รู้ลึกกับจุฬาฯ

ลดฝุ่น PM2.5 ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน 

อากาศขมุกขมัวตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาในกรุงเทพมหานคร สร้างความไม่สบายอกสบายใจให้แก่ชาว กทม. ประชาชนหลายคนต้องใช้ผ้าปิดจมูกป้องกันฝุ่นละอองในอากาศเมื่อต้องออกจากบ้าน ขณะเดียวกัน ภาครัฐและเอกชน ก็มีการรายงานถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในครั้งนี้ ซึ่งเกิดจากฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของศูนย์เครือข่ายการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย (TAQM) ฝุ่น PM 2.5 (Particulate Matter less than 2.5 micron) หมายถึง อนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งแฝงตัวอยู่ในอากาศ เล็กกว่าเส้นผม 20 เท่า และมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น

PM 2.5 เกิดจากการกิจกรรมต่างๆ ทั้งทางธรรมชาติ เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ และเกิดจากกิจกรรมมนุษย์ ทั้งการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์ อุตสาหกรรมต่างๆ จากการเผาไหม้ในที่โล่ง และด้วยขนาดที่เล็กมากดังกล่าว ทำให้มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง

อากาศขมุกขมัวหลายวันใน กทม. เป็นสัญญาณสำคัญว่าขณะนี้ กรุงเทพฯ มีฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ซึ่ง รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สาเหตุของปัญหานี้มีปัจจัยหลายประการประกอบกัน

“ปีที่แล้วก็มีฝุ่นขนาดนี้ แต่มันไม่ได้อยู่นานหลายวันเหมือนครั้งนี้ เพราะด้วยสภาพอากาศที่นิ่งไม่มี ลมพัด เลยทำให้ฝุ่นสะสมในกทม.นานขึ้น และ ทุกวันนี้ คนกทม.ใช้รถกันมากขึ้น รถใหม่ถ้าบำรุงรักษาดีก็ส่งผลกระทบน้อย แต่ถ้าเป็นรถเก่าก็จะปล่อยฝุ่นมากขึ้น”

อาจารย์ศิริมาระบุว่า ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ต้องมีหลายภาคส่วนมาร่วมมือกัน อย่างหน่วยงานรัฐที่มีความพยายามผลักดันระบบรางและการขนส่งสาธารณะ ก็ถือว่าเป็นการลดมลพิษที่ต้นทาง รูปแบบหนึ่ง

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ตระหนักถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals ซึ่งข้อหนึ่งของ SDGs ระบุว่า ทุกคนต้องได้รับอากาศบริสุทธิ์ ปัญหาอากาศจึงเป็นเรื่องของทั้งประเทศ ในภาพรวมทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการแก้ไข การจัดการปัญหาคุณภาพอากาศ และต้องตระหนักถึงการสร้างความสมดุลของสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ให้เกิดความมั่นคง และความยั่งยืน” ปัจจุบัน กฎหมายมลพิษทางอากาศของไทย ยังไม่ได้รวม PM 2.5 อยู่ในดัชนีคุณภาพอากาศ ทำให้ตัวเลขที่ปรากฏในช่วงอากาศขมุกขมัว อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ ควรทำความเข้าใจด้วยว่าปัจจุบัน สถานีตรวจวัด PM 2.5 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเพียง 4-5 สถานีเท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมพื้นที่ของ กทม.

อาจารย์ศิริมาระบุว่า การตรวจวัดมลพิษเพื่อทราบค่าความเข้มข้น รวมถึงการทราบแหล่งกำเนิดเป็นสิ่งสำคัญ ขณะนี้ทางกรมควบคุมมลพิษ ก็มีความพยายามจัดหาเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น และเมื่อใช้เครื่องตรวจวัดฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากขึ้นก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

“คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เองก็มีการออกแบบเครื่องเซ็นเซอร์ตรวจวัด PM 2.5 เห็นค่ามลพิษบน มือถือ ซึ่งมีราคาถูก แต่ค่าที่ได้จากเซ็นเซอร์กับค่า ของกรมควบคุมมลพิษไม่เหมือนกัน เพราะของเครื่องตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษเป็นแบบมีมาตรฐานซึ่งมีราคาแพง ดังนั้นการใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดทำให้ประหยัดต้นทุนของส่วนงานตรวจติดตาม แต่ไม่สามารถใช้รายงานตามกฎหมาย ประโยชน์ของเซ็นเซอร์นั้น เน้นในการเฝ้าระวัง”

อาจารย์ศิริมาให้คำแนะนำว่าช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นในอากาศยังคงย่ำแย่ ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง เช่น บริเวณการจราจรหนาแน่น แหล่งอุตสาหกรรม บริเวณการเผาในที่โล่ง แต่หากต้องออกนอกบ้านก็ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นชนิด N95 หรือหน้ากากป้องกันที่ระบุขนาดช่องว่างน้อยกว่า 0.3 ไมครอน ซึ่งกรอง PM2.5 ได้

แต่ในระยะยาว การแก้ปัญหาต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกฝ่าย มิใช่รอภาครัฐอย่างเดียวเป็นผู้จัดการ เพราะภาครัฐเองก็มีข้อจำกัดบางประการ เช่น งบประมาณ หรือเวลา ดังนั้น หากลดการปล่อยฝุ่นได้ด้วยตนเองทำได้ก็ควรทำ ปัจจุบัน ประชาชนหลายคนมีความรู้ความเข้าใจสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น หลายคนไม่ทำการเผาในที่โล่ง รวมทั้งการเดินทางสัญจรก็หันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดีย ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้ไกล ประชาชนก็ยิ่งมีความตื่นรู้มากขึ้น

“ขอเสริมว่าประชาชนควรตระหนักถึงแหล่งที่มา ของข้อมูล  ว่าได้มาจากการตรวจวัดด้วยวิธีที่เป็นมาตรฐาน เชื่อถือได้ หรือเป็นข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวัง ส่วนภาครัฐ ดิฉันขอฝากไว้ว่าการทำงานให้ครบทุกภาคส่วนต้องมีการส่งนโยบายไปถึงระดับท้องถิ่น แต่ต้องเป็นนโยบายที่มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติและประเมินประสิทธิภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้การ บูรณาการเพื่อการแก้ไขปัญหาร่วมกันเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อาจารย์ศิริมากล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า