รู้ลึกกับจุฬาฯ

ละคร ความบันเทิง และประวัติศาสตร์

ละครหลังข่าวภาคค่ำ “บุพเพสันนิวาส” ทางช่อง 3 HD ที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่ในขณะนี้ ได้ปลุกกระแสฟีเวอร์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาให้ฟื้นขึ้นมาอย่างน่าสนใจ

“บุพเพสันนิวาส” เป็นละครที่สร้างจากนวนิยายของนักเขียนรุ่นใหม่ “รอมแพง” เนื้อเรื่องโดยย่อ เกี่ยวกับนางเอกที่เป็นคนยุคปัจจุบันต้องย้อนกลับไปอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคทองของกรุงศรีอยุธยา ไปพบรักกับพระเอกที่เป็นข้าราชการหนุ่มสมัยกรุงศรีฯ และจะมีส่วนพัวพันกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตเป็นระยะ

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนชี้ว่า กระแสบูมแบบที่ละครบุพเพสันนิวาสกำลังประสบเคยเกิดขึ้นมาก่อนกับภาพยนตร์หรือผลงานแนววัฒนธรรมนิยมบางเรื่องในอดีต

“ประเด็นหนึ่งคือละครมันมาถูกเวลา สังคมที่ไม่น่าอยู่ ทำให้คนต้องการหลีกหนี ใช้ละครพีเรียดแฟนตาซีเข้ามาตอบโจทย์คนไทย ยิ่งสังคมมีความตึงเครียดด้านการเมืองเศรษฐกิจ เรื่องรักโรแมนติก อดีตที่สงบสวยงามมันเป็นอะไรที่ Nostalgic คือ โหยหาความยิ่งใหญ่และสุขสมในอดีต  ตอนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 เราก็มีนางนาค  มีสุริโยทัยที่ดังมากเหมือนกัน”

อาจารย์อรรถพลบอกว่า  ผู้แต่งหนังสือ และผู้เขียนบทละครบุพเพสันนิวาสมีความสามารถ  และทำการบ้านอย่างตั้งใจเพื่อให้ ตัวละครมีความน่าเชื่อถือ แต่คนดูก็ควรรับรู้ด้วยเช่นกันว่าในอีกมุมหนึ่ง บุพเพสันนิวาส ก็ยังถือว่าเป็น “ละคร” ที่เอาประวัติศาสตร์ มาเป็นฉากหลังมาดำเนินเรื่อง แม้จะมีแนวเรื่องแบบแฟนตาซีและไม่ได้อ้างตัวว่าเป็นละครประวัติศาสตร์ กระนั้น คนดูก็ควรแยกแยะและมีความเท่าทัน

“ผลงานเรื่องอื่นหลายเรื่องใช้ประวัติศาสตร์มา สร้างความเป็นชาตินิยม เช่นเรื่องที่ว่าด้วยศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านในโบราณกาล เราต้องดูอย่างเท่าทัน เพราะบางเรื่องก็สามารถสร้างความเกลียดชัง สร้างวาทกรรมบางประการที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด”

ตัวอย่างเช่น ละครบางเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามระหว่างไทยกับพม่า สร้างภาพให้พม่าเป็นตัวร้าย ปลุกกระแสชาตินิยมให้คนไทยเกลียดประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

“ผมเคยเจอคุณแม่คนหนึ่ง แกเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่า มาเล่าให้ฟังว่าลูกชายอยู่ชั้นประถม วันหนึ่งมาบอกแม่ว่าโตขึ้นจะไปรบกับพม่า แม่ตกใจมาก สืบไปสืบมารู้ว่าครูเปิดให้ดูหนังพระนเรศวร แล้วก็ไม่ยอมชวนเด็กคุยว่าหนังเรื่องนี้มีที่มาอย่างไร  ไม่ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อช่วยในความเข้าใจ”

อาจารย์อรรถพลเสริมอีกว่า เมื่อพูดถึงละครประวัติศาสตร์สำหรับในเมืองไทย มักจะอิงอยู่แต่ประวัติศาสตร์กระแสหลัก หรือประวัติศาสตร์ที่รัฐเลือกจะให้เรียน สำหรับประวัติศาสตร์ที่มีความขัดแย้ง รวมถึงประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อยจะมีการพูดถึงน้อยมาก

“ยกตัวอย่างญี่ปุ่น ช่อง NHK นี่ชอบสร้าง ตัวละครเกี่ยวกับประวัติชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยมาก เขาไม่อิงสถาบัน แต่อิงคุณค่าของคน ดังนั้นเราจะเห็นตัวละครหลากหลาย เช่น ละครที่เกี่ยวกับช่างตัดเสื้อ หรือละครโอชินที่ดังในไทยก็เกี่ยวกับชีวิตของคน หรือละครที่เกี่ยวกับความยากลำบากของคนหูหนวก คนป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เขาใช้เครื่องมือตรงนี้มา educate คน ทำให้คนเห็นคุณค่าผู้อื่น เคยมีละครเรื่องหนึ่งโฟกัสเนื้อหาไปที่อาชีพคนขุดถนน มันเห็นประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่เหมือนบ้านเรา”

อาจารย์อรรถพลระบุว่าละครถือว่าเป็นสื่อให้ความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง จะอ้างว่าตนมีหน้าที่ให้แต่ความบันเทิงเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่ทางที่ดีควรไปมากกว่านั้น ควรไปมากกว่าการให้ความบันเทิง หมายความว่า ต้องพัฒนางานให้มีความลุ่มลึกและมีมุมมองสอนคนดูในบางประการ

“ละครเกาหลีผมเข้าใจว่าคนเขียนบทละครจำนวนมากเป็นผู้หญิง เขาใช้เครื่องมือนี้มา Shape คน คือเขาสร้างภาพให้ตัวละครพระเอก หรือผู้ชายมีภาพลักษณ์แบบที่ควรจะเป็น เช่น ให้เกียรติผู้หญิง สุภาพ อ่อนโยน คนดูก็จะซึมซับ กลับมาดูที่บ้านเราพระเอกยังข่มขืนนางเอกอยู่เลย”

ในทางกลับกัน ยุคสมัยที่คนดูเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วก็มีส่วนช่วยให้สื่อมีความระมัดระวังรอบคอบมากขึ้น ช่วยสอดส่องตรวจตราสื่อว่าไม่ควรใช้ประเด็นใดบ้างที่ไม่เหมาะสมลงไปในละคร  ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเท่าทันสื่อ รู้ว่าสิ่งใดคือเรื่องแต่ง อะไรคือเรื่องจริง

อาจารย์อรรถพลทิ้งท้ายว่า กระแสของละครบุพเพสันนิวาสนำไปสู่ความสนใจเชิงประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ทางผู้จัดละครต้องมีความรับผิดชอบต่อการถ่ายทอด

เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไปด้วยโดยปริยาย ขณะเดียวกัน ทางหน่วยงาน ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะได้ถือโอกาสนี้ในการเสริมแรงและให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ อันเป็นผลมาจากระแสละครอีกทางหนึ่งด้วย

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า