รู้ลึกกับจุฬาฯ

วิเคราะห์ พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว

นับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีข่าวสะพัดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดให้มีโทษรุนแรงขึ้น ปรับเงินนายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมายเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 4–8 แสน ภายในไม่กี่วันจากที่ข่าวแพร่หลาย มีรายงานจากชายแดนไทยว่า แรงงานข้ามชาติมากกว่า 6 หมื่นราย ทยอยกลับประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจวิเคราะห์ว่า ผลกระทบดังกล่าวจะสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจไทยในระดับหมื่นล้าน ในทำนองเดียวกัน รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน ได้ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ไทยต้อง “ง้อแรงงานต่างชาติ”

“ประเด็นสำคัญคือ เราเป็นคนง้อแรงงานนะ เราไม่มีสิทธิ์ไปตั้งเงื่อนไข เพราะตลาดอยู่ที่แรงงาน ถ้าเขาบอกว่า งั้นผมจะกลับบ้านนะ เราก็ตายแล้ว ถ้าตั้งเงื่อนไขเยอะแยะ ไล่เขาออก กระบวนการผลิต ของไทยก็เจ๊ง” รศ.ดร.แล กล่าว

ทั้งนี้ เป็นเพราะแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศใกล้เคียงมีทางเลือกไม่มากนัก งานที่ได้ทำ จึงมีลักษณะเป็นงานที่ยากลำบากกว่าคนพื้นถิ่น ในภาษาเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า เป็นงานประเภท 3D คือ Dirty Dangerous Difficult (สกปรก อันตราย และยากเย็น) ซึ่ง รศ.ดร.แล ย้ำว่า แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไม่ได้แย่งงานคนไทยอย่างที่หลายคนกล่าวหา แต่ทำงาน ที่คนไทยไม่ทำ

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากการประกาศใช้กฎหมายแบบฉับพลันทันที ทำให้คนไม่รู้เนื้อรู้ตัว และเกิดการ “ช็อก” ทั้งนายจ้างและแรงงานปรับตัวไม่ทัน เกิดเป็นภาวะฉุกละหุก ยิ่งแรงงานอพยพกลับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้รัฐบาลยิ่งกุมขมับ

“กฎหมายใหม่มีบทลงโทษนายจ้างที่จ้างลูกจ้างแบบผิดกฎหมาย ที่ลูกจ้างรีบหนีกลับเพราะ

1.กลับโดนจับ หรือไม่ก็ 2.นายจ้างลอยแพ อ้างว่าเดี๋ยวตนเองเดือดร้อน ต้องเสียค่าปรับเยอะ พอลูกจ้างไม่มีงานทำ แถมตัวเองก็เข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็ไม่มีทางเลือก ต้องกลับบ้าน” รศ.ดร.แล อธิบาย

การจดทะเบียนแรงงานจะทำให้แรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ได้รับค่าจ้าง

ค่าเลิกจ้าง ค่าล่วงเวลา และสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายลูกจ้าง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากนายจ้าง

ไม่ยอมเอาลูกจ้างไปจดทะเบียน การจ้างลูกจ้างที่ไม่มีใบอนุญาต ก็ถือว่านายจ้างเองก็มีความผิด

ฝั่งภาครัฐที่เกี่ยวข้องอ้างว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยป้องกันเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่ง รศ.ดร.แล ระบุว่า ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ มีการจัดอันดับโดยกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ ระบุให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศเทียร์ 3 (Tier 3) หรือประเทศที่ไม่สนับสนุน ปฏิบัติ ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ ตามกฎหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ และไม่มีความพยายามแก้ไข โดยเฉพาะการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ

การถูกจัดอันดับในเทียร์ 3 ดังกล่าวส่งผลให้ไทยโดนมาตรการคว่ำบาตร ไม่ได้รับสิทธิพิเศษ

ทางการค้า และไม่สามารถเอาราคาส่งออกไปแข่งกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระดับเทียร์สูงกว่าขณะเดียวกัน ทางฝั่งยุโรปก็มีมาตรฐาน ไอยูยู (IUU) ให้ “ใบเหลือง” ประเทศไทย เพราะมีการใช้แรงงานแบบ Illegal Unreported (ผิดกฎหมายและไม่มีการรายงานให้ทราบ) และ Unregulated (ขาดการกำกับดูแล) โดยเฉพาะในภาคการประมงที่มักมีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ทำงานนานหลายชั่วโมง ไม่มีวันหยุด

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.แล เชื่อว่า กฎหมายควบคุมแรงงานข้ามชาติที่ออกมาใหม่นี้ ไม่น่าจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์เท่านั้น

“แต่ผมก็ไม่รู้นะว่าออกมาทำไม ผมนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการฝั่งแรงงานยังไม่รู้เลย ผมสันนิษฐานว่าเป็นเหตุผลด้านความมั่นคงมากกว่านะ กลัวคนต่างด้าวเพิ่มมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจกับการค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลไม่กล้าพูดอย่างนี้หรอก ก็เฉไฉไปเรื่องอื่นแทน” รศ.ดร.แล วิเคราะห์

และด้วยความฉุกละหุกกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ทำให้ขณะนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ 4 มาตราไปอีก 180 วัน ให้นายจ้างและลูกจ้างเตรียมตัวให้พร้อมจัดทำเอกสารที่ถูกต้อง จดทะเบียนแรงงาน

สิ่งที่ รศ.ดร.แล ย้ำคือ รัฐบาลต้องทำให้การจดทะเบียนแรงงานมีประสิทธิภาพ ต้องทำให้ถูก เพราะการจดทะเบียนแรงงานไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ถ้าแพงเกินไปนายจ้างก็จะไปใช้ทางออกที่ผิดกฎหมาย

“ยืดเวลาออกไป 6 เดือนก็เหมือนมีเวลาหายใจหายคอมากขึ้น แต่อย่างที่ผมเคยพูดไปแล้วว่ามันขึ้นอยู่กับการจดทะเบียนว่ามันแพงไปไหม ถ้าราชการไทยยังอุ้ยอ้าย โยกโย้ วันเดียวทำไม่เสร็จ คนก็ไม่เอา ไปเสียใต้โต๊ะ จ่ายตำรวจ เจ้าหน้าที่สะดวกกว่า” รศ.ดร.แล กล่าว

รศ.ดร.แล กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่สหรัฐอเมริกาเองก็มีปัญหาคนต่างชาติเข้าเมืองมาทำงานผิดกฎหมายเหมือนไทย เพราะมีชายแดนติดอยู่กับเม็กซิโก และต้องยอมรับว่าสหรัฐก็ใช้วิธีนิรโทษกรรมให้คนเข้าเมืองผิดกฎหมายไม่ต้องรับโทษเป็นพักๆ เพราะว่าถ้าวันใดคนงานชาวเม็กซิกันเกิดหยุดงานขึ้นมา เศรษฐกิจของอเมริกาก็จะเป็นอัมพาตเช่นเดียวกันไม่ต่างจากไทย

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า