รู้ลึกกับจุฬาฯ

รายการเล่าข่าวทีวีหลังหมด “สรยุทธ์”

หลังจากมีการตัดสินคดี “ไร่ส้ม” มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษาจำคุก นายสรยุทธ

สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการเล่าข่าวชื่อดังในคดีร่วมกันยักยอกเงิน ค่าโฆษณาเกินเวลามากกว่า 138 ล้านบาท

ล่าสุดมีรายงานว่า นายสรยุทธไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว แต่กำลังเร่งดำเนินการยื่นเรื่องไปยังศาล ฎีกาต่อคดีของนายสรยุทธอาจเรียกได้ว่าเป็นการ “ปิดตัว” คนในวงการข่าวไปหนึ่งราย แต่ที่ผ่านมา

นายสรยุทธถือว่าเป็นนักสื่อสารมวลชนที่มีคนติดตาม และมีอิทธิพลต่อวงการทีวีไทยมาตลอด ซึ่งตามทัศนะของ อ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เหตุการณ์สรยุทธคือบทพิสูจน์ว่า สื่อสามารถถูกตรวจสอบได้

“สิ่งที่เป็นบทเรียนสำหรับสื่อมวลชนจากคดีคุณสรยุทธคือ สถาบันสื่อต้องถูกตรวจสอบได้ ถึงคุณจะเป็นที่นิยมมากแค่ไหน แต่ถ้าคุณ ไม่โปร่งใส ไม่มีความรับผิดรับชอบ (account-ability) คุณก็ต้องถูกตรวจสอบ” อาจารย์พรรษาสิริกล่าว แต่ที่ข่าวนี้เป็นข่าวดังเพราะนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้มีอิทธิพลในวงการข่าว เป็นผู้เปลี่ยนแปลงการ “เล่าข่าว” ในแบบเดิมๆ

อาจารย์พรรษาสิริอธิบายว่า นายสรยุทธ เริ่มงานด้วยการเป็นนักข่าวการเมืองของหนังสือพิมพ์ ซึ่งวัฒนธรรมการทำข่าวการเมืองของหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นเน้นการสร้างสายสัมพันธ์กับแหล่งข่าวเพื่อหาข้อมูลเชิงลึก ไม่ต้องเร่งทำข่าวรายวันเหมือนข่าวโทรทัศน์ ทำให้มีทักษะการค้นหาและวิเคราะห์สถานการณ์ รวมทั้งทักษะการสัมภาษณ์แบบเกาะติด ประกอบกับมีบุคลิกส่วนตัวที่เป็นเอกลักษณ์  จึงสามารถนำเสนอข่าวได้อย่างน่าสนใจ

“คุณสรยุทธไม่ใช่อยู่ๆ ก็มาเป็นคนเล่าข่าวได้ เขามีต้นทุนมาก่อนหน้านั้น เป็นนักข่าวการเมืองที่สามารถวิเคราะห์ข่าวได้ มีความน่า เชื่อถือ ทีนี้พอมาทำรายการเล่าข่าวช่วงแรกกับคุณกนก เขามีลูกเล่น มีมุกส่งต่อรับลูกกัน จึงเป็นความแปลกใหม่ในการนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์”

อาจารย์พรรษาสิริระบุเพิ่มเติมว่า  ก่อนหน้าที่รายการเล่าข่าวทางโทรทัศน์จะได้รับความนิยม รายการข่าวทางโทรทัศน์มักมีความเป็นทางการสูง และมีการนำเสนอแบบเรียบๆ แต่เมื่อรายการเล่าข่าวทางโทรทัศน์ตามแบบฉบับของนายสรยุทธสร้างความแปลกใหม่และน่าสนใจ จนได้รับความนิยมจากผู้ชม จึงส่งผลให้แนวทางการนำเสนอข่าวโทรทัศน์ของช่องอื่นๆ เปลี่ยนไปด้วย

“พอรายการข่าวดูสนุก คนดูก็ชอบ เลยเป็นต้นแบบของรายการเล่าข่าวที่มีทุกวันนี้ ที่ผู้ดำเนินรายการเล่าข่าวต้องใช้ภาษาแบบถึงลูกถึงคน ต้องใส่อารมณ์และความคิดเห็นส่วนตัว เพื่อให้มีสีสัน ส่วนเรื่อง

การสัมภาษณ์คนในข่าว คุณสรยุทธก็เป็นคนวางรูปแบบต้องมีท่าทีที่ดุดัน  ถึงลูกถึงคน ทำให้คนที่ถูกสัมภาษณ์ต้องตอบ เลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ถูกวิพากษ์ไม่น้อยว่าไม่ให้เกียรติแหล่งข่าว ตัวเองจึงตั้งคำถามว่าด้วยวิธีการเล่าข่าวและการสัมภาษณ์แบบนั้น ผู้ชมได้ข้อมูลจากคุณสรยุทธได้มากน้อยแค่ไหน แล้วคนเล่าข่าวที่ทำตามๆสไตล์นี้ จะทำได้เหมือนคุณสรยุทธหรือเปล่า” อาจารย์พรรษาสิริกล่าว

อาจารย์พรรษาสิริมองว่า สิ่งที่น่ากังวลคือความเชื่อที่ว่าต้องใช้วิธีเล่าข่าวแบบสรยุทธเท่านั้นจึงจะเป็นที่นิยมและได้เรตติ้งสูง ทำให้ผู้ผลิตยึดติดว่าแนวทางนี้เป็นสูตรสำเร็จของรายการเล่าข่าว จึงไม่น่าแปลก

ที่ผู้ดำเนินรายการจำนวนไม่น้อยเล่าข่าวด้วยบุคลิกคล้ายนายสรยุทธ หลายรายการเน้นเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอที่เร้าอารมณ์และเป็นสีสัน มากกว่าการนำเสนอข้อเท็จจริงเชิงลึก

ที่สำคัญ การใส่อารมณ์และความเห็นหลายครั้งก็ไม่มีแหล่งอ้างอิง ทั้งยังเป็นการตัดสิน ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนในข่าว

“ต้องถามว่าคนดูได้อะไรจากรายการเล่าข่าวที่เน้นความดราม่าและเร้าอารมณ์ บางทีผู้ดำเนินรายการใส่แต่ความเห็นส่วนตัว ไม่ให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ มันก็ไม่ต่างจากการที่คนทั่วไปคุยกันเรื่องข่าวบนโต๊ะกินข้าว ต่างกันเพียงคนเล่าข่าวได้ออกหน้าจอ การนำเสนอที่เร้าอารมณ์และความเห็นส่วนตัวแบบนี้แทบไม่ได้เชื่อมโยงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมอย่างไร”

“ยิ่งยุคหลังๆ รายการเล่าข่าวมักนำคลิปที่เผยแพร่กันในสื่อสังคมออนไลน์

มาออกอากาศ เพราะเป็นเรื่องที่มีสีสันและเร้าอารมณ์ แต่แทบไม่มีการให้ข้อมูล

เชิงลึกเพื่ออธิบายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเชิงระบบอย่างไร การให้เหตุผลว่า

นำคลิปเหล่านี้มาเสนอเพื่อสะท้อนปรากฏการณ์ในสังคมหรือเป็นข้อเตือนใจ

ให้ประชาชนยังไม่เพียงพอ”

อาจารย์พรรษาสิริกล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่ผู้ผลิตรายการเล่าข่าวมักใช้อธิบายการเลือกนำเสนอด้วยลีลาเร้าอารมณ์และฉาบฉวย เน้นข่าวอาชญากรรม เรื่องอื้อฉาว และประเด็นสีสัน คือผู้บริโภคสนใจเรื่องราวที่เข้าใจง่ายเหล่านี้ ซึ่งเห็นว่าการสรุปเช่นนี้โดยดูจากเรตติ้งเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ และชวนตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ชมไม่มีทางเลือกอื่นมากนักเพราะรายการเล่าข่าวส่วนใหญ่ก็ใช้แนวทางนี้

ขณะเดียวกัน ก็ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้ผลิตรายการเล่าข่าวเน้นรายงาน

“ข่าวชาวบ้าน” แต่มีพื้นที่สำหรับข้อมูลเชิงลึกหรือเชิงวิเคราะห์น้อย เป็นเพราะสังคมไทยในขณะนี้ไม่สามารถตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐและนโยบายสาธารณะได้เต็มที่ ทำให้ผู้ผลิตรายการเล่าข่าวมองว่าไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรายงานเชิงลึกหรือการรายงานเชิงสืบสวน แต่ไปเน้นความบันเทิงดีกว่า

“หรือเราจะอยู่กับแค่นี้เหรอ สื่อมวลชนและสังคมควรกล้าที่จะลองหาวิธีรายงานและเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ หรือเปล่า ทุกวันนี้เราใช้สิ่งที่ทำตามๆ กันมาให้คนดู รับข้อมูลเพียงแค่นี้ มันพอไหมในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพ หรือการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ของประเทศ ยิ่งในสังคมที่เจอกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ

ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และกระแสโลกอย่างรวดเร็ว  เราควรก้าวกระโดดไปอีกแบบไหม” อาจารย์พรรษาสิริกล่าว พร้อมยกตัวอย่างสื่อออนไลน์หลายเจ้าที่คนหนุ่มสาวติดตาม เนื่องจากนำเสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังถ่ายทอดด้วยลีลาที่น่าสนใจและ

เข้าใจง่าย

อาจารย์ยังยกตัวอย่างแวดวงสื่อในสหรัฐอเมริกาที่กำลังเผชิญกับการแข่งขันของแนวคิดทางการเมืองต่างขั้วและการไหลบ่าของข้อมูลที่หลากหลาย ด้วยการท้าทายขนบการรายงานเชิงวารสารศาสตร์แบบเดิมๆ  ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น สื่อสังคมออนไลน์ที่ตรวจสอบ

ข้อเท็จจริงจากสิ่งที่นักการเมืองกล่าวอ้าง การรายงานเชิงสืบสวนที่เกาะติด

การตรวจสอบนโยบายรัฐ

รวมถึงรายการประเภทล้อเลียนและเสียดสีข่าว (News Parody หรือ

Satirical News) ที่ผู้ดำเนินรายการเป็นนักแสดงตลกแต่หยิบยกประเด็นทางการเมืองหรือนโยบายที่เป็นปัญหามา “เล่า” แม้จะมีการเสียดสีและใส่ความเห็น

ส่วนตัวอย่างชัดเจน แต่ก็มีการค้นคว้าหาข้อมูลที่มีน้ำหนักมาประกอบการอธิบาย

เพื่อนำไปสู่การตั้งคำถามต่อปัญหาเชิงโครงสร้าง

 

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า