รู้ลึกกับจุฬาฯ

ถอดบทเรียนรับมือไต้ฝุ่นฮากิบิส

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส ซึ่งเป็นพายุลูกใหญ่ที่สุดลูกหนึ่งในประวัติศาสตร์พัดถล่มเข้าประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11-12 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังพายุผ่านพ้นไป มีรายงานความเสียหายราว 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจำนวนผู้เสียชีวิตเกือบ 80 ราย

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ข่าวไทยและต่างประเทศต่างพากันนำเสนอคือการเตรียมพร้อมรับมือ และมาตรการต่างๆ ในการรับมือกับเหตุการณ์นี้ของภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่น ซึ่งสามารถลดความสูญเสียได้อย่างมหาศาล

อาจารย์ ดร.เจษฎา ศาลาทอง จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าความสำเร็จในการรับมือภัยพิบัติของประเทศญี่ปุ่นมาจากปัจจัย 2 อย่าง คือการบริหารจัดการ และการปลูกฝัง ค่านิยมในการรับมือกับภัยพิบัติของคนญี่ปุ่น

เมื่อถึงเวลาเกิดภัยพิบัติขึ้นในประเทศญี่ปุ่นจะใช้การสั่งการที่เป็นระบบมาจากส่วนกลาง โดยเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงจะสวมชุดสีฟ้าเป็นทีมเพื่อเตือนภัยภาวะฉุกเฉิน และมีระบบเตือนภัยที่ทำเป็นระบบ ให้ประชาชนเข้าใจง่าย

“เขาจะแบ่งระดับเป็น 5 ระดับเตือนภัย สีขาว ไปจนถึงม่วงเข้ม ตามความรุนแรง ซึ่งจะบอกไว้ว่าอยู่ระดับนี้ต้องทำอย่างไร เช่น ถ้าอยู่ระดับ 1 ต้องเตรียมตัวอย่างนี้ที่บ้านแล้วนะ ถ้าอยู่ระดับ 4 ก็ต้องเริ่มอพยพแล้วนะ โดยมีแผนที่ทั่วประเทศบอกชัดเจน และอัพเดตตลอดเวลา”

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือวินัยของคนในชาติ เนื่องจากคนญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาให้รับมือกับภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ก่อนมีภัยพิบัติ ระหว่างมีภัยพิบัติ จนกระทั่งถึงหลังจากภัยพิบัติจบไปแล้ว

“คนญี่ปุ่นมี Life Skill ในการรับมือกับภัยพิบัติสูงมาก เขาจะได้รับการปลูกฝัง มาแล้วว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ต้องเตรียมอาหารกระป๋อง เตรียมน้ำ อย่างไร วิทยุ ไฟฉาย ต้องทำอย่างไร เคยซ้อมอพยพ ก็จะรู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร ทั้งนี้มันเกิดจากระบบการศึกษา ซึ่งโรงเรียนและครอบครัวสอนมาตั้งแต่ยังเด็ก”

อาจารย์เจษฎาชี้ว่า ภาพที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์มากภาพหนึ่งในช่วงเกิดเหตุพายุฮากิบิสคือภาพน้ำท่วมบนท้องถนนในญี่ปุ่น แต่กลับไม่มีขยะลอยน้ำให้เห็นเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ก็มีที่มาจากความมีวินัยของญี่ปุ่น

“เขาใส่ใจในทุกๆ รายละเอียด แม่น้ำคูคลองก็ขุดลอกเพื่อรับน้ำ ประชาชนก็ให้ความร่วมมือเอาขยะเก็บขึ้นไม่ให้วางอยู่บนถนน ขนาดสุนัขและแมวก็จัดการให้อยู่พื้นที่ปลอดภัย”

ขณะเดียวกัน สื่อเองก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ มีการให้ข้อมูลตามจริง ถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดความตระหนกแต่ทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมรับมือ

“ประชาชนคนญี่ปุ่นให้ความเชื่อมั่นกับข้อมูลภาครัฐดีมาก เขามองว่ารัฐไม่มีทางทำอะไรที่ไม่ดีแก่ประชาชน และเขาได้รับการปลูกฝัง หล่อหลอม ฝึกฝนมาดีมาก และเขาพร้อมที่จะทำตามกระบวนการเพื่อความปลอดภัย ไม่มีใครต่างเอาตัวรอดแต่พร้อมที่จะไปด้วยกัน”

อาจารย์เจษฎาระบุว่าประเทศไทยยังขาดการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพและการให้ข้อมูลที่เน้นสีสัน ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตระหนกมากกว่าการให้ข้อมูลเพื่อรับมือ และยังขาดตัวกลางให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการบูรณาการกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะในท้องถิ่น

“ประชาชนต้องได้ข้อมูลเพื่อเอามาทำแผนรับมือที่ใช้งานได้ ในที่นี้ท้องถิ่นเองก็ต้องรู้จักพื้นที่ในการจัดการ เช่น กรณีเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ จะต้องอพยพคนอย่างไร แต่ ณ ตอนนี้เรายังไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีการบูรณาการที่ชัดเจน ถ้าภัยพิบัติเกิดขึ้นตอนนี้ เราจะทำอย่างไรดี”

อาจารย์เจษฎายังระบุอีกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของสภาพอากาศโลกทำให้ภัยพิบัตินับจากนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นไม่ควรเอามาตรฐานในอดีตว่า “ไม่เคยเกิดขึ้น” หรือ “เอาอยู่” มาเป็นความประมาท และการไม่เตรียมพร้อมรับมือ

“มีนักวิจัยอากาศชี้ว่าพายุลูกต่อไปที่จะเกิดขึ้น ก็จะมีความแรงระดับฮากิบิส ดังนั้นอย่าเอาความเชื่อเดิมๆ ไปเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งภาครัฐและประชาชนอย่าคิดว่าเอาอยู่ แต่ต้องหาทางรับมือ และปรับตัวเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้โดยเร็ว”

“ณ ตอนนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่าถ้าหาก กทม. เจอน้ำท่วม หรือแม้แต่ภัยพิบัติอื่นๆ หรือการก่อการร้าย เราจะทำอย่างไร เราถือว่าสุ่มเสี่ยงมากๆ เพราะหากเจอเหตุการณ์ ที่สั่นคลอนรุนแรง แล้วปรับตัวสู่สภาพเดิมโดยเร็วไม่ได้ เราจะแย่ และประเทศจะขับเคลื่อนต่อไปได้ยาก เราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลง ทั้งเทคโนโลยีและการเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุ แต่ที่สำคัญกว่า คือการสร้างจิตสำนึกและความรู้ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ถ้านวัตกรรมเราดี แต่คนไทยไม่มีจิตสำนึก ก็ไม่ช่วยอะไร” อาจารย์เจษฎากล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า