รู้ลึกกับจุฬาฯ

สื่อไทยกับข่าวกลุ่มเปราะบาง

การรายงานข่าวในสื่อของสังคมไทยถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งถึงความเหมาะสมและการให้เกียรติผู้ที่อยู่ในข่าว โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวที่เชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชน ที่มีการเขียนข่าวและสร้างภาพตัวแทนทั้งในเชิงบวกและลบ

คำถามนี้ได้กลายมาเป็นหัวข้อโครงการศึกษาวิจัย “สื่อไทยกับการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง” โดย อ.ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้จัดงานเสวนาขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา

“การศึกษาเน้นข่าวที่รายงานเกี่ยวกับกลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้พิการ บุคคลที่มีหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้สูงอายุ ซึ่งถูกเลือกปฏิบัติเพราะอคติต่อสภาพร่างกาย เพศสภาพ เชื้อชาติ และแม้แต่ความชรา” อ.อลงกรณ์ หัวหน้าโครงการกล่าว

ผลการสำรวจข่าวหนังสือพิมพ์กระแสหลักและสำนักข่าวออนไลน์ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม ในปี 2561 จาก 753 ข่าว พบว่าสื่อมีแนวโน้มการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางอย่างรอบคอบ แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดในการวางกรอบข่าวและการสร้างภาพตัวแทนที่คำนึงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางตามหลักคิดในปฏิญญาสากล และจริยธรรมวิชาชีพที่มีกำหนดไว้

“หลักสิทธิมนุษยชนคือการยึดหลักความเท่าเทียม การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานสื่อและจริยธรรมสื่อที่เน้นการปฏิบัติต่อทุกคนในสังคมด้วยความเท่าเทียมกัน” อ.อลงกรณ์ กล่าว

งานวิจัยยังพบว่าสื่อยังคงแสดงภาพกลุ่มเปราะบางแบบ “ผู้ที่พึ่งพิงสังคม” “ผู้รอรับประโยชน์จากรัฐ” มากกว่าจะเป็น “ผู้เรียกร้องให้แก้ปัญหา” “ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิต” ฯลฯ ซึ่งจะสามารถสะท้อนถึงการความเข้มแข็ง และความกระตือรือร้นของกลุ่มในการหาทางออกและส่งเสริม สิทธิมนุษยชน

“ยกตัวอย่างเช่น ข่าวผู้สูงอายุและคนพิการมักจะออกมาในแนวต้องการความช่วยเหลือ เป็นภาระพึ่งพิงของรัฐบาล ในขณะที่ภาพของบุคคลที่มีหลากหลายทางเพศและชาติพันธุ์มีการลุกออกมาเรียกร้องให้เข้าใจปัญหาและร่วมหาทางออก สะท้อนความต้องการและประเด็นอ่อนไหวของกลุ่มให้เห็นภาพชัดเจน” อ.อลงกรณ์ กล่าว

สาเหตุประการหนึ่งที่หนังสือพิมพ์บางฉบับไม่เลือกนำเสนอข่าวผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางในเชิงรุกอาจเป็นเพราะเกรงว่าอาจจะเป็นตั้งคำถามต่อรัฐบาล หรือถูกมองว่าเลือกข้างแทนกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางจึงนำไปสู่การนำเสนอเรื่องมิติสิทธิมนุษยชนที่เน้นไปที่มิติด้านสังคม คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและอาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและจับต้องได้

“แต่ข่าวที่เน้นมิติด้านการเมืองกับความเป็นพลเมืองมีค่อนข้างน้อย เพราะเป็นเรื่องสลับซับซ้อน สื่อต้องใช้เวลาทำความเข้าใจและติดตามอย่างจริงจัง จึงน่าสนใจที่จะคอยดูว่าในขณะนี้ที่เรื่องสิทธิมนุษยชนได้รับความสำคัญจากประชาคมโลกเพิ่มมากขึ้น สื่อไทยจะพัฒนาแนวทางการสื่อข่าวด้านสิทธิต่างๆ ที่มีความผูกโยงเกี่ยวข้องกันทุกมิติในทิศทางใด” อ.อลงกรณ์ ตั้งข้อสังเกต

อย่างไรก็ตาม การวิจัยยังคงพบข่าวที่ใช้การพาดหัวข่าวที่สร้างภาพเหมารวม มีทิศทางเชิงลบต่อกลุ่มผู้สูงอายุ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ คิดเป็น 10% ในการรายงานข่าวทั่วไปอยู่บ้าง เพราะต้องการให้ข่าวมีความน่าตื่นเต้น เร้าใจ และน่าสนใจซึ่งเข้าข่ายการละเมิดสิทธิผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง

“สื่อควรจะตรวจสอบตัวเอง หรือรอให้ประชาชนคอยจับผิด สื่อควรปรับฐานคิดตัวเองใหม่ ใส่คุณค่าคนลงไป ในข่าว ใช้ภาษาที่เคารพศักดิ์ศรี เน้นเนื้อหาด้านสิทธิมนุษยชน ได้หลากหลายมิติ ใช้แหล่งข่าวหลากหลายมากกว่าพึ่งข้อมูล จากทางรัฐเพื่อให้ได้เสียงสะท้อนของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางเพิ่มมากขึ้นด้วย”

ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันดิจิทัลอาเซียน หนึ่งในวิทยากรงานเสวนา อธิบายว่า แม้ว่าสื่อไทยปัจจุบันมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการนำเสนอข่าวมีการพัฒนามากขึ้น แต่ก็ยังเห็นข้อผิดพลาดอยู่บ้างจึงจำเป็นต้องพึ่งพลังภาคประชาชนในการส่งเสียงสะท้อนเพื่อปกป้องสิทธิของทุกคนในสังคม

“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีโซเชียลมีเดียคอยจับผิดและคอยปรับเปลี่ยนแนวคิดของคนในสังคมให้เคารพศักดิ์ศรีคนอื่น แต่ก็ใช้ได้หมดกับทุกกลุ่ม ทุกวันนี้ใครทำละครจำเลยรัก พระเอกตบจูบนางเอก โดนด่าแน่นอน แสดงว่าสังคมไทยมีแนวคิดเปลี่ยนไปแล้ว สื่อเองก็ต้องปรับตัวให้ทัน อย่าตกร่อง” สุภิญญากล่าว

เนาวรัตน์ เสือสอาด จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และคณะทำงานพิจารณารับเรื่องร้องเรียนของสภาการหนังสือพิมพ์ ระบุว่าแอมเนสตี้เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนและสร้างความตระหนักด้านสิทธิแก่สังคม แต่ส่วนหนึ่งของการทำงานที่ยังพบอยู่คือการรายงานข่าวโดยเฉพาะข่าวอาชญากรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

“อยากฝากว่าผู้สื่อข่าวลองเอามุมมองตัวเองลงไปใส่ในข่าวว่า ถ้าหากเป็นลูกเรา ญาติเรา พ่อแม่ พี่น้องเรา คนที่เรารักต้องตกเป็นข่าว แล้วเราจะนำเสนอข่าวแบบนี้หรือไม่ อย่างไร” เนาวรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

สังคมไทยมีความเป็นพหุวัฒนธรรม จึงจำเป็นที่จะหาวิธีการที่จะสื่อสารเรื่องความหลากหลายในสังคมอย่างไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางเพื่อหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อที่จะสามารถนำเสนอเรื่องสิทธิมนุษยชนในแบบเชิงรุกและก้าวหน้ามากขึ้น

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า