รู้ลึกกับจุฬาฯ

วิกฤติน้ำมันกับอนาคตพลังงานไทย

เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ฝูงโดรนโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันในประเทศซาอุดิอาระเบีย 2 แห่ง คือโรงกลั่นน้ำมันอับไคก์ โรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทซาอุดิอาระเบีย และอีกแห่งคือการโจมตีบ่อน้ำมันในเมืองคูไรส์ ซึ่งเป็นบ่อขุดเจาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ

เหตุโจมตีดังกล่าวทำให้เกิดเพลิงไหม้รุนแรง ทำให้ต้องหยุดการผลิตน้ำมันลงชั่วคราว และมีการคาดคะเนว่าแรงจูงใจเริ่มต้นน่าจะมาจากความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ผลที่สืบเนื่องตามมาก็คือ กำลังการผลิตน้ำมันของโลกลดลง และราคาก็ปรับตัวสูงขึ้น ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน ทางซาอุดิอาระเบียก็ออกมาชี้แจงและรับประกันว่ายังมีน้ำมันสำรองในคลังอยู่ สามารถกลับมาเร่งผลิตได้เท่าเดิมในไม่กี่สัปดาห์ การแถลงข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

ต่อกรณีดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จงผาติวุฒิ จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์บ่อน้ำมันซาอุฯ ถูกโจมตี ราคาน้ำมันอยู่ที่ราวๆ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่หลังจากเกิดเหตุโจมตีผ่านไปได้ 2 วัน ราคาก็พุ่งไปอยู่ที่ 69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

“ราคาน้ำมันขึ้นอยู่กับอะไร อันดับแรกก็เรื่องเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ คืออุปสงค์กับอุปทาน ยิ่งถ้าเศรษฐกิจขยายตัวมาก แต่ละประเทศต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ทำให้ใช้พลังงานเยอะ ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูง ในทางตรงข้าม ฝั่งอุปทานก็มีกลุ่มประเทศผลิตน้ำมันรายใหญ่หรือ OPEC ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตและจำนวนน้ำมันคงคลังเป็นผู้ควบคุม”

อาจารย์ศิริพรระบุอีกว่า ปัจจัยอื่นๆ ที่ยังส่งผลต่อราคาน้ำมันคือปัญหาจากภัยพิบัติ สงคราม หรือแม้แต่ปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลต่อการผลิต นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนก็มีผลต่อราคาน้ำมันเช่นกัน

สถานการณ์วิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้น สะท้อนความไม่แน่นอนอย่างสูง โดยเฉพาะประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน เนื่องจากการขนส่งน้ำมันโลกกว่าร้อยละ 20 จากดินแดนตะวันออกกลาง ต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซของอิหร่าน หากถูกปิดก็จะไม่สามารถส่งน้ำมันได้ และยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองนี้จะจบลงเมื่อใด

“ตอนนี้ซาอุฯ เกิดปัญหา ประเทศที่เดือดร้อนหนักๆ คือจีนกับเกาหลีใต้เพราะเป็นลูกค้ารายใหญ่ แต่จีนประกาศแล้วว่าตอนนี้ตัวเองมีน้ำมันสำรองอยู่ 325 ล้านบาร์เรล สามารถใช้ได้นานราว 33 วัน ส่วนเกาหลีมีสำรองใช้ได้ประมาณ 90 วัน การถูกโจมตีในซาอุฯ 2 แห่ง คิดเป็นน้ำมันโลกหายไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราว 5 เปอร์เซ็นต์จากทั้งโลกซึ่งใช้ราวๆ 120 ล้านบาร์เรลต่อวัน”

สำหรับกรณีของประเทศไทย ภาครัฐกำหนดว่าต้องมีการสำรองพลังงานไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6  ของการผลิตทั้งปี หรือราว 20 วัน และหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กระทรวงพลังงานได้ออกมาแถลงยืนยันว่าไทยมีแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีสำรองน้ำมันทางกฎหมายและการค้ารวมได้ถึง 54 วัน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาในระยะสั้น

ทั้งนี้ อาจารย์ศิริพรอธิบายเพิ่มเติมว่า ไทยใช้ปริมาณน้ำมันวันละ 1 ล้านบาร์เรล มีการนำเข้าน้ำมันกว่าร้อยละ 88 โดยแบ่งเป็นประเทศจากในกลุ่มตะวันออกกลางกว่าร้อยละ 61 ตะวันออกไกลหรือมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย อีกร้อยละ 14 ที่เหลือจากประเทศอื่นๆ และมีการผลิตเองจากแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยกว่าร้อยละ 12

“ไทยเน้นการสั่งซื้อน้ำมันจากหลายๆ แห่ง ไม่พึ่งพาที่ใดที่หนึ่งอย่างเดียว เพราะหากเกิดปัญหาแล้วจะส่งผลกระทบสูง ถ้าที่หนึ่งมีปัญหาก็ไปซื้อที่อื่นได้ สิ่งที่แตกต่างกันคือน้ำมันของแต่ละประเทศซึ่งเป็นน้ำมันดิบมีความแตกต่างกัน บางที่ดีเซลเยอะ บางที่เบนซินเยอะ โรงกลั่นก็จะต้องทำงานเยอะหน่อยในช่วงนี้”

อาจารย์ศิริพรยังระบุอีกว่าวิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบันคือการปรับตัวและแก้ไขสถานการณ์ ทำให้มีการพูดคุยถึงพลังงานทางเลือกซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตได้เองโดยไม่ต้องนำเข้า โดยรัฐบาลเองก็มีนโยบาย (Bio Circular Green Economy) หรือ BCG เป็นการบูรณาการเศรษฐกิจการใช้ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเข้าด้วยกัน

“BCG เป็นทางเลือกหนึ่งที่เราสามารถทำได้ เราปลูกพืชพลังงานเองได้ และนำมาทำเป็นน้ำมันได้ แต่ตอนนี้ราคายังสูงกว่าน้ำมันดิบ 2-3 เท่า ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่อ ถ้าหากราคาถูกลงกว่านี้ เชื่อว่าเราไปต่อได้แน่นอน” อาจารย์ศิริพรกล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า