รู้ลึกกับจุฬาฯ

ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ด้วยองค์ความรู้แบบบูรณาการ

การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลายประเทศ แถมยังมีข่าวจากฮ่องกงที่สร้างความตกอกตกใจแก่ประชาชนโดยเฉพาะคนเลี้ยงสัตว์ ที่ว่าสุนัขของครอบครัวผู้ป่วยโควิด-19 มีการติดเชื้อในระดับต่ำ ถือเป็นรายงานครั้งแรกของโควิด-19 ที่มีการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่สัตว์

ศ.นสพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า โรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คนเรียกว่า Zoonosis ที่ผ่านมาในอดีตพบว่าต้นตอของเชื้อไวรัสเกิดจากสัตว์ เช่น ค้างคาว และแพร่สู่สัตว์ตัวกลาง ก่อนจะส่งผ่านมายังมนุษย์เป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ โคโรนาไวรัสสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้เป็น 4 กลุ่ม คือ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า ซึ่งแต่ละชนิดพัฒนาในสิ่งมีชีวิตชนิดต่างกัน สำหรับโควิด-19 จัดเป็นโคโรนาไวรัสกลุ่มเบต้า อยู่ในตระกูลเดียวกับโคโรนาไวรัสที่เป็นต้นกำเนิดโรค SARS-COV และ MERS-COV เช่นในอดีต

“ในอดีตที่ผ่านมามีโรค MERS-COV ที่มีต้นกำเนิดจากค้างคาวและแพร่ไปอูฐ ก่อนมายังมนุษย์ รวมถึงโรค SARS-COV เกิดจากค้างคาวไปสู่ชะมดก่อนมาสู่คน ถามว่าเพราะเหตุใดค้างคาวมักเป็นตัวเก็บเชื้อหลัก สาเหตุเป็นเพราะร่างกายของค้างคาวมีอุณหภูมิสูง ไวรัสอยู่ได้แต่ไม่เพิ่มจำนวนมาก และภูมิคุ้มกันของค้างคาวมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา มีการทำงานร่วมกับเชื้อไวรัสทำให้อยู่ร่วมกันได้ไม่ก่อโรคมากนัก แต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ที่มีความเครียด เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนมากและสามารถขับออกมาสู่สิ่งแวดล้อมได้”

อาจารย์รุ่งโรจน์ชี้ว่า การทำงานเพื่อค้นหาต้นตอของการระบาดของไวรัสที่มีศักยภาพในการก่อโรคอุบัติใหม่ ต้องอาศัยความร่วมมือและองค์ความรู้แบบบูรณาการกันจากหลายภาคส่วนตามหลักการของสุขภาพหนึ่งเดียว เพราะเมื่อเป็นโรคที่มีต้นตอมาจากสัตว์ป่า ก็ต้องอาศัยการร่วมมือกันของหน่วยงานหลายฝ่าย เช่น นักธรรมชาติวิทยา กรมอุทยานแห่งชาติฯ สัตวแพทย์ และแพทย์ รวมถึงบุคลากรในวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันของ Thailand One Health University Network หรือเครือข่ายความร่วมมือกันของสหสาขาวิชาการเพื่อรับมือและตั้งรับสถานการณ์โรคระบาดปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ในเมื่อมันเป็นโรคที่มาจากสัตว์ป่า เราก็ต้องเข้าไปดูว่าเพราะอะไรมันถึงเกิดการระบาดเราเข้าไปดูว่ามีเชื้ออะไรที่เป็นความเสี่ยงหรือมีอะไรที่จะเป็นพาหะได้ เพราะจากประสบการณ์ในอดีตมีโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดสู่หมูและสัตว์ปีกและสามารถก่อโรคในคนได้ ซึ่งเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสดูและศึกษาทางพยาธิวิทยาและระบาดวิทยา ก็สามารถเข้าใจการก่อโรคและวางแผนควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้ อาจารย์รุ่งโรจน์อธิบายว่า การติดเชื้อโคโรนาไวรัสในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด จะติดได้หรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับตัวรับในเซลล์ หรือ Receptor ที่มีชื่อว่า ACE2 และจากการวิจัยพบว่าสัตว์ตระกูลลิง รวมถึงมนุษย์มีลักษณะตัวรับที่ใกล้เคียงกัน ก็น่าจะติดเชื้อได้ ขณะเดียวกัน สุนัขและสัตว์อื่นๆ ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมที่แตกต่าง อาจมีตัวรับบางตำแหน่งที่สามารถจับกับไวรัสได้บ้าง

“กรณีสุนัขเราพบว่ามีตัวรับที่สามารถจับได้ 1 ตำแหน่งจาก 3 ตำแหน่ง และจากการตามข่าวพบว่าสุนัขตัวที่ติดเชื้อในระดับต่ำอาจมีการปนเปื้อนไวรัสในช่องจมูก ช่องปาก แต่ไม่พบในระบบทางเดินอาหารหรือทวารหนัก แสดงว่าสุนัขมีความน่าจะเป็นที่จะมีการปนเปื้อนไวรัส แต่ก็ต้องตามดูอาการต่อว่าจะสามารถตรวจพบไวรัสได้นานแค่ไหนและมีปริมาณไวรัสสูงในระดับไหน หากต้องการทดสอบว่าเป็นการติดเชื้อจริง ต้องมีการแยกไวรัสและนำไวรัสไปใส่ในสัตว์ทดลอง หากสัตว์ทดลองมีอาการทางคลินิกและสามารถแยกเชื้อออกมาได้อีก ก็สามารถสรุปได้ว่าไวรัสดังกล่าวก่อโรคในสัตว์จริง”

ทั้งนี้อาจารย์รุ่งโรจน์แนะนำว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากการสัมผัสสัตว์เลี้ยง หรือปศุสัตว์ ควรหลีกเลี่ยงและกักกันโรคตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข

“สภาวะติดเชื้อจากมนุษย์สู่สัตว์ หรือ Reverse Zoonosis (Anthroponosis) เคยเกิดขึ้นมาแล้วตอนปี 2009 หรือไข้หวัดใหญ่ H1N12009 ระบาด เกิดจากคนเลี้ยงสัตว์ไปจามใส่หมู หมูติดเชื้อ” อาจารย์รุ่งโรจน์กล่าว พร้อมย้ำว่าเมื่อไม่มีการยืนยันที่แน่นอนว่าสัตว์เลี้ยงจะสามารถติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้มากน้อยแค่ไหน และยังไม่ทราบว่าหากสัตว์ติดไวรัส ไวรัสจะมีการกลายพันธุ์หรือไม่ จึงควรป้องกันการติดเชื้อไปมาระหว่างกันไว้จึงจะดีที่สุด

อาจารย์รุ่งโรจน์ยังเพิ่มเติมอีกว่าเนื่องจากโควิด-19 มีระยะการฟักตัวที่ยาวนานกว่า และมีระยะเวลาการแพร่เชื้อในขณะที่ไม่มีอาการ รวมทั้งอัตราการตายของผู้ติดเชื้อน้อยกว่าโรค SARS-COV และ MERS-COV ที่เคยระบาดในอดีต ก็อาจจะอนุมานได้ว่า จะมีจำนวนประชากรป่วย มากขึ้น และหากเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการติดเชื้อก็จะมีผู้เสียชีวิตสูงขึ้นทั่วโลก แต่หากไวรัสไม่มีการกลายพันธุ์ ประชากรมนุษย์ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ เสมือนเป็นโรคประจำถิ่น เพราะมีภูมิคุ้มกันในประชากรบ้างแล้ว

“ต้องย้ำว่าเราต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม และหมั่นป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ เพราะเชื้อมันอยู่ในป่า ถ้าเราไม่รุกรานป่า ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่กินเนึ้อสัตว์ป่า ไม่ทำลาย ระบบนิเวศก็จะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้ามีการสัมผัสระหว่างสัตว์ป่ากับมนุษย์ (Human animal interface) รวมถึงมีการป่วยหรือมีอาการผิดปกติหลังจากสัมผัสสัตว์ หรือหากติดเชื้อแล้วก็ให้แยกตัวเอง

เพื่อกักกันโรคจากคนและสัตว์ ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการสัมผัสอย่างละเอียด เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและรักษา ถือเป็นการรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมที่ดี” อาจารย์รุ่งโรจน์สรุปและให้คำแนะนำอย่างสมบูรณ์

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า