รู้ลึกกับจุฬาฯ

ของขวัญจากรัฐบาลกับการไม่มีส่วนร่วมของประชาชน

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ครม.ลุงตู่ได้อนุมัติมาตรการรัฐบาลให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดยจำแนกออกเป็นของขวัญสำหรับประชาชนทั่วไป ของขวัญสำหรับผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ของขวัญสำหรับคนรักสุขภาพ และของขวัญสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งสิ้นถึง 85 โครงการ

ในด้านหนึ่งนับได้ว่าเป็นการให้ของขวัญที่ทั่วถึงและมีจำนวนมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งของขวัญทั้งหมดมีลักษณะที่เป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่ถูกรวบรวมมา และกระจัดกระจายอย่างไม่มียุทธศาสตร์ ทำให้คาดได้ว่า ครม.ลุงตู่น่าจะอยากมีการประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าตนเองกำลังจะทำอะไรเพื่อประชาชนบ้าง

พอเป้าหมายเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ครม.จึงได้รวบรวมภารกิจที่ถูกเสนอโดยกระทรวงต่างๆ มาก่อนหน้า และเป็นภารกิจที่แต่ละกระทรวงคาดว่าทำแล้วน่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ผลก็เลยออกมาอย่างที่เห็นว่าเป็นของขวัญชิ้นเล็กๆ ที่กระจัดกระจาย

หากย้อนกลับไปวันที่ 12 กันยายน 2557 ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ /2557 โดยมีวาระเร่งด่วนซึ่งคณะรัฐมนตรีนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 11 ด้าน เน้นยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่มุ่งวางรากฐานระยะยาวตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ ๙

หากจะเปรียบเทียบของขวัญที่รัฐบาลมอบให้ว่าน่าจะเข้ากับยุทธศาสตร์ด้านใดมากที่สุดก็คงเป็นไปได้ 2 ด้าน หนึ่งคือ นโยบายด้านที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ และสองคือ นโยบายด้านที่ 6 การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

นโยบายด้านที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม รัฐบาลระบุว่า “จะพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม ระบบการออมและระบบสวัสดิการชุมชนให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการดูแลให้มีระบบการกู้ยืมที่เป็นธรรมและการสงเคราะห์ผู้ยากไร้อัตภาพ พัฒนาศักยภาพ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิจัดสวัสดิการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรีและเด็ก เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และการมีเงินหรือกิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อสร้างสรรค์และไม่ก่อภาระต่อสังคมในอนาคต”

ขณะที่นโยบายด้านที่ 6 การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ “เน้นไปที่การวางรากฐานเพื่อความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง”  รวมถึง “การทบทวนภารกิจที่มีลักษณะไม่ยั่งยืนหรือสร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศเกินความจำเป็นและแสดงรายการลงทุนในระดับจังหวัดเพื่อความโปร่งใส เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ กระตุ้นการลงทุนด้วยการเร่งพิจารณาโครงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ”

ในคำแถลงของนโยบายทั้งสองด้านดังกล่าว รัฐบาลมุ่งหวังการปรับโครงสร้างระยะยาว และการปฏิรูปเพื่อความยั่งยืนเป็นหลัก โดยที่ให้ความสำคัญไม่มากนักกับการแก้ปัญหาระยะสั้น แม้จะมีข้อเสนอของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปเพียงเพื่อแก้ปัญหาในเวลานั้นเท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบของขวัญ 85 โครงการที่รัฐบาลมอบให้ประชาชน จะเห็นว่าแทบไม่มีความสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งเลย เพราะทั้งไม่มียุทธศาสตร์ในระยะยาว และมุ่งเน้นผลได้ระยะสั้น โดยไม่ได้ประเมินความยั่งยืนให้เห็นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดีในอีกหลายกระแสมีการวิเคราะห์ว่าเป็นนโยบายที่หวังผลการเลือกตั้งของ คสช. ที่คาดว่าจะเข้าสู่สนามการเมืองเร็วๆ นี้ แต่หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ยังนับได้ว่าเป็นนโยบายหาเสียงที่ไม่ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน

เนื่องจากการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อการหาเสียงของพรรคการเมือง จำเป็นต้องมีเล่ห์กลในการประชาสัมพันธ์ประกอบด้วย ทั้งนี้เพื่อให้คนสามารถจดจำได้เป็นเวลานาน หรือกล่าวขานถึงในวงกว้าง โดยที่แทบไม่จำเป็นต้องสนใจว่านโยบายนั้นประสบความสำเร็จเพียงใดด้วยซ้ำ

แต่มาตรการให้ของขวัญ 85 โครงการก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนจำอะไรได้ และไม่ได้ทำให้กล่าวขานถึงกันเท่าไหร่นัก

หากจะพิจารณาสถานการณ์นี้เป็น 2 ประเภท คือ รัฐบาลจะใช้นโยบายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จทางการเมือง และรัฐบาลจะใช้นโยบายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จทางสังคมตามที่ได้แถลงกับ สนช.ไว้ตอนที่เข้ารับตำแหน่ง จะมีประเด็นพิจารณาบางประการ

การใช้นโยบายให้เป็นประโยชน์กับการเลือกตั้งในฐานะของนโยบายทางการเมืองต้องมีองค์ประกอบเบื้องต้นอย่างน้อย 2 ประการ หนึ่งคือ รัฐบาลต้องทำการบ้านล่วงหน้าและเตรียมการอย่างหนักว่าอะไรคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ เพราะหากเป็นของขวัญที่ตรงความต้องการแล้ว ประชาชนจะกล่าวขาน ชื่นชม และพึงพอใจ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานกับภาคประชาชนโดยตรงมากกว่าการรวบรวมมาจากข้อเสนอของภาคราชการที่เป็นเพียงหน่วยงานที่ติดต่อกับภาคประชาชนแบบบนลงล่างเท่านั้น

อีกประการหนึ่งคือมาตรการต่างๆ ต้องไม่กระจัดกระจายมากเกินไป โดยเลือกเฉพาะที่โดนใจประชาชนและทุ่มไปในบางประเด็น หรือหากต้องการมีหลากหลายประเด็น ต้องใช้เวลาในการออกมาตรการให้ยาวออกไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความซาบซึ้งกับความรู้สึกและความจำได้ไม่ลืมของประชาชน

หากจะให้ดีกว่านั้น ถ้ารัฐบาลต้องการใช้นโยบายเพื่อผลประโยชน์ที่ชัดเจนและดีกว่าในระยะยาวตามที่แถลงไว้กับ สนช.นั้น ต้องการองค์ประกอบเบื้องต้นที่แตกต่างออกไปอีกอย่างน้อย 2 ประการ หนึ่งคือ ต้องเป็นการยกระดับโครงสร้างหรือเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันจากการลงทุนเพื่อผลตอบแทน ในระยะยาว และสองคือต้องมีความคุ้มค่าของการลงทุน โดยมีตัวชี้วัดและการประเมินผลที่ชัดเจน

จะเห็นได้ว่าจากองค์ประกอบทั้ง 2 ประการหลังแทบไม่ปรากฏให้เห็นในมาตรการทั้ง 85 โครงการเลย สะท้อนว่าแทบไม่เห็นความตั้งใจสร้างความเข้มแข็งในระยะยาวเหมือนที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันคือ การใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อให้ของขวัญแก่ประชาชนในคราวนี้แทบไม่มีการพูดถึงแนวทางดำเนินการที่ควรจะมีมาก่อน รวมถึงความคุ้มค่าและการประเมินผลลัพธ์ใดๆ เลย เท่ากับเป็นการสะท้อนว่าสังคมไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้เท่าที่ควร และกลายเป็นว่ารัฐบาลเป็นเจ้าของเงิน ซึ่งสามารถใช้จ่ายได้ตามที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงถึงความคุ้มค่าใดๆ และก็ไม่ได้เป็นที่ต้องการของประชาชนทั้งที่เจ้าของเงินที่แท้จริงคือประชาชนต่างหาก

การให้ของขวัญ 85 โครงการแก่ประชาชนครั้งนี้จึงนับได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่ “ระบอบการเมืองแบบไม่มีส่วนร่วม” อย่างสมบูรณ์

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า