รู้ลึกกับจุฬาฯ

ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รู้ไม่ครบ จบไม่ได้

สถานการณ์ใหญ่โตจากปริมาณฝุ่นขนาดจิ๋ว พีเอ็ม 2.5 ในประเทศไทยยังคงสร้างความวิตกกังวลให้สังคมไทย อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพีเอ็ม  2.5 มากมาย แต่ ณ ปัจจุบัน ประชาชนรู้สึกว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมหรือเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังที่ปรากฏบนโลกโซเชียล

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา สภามีมติเห็นชอบแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ขณะที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมี พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม เร่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด บังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น พร้อมสั่งตั้งวอร์รูมที่กรมควบคุมมลพิษประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน

รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ควรระบุสาเหตุของฝุ่นอย่างแน่ชัด แก้ให้ตรงประเด็น และไม่สื่อสารชี้นำประชาชนไปสู่ข้อสรุปที่ไม่มีข้อเท็จจริงมาสนับสนุน ตัวอย่างเช่น การสื่อสารว่าฝุ่นในกรุงเทพฯ มีต้นเหตุมาจากภาคขนส่งเป็นหลัก ทำให้การประกาศหยุดเรียนในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วเชื่อว่าสามารถลดฝุ่นในกรุงเทพฯ ได้อย่างมีนัย

“เราไม่ปฏิเสธว่าภาคขนส่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของการสร้างฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แต่การหยุดเรียนไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ฝุ่นลดลง สาเหตุที่แท้จริงข้อหนึ่งมาจากมีลมจากอ่าวไทยช่วยพัดฝุ่นออกไปจาก กทม. ขึ้นไปกระทบพื้นที่ภาคกลางตอนบนและภาคเหนือ ถ้าฝุ่นมีสาเหตุหลักมาจากภาคขนส่งจริงแล้วทำไมพื้นที่ชนบทที่ไม่ได้มีกิจกรรมขนส่งมากมายก็ยังประสบปัญหาฝุ่นไม่น้อยกว่าในกรุงเทพฯ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือกรุงเทพฯ มีปริมาณการขนส่งเกือบจะสม่ำเสมอตลอดทั้งปี แต่ทำไมฝุ่นมาวิกฤติในช่วงฤดูหนาว นั่นแสดงว่าต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น มีแหล่งกำเนิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อื่น และสภาพอากาศ เป็นต้น”

ที่น่าเป็นห่วงก็คือการใช้ข้อมูลของตัวแทนรัฐบาลออกมาต่อต้านและกล่าวโทษนักวิชาการ ดังที่เห็นได้จากบทสัมภาษณ์ของนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กับ สุทธิชัย หยุ่น ทางเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม ซึ่งอธิบดียังคงยืนยันว่าฝุ่นอยู่ในระดับที่สูงแต่ไม่รุนแรงถึงขั้นกระทบสุขภาพ และยังตั้งคำถามว่า “อาจารย์นักวิชาการทั้งหลาย ทำไมต้องไปสร้างความตื่นตระหนก (เรื่องมลพิษฝุ่นพีเอ็ม 2.5) แก่ประชาชน”

“จากการสื่อสารของภาครัฐสู่ประชาชนที่เห็นในสื่อทั่วไปทำให้เกิดข้อสงสัยว่าข้อมูลของภาครัฐเรื่องสาเหตุที่มาของฝุ่นนี้เกิดจากการเก็บและนำส่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องสู่ระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรือมีการปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริงที่สำคัญไม่ให้ถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ เมื่อข้อมูลสาเหตุต้นตอของฝุ่นนั้นไม่ถูกต้อง ผู้มีอำนาจตัดสินใจก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและเด็ดขาด และเราก็เห็นได้ว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นมาตรการระยะสั้นทั้งสิ้น ไม่มีมาตรการการแก้ปัญหาระยะยาวที่มุ่งแก้ปัญหาที่ต้นตอสาเหตุแต่อย่างใด”

รศ.ดร.มาโนช กล่าวว่า ภาคขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดฝุ่น พีเอ็ม 2.5 แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ถูกพูดถึงน้อยและถูกมองข้าม เช่น ควันจากเขตอุตสาหกรรมโรงงาน การผลิตขนาดใหญ่ไปจนถึงการเผาป่าซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีดาวเทียมตรวจสอบฮอตสปอตหรือความร้อนพื้นผิว เพื่อตรวจสอบจุดที่มีไฟไหม้ หรือมีการเผาไหม้เกิดขึ้น

“จากสื่อโซเชียลเราจะเห็นว่ามีโรงเรียนในชนบทหลายแห่ง ต้องออกมาโพสต์ข้อความขอความอนุเคราะห์หน้ากากกันฝุ่นเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ ตัวเลขระดับพีเอ็ม 2.5 ของบางโรงเรียนนั้นพุ่งไปถึงระดับ 300 หรือ 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งๆ ที่ตัวโรงเรียนอยู่ในชุมชนเล็กๆ ไม่ได้มีฝุ่นจากรถหรือโรงงานที่ไหนมาทำให้ค่าฝุ่นพุ่งไปถึงระดับที่น่าตกใจขนาดนั้นได้ เมื่อดูข้อมูลจากดาวเทียมของนาซาก็จะเห็นได้ว่ามีฮอตสปอต อยู่โดยรอบโรงเรียน ซึ่งทำให้สามารถคาดคะเนได้ว่าเป็นฝุ่นที่เกิดจากการเผาป่าซึ่งอาจจะเกิดจากธรรมชาติหรือการเผาของมนุษย์ได้ทั้งคู่”

การมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมต้องใช้ต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงขึ้นด้วย รศ.ดร.มาโนช ย้ำว่าเราทุกคนควรช่วยกันตั้งคำถามถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีว่าจะคุ้มค่าจริงหรือไม่ นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหาที่ต้นตอ โดยคำนึงถึงต้นทุนของทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

“ปัจจุบันเราจะให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมากกว่าภาคสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่หากรัฐคำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นในภาคสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ ผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ อายุขัยของประชาชนอย่างจริงจังแล้ว อาจจะพบว่าการเริ่มต้นลงทุนพัฒนาอากาศสะอาดตั้งแต่ตอนนี้มีความคุ้มค่าในระยะยาว”

การยกระดับมาตรฐานควบคุมมลพิษและพัฒนาคุณภาพอากาศ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีความจำเป็นเร่งด่วน เพราะระดับมาตรฐานที่มีในกฎหมายบ้านเราหลายตัวยังอ่อนด้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการดูแลเรื่องคุณภาพอากาศอย่างจริงจัง

“การจะยกระดับมาตรฐานอย่างทันทีทันใดคงทำได้ยาก เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมหาศาล แต่สิ่งสำคัญคือการกำหนดเป้าหมาย ว่าประเทศไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ในอีกกี่ปี มีมาตรการพัฒนาเป็นลำดับอย่างไรเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถวางแผนเตรียมตัวได้ทัน เพียงเท่านี้ลูกหลานของเราก็จะได้มีอากาศสะอาดไว้หายใจในอนาคต” รศ.ดร.มาโนช ทิ้งท้าย

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า