้วางใจต่อการเลือกตั้ง รวมถึงผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา

“จุดบกพร่องมีเยอะ ตั้งแต่การนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งไม่มีมาตรฐาน บัตรเสีย บัตรดี ใช้เกณฑ์อะไรทำไมถึงไม่เหมือนกัน แสดงให้เห็นชัดว่าขาดการฝึกอบรมกรรมการประจำหน่วย การนับเองก็มีความคลาดเคลื่อนของข้อมูล ประชาชนสงสัยว่าถ้านับใหม่คะแนนเหมือนเดิมไหม ยังไม่รวมถึงกรณีบัตรเสียที่ส่งมาจากการเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศนิวซีแลนด์ ทั้งหมดนี้สะท้อนชัดว่า กกต. ไม่เข้าใจการจัดการการเลือกตั้งเลย”

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการประกาศจำนวนคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65 เป็นร้อยละ 75 รวมถึงกรณีบัตรเขย่งที่มีการกล่าวอ้าง ก็สะท้อนได้ชัดเจน ว่า กกต.ไม่เข้าใจตัวเลขการเลือกตั้ง ทำให้การรายงานผลที่ออกมามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ขณะที่สูตรคำนวณเก้าอี้ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ขยายความไม่พึงพอใจของสาธารณชนต่อ กกต. เนื่องจากทาง กกต. ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยปัญหานี้ว่าการใช้สูตรนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อ กกต. จึงยิ่งลดลงเข้าไปอีก

อาจารย์สิริพรรณระบุว่า ท่าทีของ กกต. เป็นการสะท้อนว่าต้องการโยนเผือกร้อนให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยเหลือ แต่ศาลกลับวินิจฉัยว่า กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ดังนั้น กกต. จึงมีหน้าที่อธิบายตามขั้นตอนของกฎหมายให้สาธารณะเข้าใจด้วย

“กกต.ชุดนี้สอบตกในเรื่องการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจอย่างรุนแรง เรื่องสูตรการคำนวณทำไมถึงไม่ชี้แจง ก่อนการเลือกตั้งให้ชัดเจน พอมาวันที่ 8 พฤษภาคมมาประกาศมีพรรคเล็กๆ ได้ที่นั่ง 1 ที่นั่ง คนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงได้ เป็นการบั่นทอนสถาบันการเลือกตั้งในอนาคต ประชาชนยิ่งสูญเสียความหวังต่อการเลือกตั้ง”

อาจารย์สิริพรรณกล่าวว่า ปัญหาของระบบเลือกตั้ง แบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้นี้เห็นได้ชัดเจนว่ามีผลเสียตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ กกต.อาจจะมีความผิดในแง่ของการบริหารจัดการและการสื่อสารต่อประชาชน แต่ตัวคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ควรออกมารับผิดชอบ ต่อกรณีนี้ด้วย โดยเฉพาะการใช้สูตรคำนวณที่ทำให้เกิดข้อถกเถียง และไม่สะท้อนต่อความต้องการของประชาชน ถึงแม้ว่า กรธ.จะระบุว่าคะแนนเสียงจะสะท้อน เจตนารมณ์ของประชาชนอย่างที่อ้างไว้ตั้งแต่ทีแรกก็ตาม

“ตัวสูตรมันนิ่งอยู่แล้ว แต่วลีที่เขียนในกฎหมายมันไม่ชัดเจน กรธ.มีการใช้วลีว่าให้จัดสรรกับพรรคที่ ส.ส.ต่ำกว่าจำนวนที่พรรคจะพึงมี แต่ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส.พึงมีได้ ผลปรากฏว่ารัฐธรรมนูญไม่ให้ปัดเลขทศนิยม แต่ให้เกลี่ยให้พรรคเล็กจนครบ 150 ที่นั่ง แม้ว่าจะได้คะแนนไม่ถึง 70,000 เรียกระบบ Loser Bonus System (ให้รางวัลกับพรรคที่ได้เสียงน้อย) เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ ส.ส.จะไม่ถึง 150”

กรณีนี้จึงเรียกได้ว่า กฎหมายที่ระบุไว้ไม่ครอบคลุมไปถึงการกำหนดสูตร ทำให้มีความสับสน ไม่ชัดเจนมิหนำซ้ำ ตัว กกต.เองก็ไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนว่านำสูตรมาใช้อย่างไร ไม่มีการยกตัวอย่างในประกาศของ กกต. ตั้งแต่แรก สะท้อนถึงการไม่มีวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร และนำมาซึ่งความสูญเสียวิกฤติศรัทธาต่อประชาชน

ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลต่อสภาพการเมืองไทย ในแง่ของระบบที่เน้นหัวหน้าพรรคมากกว่านโยบายของแต่ละพรรค และการปรากฏตัวของพรรคเล็กๆ จนเกิดกรณีพรรคงูเห่า การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยากและขาดเสถียรภาพอย่างชัดเจน

“การกอบกู้ศรัทธาของ กกต. อยู่ที่การประพฤติตัวต่อจากนี้ ตามจริงการเปิดเผยคะแนนดิบสามารถกอบกู้ศรัทธาได้บ้าง ไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้ามกระทำ แต่ถ้าประกาศไปแล้วไม่ตรงกับความเป็นจริงตอนนี้ กกต.จะยิ่งเละกว่าเดิม และต้องระมัดระวังมากๆ ต่อการให้ใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม ใบดำพรรคการเมืองต่อจากนี้ด้วย ประชาชนเขารู้หมดนะ” อาจารย์สิริพรรณกล่าวทิ้งท้าย

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า