รู้ลึกกับจุฬาฯ

ไขข้องใจ ระบบช่วย “เด็กพิเศษ” ของไทย

ข่าวสุดสะเทือนใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นจะไม่พ้นข่าวคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวรายหนึ่งตัดสินใจใช้ผ้ารัดคอลูกสาววัย 15 ปีจนเสียชีวิต สืบเนื่องจากที่ลูกสาวเป็นออทิสติก และสามีเพิ่งป่วยหนักจนเสียชีวิตได้ไม่นาน ทำให้เธอต้องรับภาระเป็นเสาหลักครอบครัวเพียงคนเดียว จนเกิดความเครียดจึงคิดฆ่าลูกสาวและหวังจะฆ่าตัวตายตาม แต่กลับหมดสติไปก่อน

เหตุการณ์น่าสลดนี้เป็นภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของการเข้าไม่ถึงบริการและระบบการช่วยเหลือครอบครัว ที่มีลูกเป็นเด็กออทิสติก หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (ซึ่งมักเรียกย่อๆ ว่า “เด็กพิเศษ”) ตามที่ อ.ดร.วาทินี โอภาสเกียรติคุณ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการศึกษาพิเศษ ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ครอบครัวที่มีฐานะยากจนหลายครอบครัวที่มีลูกออทิสติก ยังคงเผชิญกับปัญหาอยู่

แม้การพัฒนาระบบช่วยเหลือครอบครัวที่มีลูกหรือเด็กเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยหน่วยงานภาครัฐของไทยจะนับว่ามีความพร้อมในระดับหนึ่ง ซึ่ง อ.ดร.วาทินี ระบุว่า รัฐพยายามจะมอบสิทธิให้ครอบคลุมในระดับพื้นฐานเท่าที่จำเป็น เช่น การเข้ารับการรักษาพยาบาลไปจนถึงการเข้าเรียน

“แต่ปัญหาจริงๆ คือการเข้าไม่ถึง ต้องรอคิวนาน คือถ้าเป็นพ่อแม่ที่มีฐานะเขาก็ไม่มีปัญหา แบ่งเวลามาอยู่กับลูกได้ แต่พอเป็นพ่อแม่ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ การมาใช้เวลาอยู่กับลูกเพื่อพัฒนากระตุ้นศักยภาพเด็กพิเศษ มันเสียรายได้ เสียอะไรหลายอย่างๆ เป็นภาระที่เขาต้องเจอ”

กรณีที่เกิดขึ้นตามข่าวเป็นกรณีคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งไม่สามารถแบ่งเวลามาดูแลลูกได้เต็มที่ เพราะมีภาระที่ต้องทำมาหากิน ขณะเดียวกันสิ่งที่ อ.ดร.วาทินี เน้นย้ำมาก คือ การกระตุ้นศักยภาพของเด็กพิเศษตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยแก้ไขปัญหาพัฒนาการได้เร็ว จึงควรช่วยเหลือเด็กให้เร็วที่สุด

“ยิ่งกระตุ้นเร็วเท่าไหร่เด็กยิ่งกลับมาเร็วเท่านั้น ยกตัวอย่างเคสที่เคยเจอคือ ในครอบครัวที่มีฐานะ เขาเหมือนผจญภัยเลยพาลูกไปบำบัด ทำกิจกรรม จ้างนักบำบัดมาบำบัดตัวต่อตัว

เด็กจากพูดไม่ได้ มาเรียนหนังสือได้ มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน แต่ถ้าเป็นรายกลุ่มที่พ่อแม่ยากจนก็ขึ้นอยู่รายเคส แต่ก็มีรายที่แม่ยอมลาออกจากงานมาฝึกลูก ให้พ่อหาเงิน”

ปัจจัยสำคัญจึงเป็นการใช้เวลาอยู่ร่วมกับลูกเพื่อฝึกฝน กระตุ้นทักษะให้เด็กมีพัฒนาการเพิ่มขึ้น ซึ่งครอบครัวยากจนจะต้องสละเวลาทำมาหากินส่วนนี้มา ปัจจุบันประเทศไทยเองก็มีศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศที่เป็นแหล่งให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่มีลูกออทิสติก แต่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่ามีระบบช่วยเหลือตรงนี้ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลก็ไม่ดีเท่าที่ควร

นอกจากนี้โรงเรียนหลายแห่งในประเทศไทยก็มีแนวโน้มรับครูการศึกษาพิเศษเพื่อมาช่วยสอนและพัฒนาทักษะเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้นเช่นกัน แถมยังมีการฝึกอบรม พัฒนาความรู้ให้ครูในด้านนี้อยู่พอสมควร แต่ปัญหาครูการศึกษาพิเศษไม่เพียงพอก็ยังปรากฏอยู่

“อัตราการเปิดรับครูการศึกษาพิเศษก็ไม่แน่นอน ปีนี้เปิด ปีหน้าไม่เปิด บางโรงเรียนก็มีอัตราครูพิเศษน้อย ใช้ครูแนะแนวแทน หรือไม่ก็ครูที่ไปฝึกอบรมมาเฉพาะ ก็เข้าใจได้ว่าอัตราครูกับงบประมาณมันจำกัด อย่างจุฬาฯ เอง เด็กที่เลือกเรียนเป็นครูการศึกษาพิเศษก็ปีละแค่ 10 คน เพราะเขาไม่สนใจ มันเลยกระทบไปหมด”

อ.ดร.วาทินี บอกว่า ตามกฎหมายปัจจุบันโรงเรียนห้ามปฏิเสธ ไม่รับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ แต่ในหลายกรณีจะใช้วิธีการเกลี้ยกล่อมให้ไปเข้าโรงเรียนอื่น เพราะคิดว่าโรงเรียนตนเองยังไม่พร้อมในการสอนนักเรียนเหล่านี้ ทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษจำนวนมากต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไป

“ล่าสุดกระทรวง พม. ไปสำรวจมาเมื่อปี 2558 เขาพบว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษ 800,000 คนจบชั้นประถมศึกษา แต่จบชั้นมัธยมแค่ 100,000 คน หายไปตั้ง 700,000 คือหลุดจากระบบไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะฝึกอาชีพต่อหรือจะทำอะไร บางคนเรียน กศน. หน่วยงานรัฐก็มีความพยายาม อย่างมหาวิทยาลัยสารพัดช่าง ก็พยายามจะเข้ามาฟื้นฟูทักษะอาชีพให้เด็กเหล่านี้” อ.ดร.วาทินีกล่าว

อ.วาทินี ระบุว่า วิธีแก้ไขคือจะต้องมีระบบข้อมูล การประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพแก่กลุ่มผู้ปกครอง และสร้างระบบฟื้นฟูที่เข้มแข็งในโรงเรียน พร้อมกับระบบบริการทางสุขภาพในโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่กระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ เหมือนที่เป็น รัฐควรมีข้อมูลที่เป็น Common Information หรือข้อมูลพื้นฐานว่าเด็กพิเศษต้องได้รับความช่วยเหลือด้านไหนบ้าง และบอกให้พ่อแม่อย่าเพิ่งยอมแพ้

“ทุกวันนี้พ่อแม่ที่มีลูกที่มีความต้องการพิเศษต้องใช้ความพยายามมากกว่าพ่อแม่ทั่วไป 2 เท่า หลายคนมีความเข้าใจผิดๆ ว่ายังไงลูกก็พัฒนาได้ไม่ดีขึ้นมาก ซึ่งผิด เพราะเด็กยิ่งกระตุ้นเร็วเด็กยิ่งไปไกล ความยากจนมีผลในการแบ่งเวลาพ่อแม่ที่จะมาดูแลลูก แต่ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ความพยายามของพ่อแม่ในการกระตุ้นลูกที่เป็นเด็กพิเศษ เราสามารถทำได้ที่บ้าน คือสิ่งสำคัญในการช่วยลูกมากกว่า” อ.ดร.วาทินีกล่าวทิ้งท้าย

 

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า