รู้ลึกกับจุฬาฯ

“ดีล” การเมืองกับทิศทางของประเทศไทย

นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง จนถึงวันเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 การเมืองไทยยังคงเข้มข้นและยากต่อการคาดเดา โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องอาศัยการต่อรองกับพรรคที่จะเข้ามาร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่

พรรคหนึ่งที่ระบุว่ายังไม่ให้คำตอบชัดเจนว่าจะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้เก้าอี้สภากว่า 52 ที่ ล่าสุดแม้จะมีข่าวจากพรรคว่า วันที่ 4 มิถุนายน พรรคจะลงมติว่าจะขอเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ หลังจากที่มีเทียบเชิญมาตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคภูมิใจไทยที่เข้าร่วมฝ่าย พปชร. ไปตั้งแต่ทีแรกแล้วมีสถานะสำคัญ เพราะทั้งสองพรรคมี ส.ส. กว่า 50 ที่ หาก พปชร.มุ่งเป้าที่จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรหรือ 250 ตำแหน่ง เพื่อความชอบธรรมทางการเมือง ก็ต้องการ ส.ส.ทั้งสองพรรคร่วมกันทั้งหมด แต่หาก พปชร. ไม่พุ่งมาที่เป้านี้ ทั้งสองพรรคก็จะไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ

หากได้ ส.ส. ไม่ถึง 250 ก็ต้องอาศัยเสียงในวุฒิสภามากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องได้เสียง 376 เสียงของสองสภารวมกัน ซึ่งถ้าหากอาศัยเสียงในวุฒิสภามาจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็จะสุ่มเสี่ยงต่อภาพลักษณ์ของวุฒิสภา ที่ถูกคัดเลือกมาจาก คสช. เป็นภาพของการสืบทอดอำนาจชัดเจน

“แต่พรรคภูมิใจไทย แกนบริหารพรรคมีอำนาจเด็ดขาด ต่างกับประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคที่มีความเป็นอิสระสูง ไม่ได้ถือว่าเป็นพรรคของใครหรือกลุ่มบุคคลใด ภาพลักษณ์ของพรรคนี้มีมานานแล้ว สมัยของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยุคก่อน 6 ตุลา หัวหน้าพรรคได้ชื่อว่าฤาษีเลี้ยงลิง ส.ส. ในพรรคอยู่ไม่สุข ควบคุมยาก ความไม่ลงรอยในพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้ ทางพรรคพยายามที่จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ โดยการสร้างความอึมครึมไม่ชัดเจนว่าจะร่วมไหม ร่วมเท่าไหร่ ร่วมทั้งหมดหรือไม่ เพราะถ้าร่วมหมด พปชร. ก็ได้เกิน 250 ถ้าร่วมไม่หมด ก็ไม่ถึง 250”

ความอึมครึมทำให้ พปชร. คาดการณ์ได้ยาก และหาก พปชร. ต้องการให้ได้เสียงเกินครึ่งของสภาฯ ก็จะต้องง้อ ปชป. มากขึ้น จากความอึมครึมนี้ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในตอนนี้จึงสำคัญ เพราะเป็นตัวแปรกำหนดผู้ที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่ขณะเดียวกัน พรรคเองก็ต้องหาหนทางอยู่รอดและสร้างภาพลักษณ์ที่กอบกู้คะแนนเสียงกลับคืนมา

ศ.ดร.ไชยันต์ชี้ว่า ทิศทางของการเมืองไทยที่จะเกิดขึ้นมีความเป็นไปได้หลายทาง กรณีแรกคือหากประชาธิปัตย์เข้าร่วม พปชร. จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่ก็ขาดเสถียรภาพอย่างชัดเจนเพราะมาจากพรรคจำนวนมากจัดตั้งรัฐบาล

กรณีถัดมาพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมกับ พปชร.แค่บางส่วน หรือไม่เข้าร่วมเลย จะทำให้พรรค พปชร. เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และหากมี ส.ว. สนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลก็อาจถูกประชาชนประท้วงเพราะมีการสืบทอดอำนาจ และเสี่ยงต่อการถูกยุบสภาได้โดยง่าย

หรืออาจไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ก็เป็นได้ เนื่องจากวุฒิสภาเลือกใช้วิธีตัดสินใจไม่ลงคะแนนเสียงแก่พรรคใดๆ เลย ได้คะแนนไม่ถึง 376 ที่ จึงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้พลเอกประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการณ์อยู่

“กรณีแรกคือข่าวงูเห่าที่เราเห็น รวมถึงพรรคร่วม พปชร. ที่ขอข้อต่อรองเยอะแยะเต็มไปหมด แบ่งโควต้า แย่งเก้าอี้รัฐมนตรี บางทีอาจจะตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะเสียงไม่พอ ขอเจรจา กันไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดด้วยว่าต้องเลือกนายกภายในกี่วัน ผิดจากฉบับอื่นๆ ยืดเวลาไปได้โดยที่สภายังอยู่ และมีรัฐบาล คสช. รักษาการณ์ ในเมืองนอกประเทศเบลเยี่ยมมีพรรคเล็กเยอะมาก ในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2010  พรรคต่างๆได้คะแนนเสียงไม่เกิน 20 % ใช้เวลาเจรจาเกือบสองปีกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ แต่เขาไม่มีปัญหาเพราะรัฐบาลรักษาการณ์ไม่ได้มาจากรัฐประหาร”

แต่รัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 ยังเปิดช่องทางให้มีการเสนอชื่อนายกฯ บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้เสนอไว้ตอนสมัครรับเลือกตั้งได้ การจะไปเส้นทางนี้จะต้องมาจากการริเริ่มของ ส.ส. โดยหา ส.ส. ให้ได้ 250 แล้วนำไปให้วุฒิสภา และวุฒิสภาก็จะเปิดประชุมร่วมสองสภาในญัตติที่จะให้มีการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชี แต่ญัตตินี้จะผ่านก็ต่อเมื่อที่ประชุมร่วมสองสภาที่มี 750 คน ลงคะแนนเห็นด้วยเป็นจำนวนสองในสาม นั่นคือ 500 เสียง ถ้าผ่าน เรื่องก็จะกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร

เพราะรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้เฉพาะ ส.ส. เท่านั้นที่จะเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ แต่จะต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส. อย่างน้อย 25 คนขึ้นไปและจะต้องได้รับความเห็นด้วยเป็นจำนวนรวม 50 เสียง  เมื่อเรื่องกลับมาที่สภาผู้แทนฯ แต่คราวนี้เปิดกว้าง สามารถเสนอชื่อคนนอกบัญชีเป็นนายกฯได้ (หรือจะเสนอชื่อคนในบัญชีอีกทีก็ยังได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม) และถ้าใครที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้เสียงสนับสนุน 376  คนนั้นก็จะได้เป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาลต่อไป

แต่ถ้าญัตตินี้ขอให้มีการเสนอชื่อคนนอกบัญชีไม่ผ่านคือ ไม่ได้เสียงเกิน 500  ก็ดูจะเข้าทางตัน หรือแม้ว่าผ่าน แต่เมื่อมาลงคะแนนเลือกตัวนายกฯ ยังได้ไม่ถึง 376  เพราะสองสภาเห็นไม่ตรงกันกับชื่อของคนที่จะเป็นนายกฯ ก็เข้าทางตันอีกเหมือนกัน

ทางออกสุดท้ายที่อาจจะเกิดขึ้นคือสภาพติดล็อกทางการเมือง ไม่สามารถตั้งนายกรัฐมนตรีได้ เป็นทางตันทางการเมือง ซึ่งมีมาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญ 60 ระบุว่าให้กลับไปใช้ประเพณีการปกครอง ซึ่งของไทยคือการเห็นพ้องของ ส.ส. และ ส.ว. คือการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลปรองดองและจัดตั้งนายกฯ คนนอกที่ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งอาจารย์ไชยันต์ได้เสนอชื่อบุคคลระดับ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อานันท์ ปันยารชุน หรือ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็นบุคคลที่น่าจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ไชยันต์ชี้ว่าหากเกิดในกรณีต้องอาศัยมาตรา 5 การดำเนินการที่จะเกิดขึ้นในลำดับถัดไปน่าจะเกิดขึ้นหลังเดือนตุลาคม ซึ่งจะเป็นเดือนที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย โดยพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนการพยุหยาตราชลมารค

“ได้รัฐบาลก่อนก็อาจจะได้ เช่น ร่วมรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ก็อาจได้ขึ้นโดยเร็ว แต่ถ้าไม่ได้ ก็คงต้องเป็นหลังเดือนตุลาว่าจะเป็นอย่างไร ว่ากันใหม่”

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า