รู้ลึกกับจุฬาฯ

เข้าใจจิตวิทยาเรื่องการกราดยิง

เหตุการณ์กราดยิงสะเทือนขวัญที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังเป็นประเด็นร้อนที่สังคมไทยให้ความสนใจ แม้ว่าจะผ่านมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่การพูดถึงประเด็นดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อไปในเวทีต่างๆ โดยเฉพาะการค้นหาสาเหตุ การแก้ไขและการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำรอย

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยาในหัวข้อ “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน” เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ความรู้ และวิเคราะห์สถานการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแง่มุมทางจิตวิทยา เพื่อหาสาเหตุ วิธีแก้ไขและป้องกัน

รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้อธิบายในแง่สาเหตุของการเกิดพฤติกรรมก่อความรุนแรงว่า สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลปกติหรือบุคคลทั่วไป ทั้งในเชิงคำพูดและการกระทำเพราะพฤติกรรมรุนแรง เป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์

“ในสังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมเทคโนโลยีรวดเร็ว คนยิ่งมีความหุนหันพลันแล่นมากขึ้น รออะไรไม่ได้ ยิ่งหากเป็นคนที่เติบโตมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่ได้ควบคุมระเบียบวินัยก็จะยิ่งง่ายต่อการไม่ควบคุมตัวเอง” อาจารย์สมโภชน์กล่าว พร้อมชี้ว่าคนที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรงมักมีพฤติกรรมมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตนเองถูกกระทำ หรือรู้สึกว่าตนเองไม่มีตัวตนในสายตาผู้อื่น

การก่อความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้หากมีมูลเหตุจูงใจและโอกาสที่ประจวบเหมาะกัน เช่น การตัดสินใจและพฤติกรรมที่จะลงมือกระทำ ได้โอกาสพอดีพอเหมาะกับช่วงเวลา สถานที่ การเข้าถึงอาวุธ เข้าถึงสถานที่ก่อเหตุ ดังนั้นในการป้องกันและแก้ไข คือต้องสร้างโอกาสในการป้องกัน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเกิดความรุนแรงในสังคมได้

“หลายคนเชื่อว่าเหตุการณ์กราดยิงจะก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบ ผมมองว่าไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะการกระทำความรุนแรงในเชิงกราดยิงต้องมีแรงจูงใจเพียงแต่การนำเสนอเรื่องกราดยิง จะเป็นการให้คนเรียนรู้วิธีที่จะทำ เช่นเดียวกับว่า ทุกคนรู้ว่าเราจะต้องขโมยของอย่างไร รู้ว่าตัวเองจะฆ่าตัวตายอย่างไร แต่ถามว่าเราจะทำไหม เราไม่ทำเพราะเราไม่มีอะไรมากระตุ้นให้เราทำ”

สำหรับคุณลักษณะของอาชญากรเหตุกราดยิงในที่สาธารณะ ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ชี้ว่า โดยสถิติจากต่างประเทศ อาชญากรเหล่านี้มักมีพฤติกรรมเก็บตัวโดดเดี่ยว ไม่สุงสิงกับผู้อื่น หรือมีลักษณะถูกกระทำในวัยเด็ก เผชิญภาวะบีบคั้นในโรงเรียนหรือที่ทำงาน แต่นิยมความรุนแรง คลุกคลีกับความรุนแรงมาตลอด เช่น มีนิสัยชอบฆ่าสัตว์ นิยมปืน ชอบศึกษาเรื่องปืน หรือชอบศึกษาเรื่องเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นมาในอดีต

“เราต้องแก้อย่างไร ก็ต้องไปควบคุมโอกาสและควบคุมเหตุจูงใจ รวมถึงสร้างช่องทางระบาย ให้คนมีช่องทางคลายความเครียด ความกดดันได้ การใช้ความรุนแรงแก้ไขความรุนแรง อาจจะสร้างความรุนแรงขึ้นไปอีก”

ผศ.ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัตน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เล่าถึงจิตวิทยาในมุมมองการทำข่าวว่า ข่าวหรือสื่อมีอิทธิพลสูงในการนำเสนอสารต่อผู้ชม โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวกราดยิง สื่อจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและความรอบคอบอย่างสูง เพราะโดยสถิติในต่างประเทศ การนำเสนอข่าวในรูปแบบหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันได้ใน 2 สัปดาห์แรกหลังเหตุการณ์เริ่มต้น

“ต่างประเทศตั้งคำถามว่าทำไมพอมีข่าวกราดยิงขึ้นที่หนึ่งแล้ว ต่อมามักมีเหตุการณ์กราดยิงอีกที่ เนื่องจากผู้กระทำความผิดมักมีลักษณะคล้ายกัน การที่สื่อนำเสนอทั้งชื่อภาพ เครื่องแบบ เรื่องราว แรงจูงใจ ประวัติส่วนตัว เปิดโอกาสให้คนที่จะกระทำความผิดเห็นความคล้ายคลึงระหว่างตัวเองกับคนกราดยิง และเกิดการไขว้เขว มีการเปรียบเทียบ เห็นรางวัลที่จะได้ออกข่าว ได้มีตัวตน มีใบหน้าปรากฏในสื่อ”

นอกจากนี้ การใช้คำบรรยายในข่าวยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ผู้กระทำความผิดให้มีแง่มุมเชิงบวก เช่น ใช้คำว่าการกระทำอุกอาจ อาจถูกมองในสายตาผู้ที่นิยมความรุนแรงว่ามีความเท่ น่าสนใจ และจูงใจให้กระทำผิดเพราะสื่อให้พื้นที่

“สื่อไม่ควรนำเสนอภาพผู้ก่อการในแง่ดี ควรพูดถึงพฤติกรรมที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายผู้อื่น ขาดความเมตตา หรือแสดงภาพให้เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่าเจริญรอยตาม ในทางตรงกันข้าม สำหรับข่าวในอีกแง่มุม เช่น ข่าวเหยื่อ ข่าวผู้รอดชีวิต หรือคนให้ความช่วยเหลือผู้อื่น สื่อต้องเริ่มคุยแล้วว่าเราจะนำเสนอเชิงบวกได้ ให้เกิดความรู้สึกว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายเราต้องช่วยกัน”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ยังให้คำแนะนำกับผู้ที่ประสบเหตุ หรือเป็นผู้เกี่ยวข้องว่า ต้องตระหนักและยอมรับภาวะอารมณ์ของตนเองที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดเหตุร้าย โดยต้องพยายามสื่อสารออกมาเพื่อให้ความตระหนักกลัวหรือความวิตกกังวลลดลง หรืออาจจะลงมือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เปลี่ยนความกลัวเป็นพลัง

“ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีคนที่คอยรับฟังคนที่มีปัญหา คนข้างเคียงสามารถรับรู้คนที่เป็นทุกข์ และแสงความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยได้ โดยถอยออกมาจากความอยากรู้ แต่คอยอยู่เคียงข้างรับฟังผู้ที่มีความทุกข์ใจและกลุ้มใจ” อาจารย์ ณัฐสุดากล่าวแนะนำทิ้งท้ายไว้

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า