รู้ลึกกับจุฬาฯ

ล่าเสือดำกับสิทธิสัตว์

ข่าวนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน) เข้าล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมากลายเป็นกระแสใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ ในโลกออนไลน์และออฟไลน์มีการกล่าวถึงหลายประเด็นทั้งเรื่องการล่าสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ การบุกรุกป่าสงวน ตลอดจนความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

จากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบซากสัตว์ ได้แก่ เสือดำ ไก่ฟ้า และเก้ง เป็นเหยื่อถูกยิง กระแสสังคมยิ่งไม่พอใจหนักขึ้นเมื่อสื่อมวลชนมีการลงรูปซากสัตว์ พร้อมรายละเอียดตามหลักฐานที่ปรากฏ โดยเฉพาะการฆ่าเสือดำ กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกคนให้ความสนใจ

ในงานเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 11 เรื่อง “สัตว์โลกที่ถูกคุกคาม : วาระที่รอการแก้ไข” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญนักวิชาการมาวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้จากหลายมุมมอง หนึ่งในนักวิชาการที่มาร่วมเวทีคือ ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์  จุฬาฯ ซึ่งตั้งคำถามเบื้องต้นไว้ว่า “ในศตวรรษที่ 21 นี้แล้ว ทำไมคนต้องล่าสัตว์อีก”

อาจารย์โสรัจจ์ชี้ว่า สมัยโบราณมนุษย์ต้องล่าสัตว์เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหาร แต่เมื่อโลกเจริญขึ้น มีระบบปศุสัตว์ ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่มนุษย์ต้องล่าสัตว์อีก

“แต่มันก็มีสัตว์ที่ถูกล่าเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆผมยกตัวอย่างในอังกฤษ ทุกวันนี้ก็ยังมีกีฬาคนขี่ม้าล่าหมาจิ้งจอก เป็นที่นิยมในหมู่คนรวยมีเงิน รวมถึงสัตว์ที่ถูกล่าเพราะความเชื่อผิดๆ เช่น แรดถูกฆ่าเพราะเชื่อว่าเอานอใช้เป็นยา หรือฉลามที่ถูกฆ่าเพราะต้องใช้ครีบมาทำเป็นหูฉลาม”

อาจารย์โสรัจจ์อธิบายเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ที่มนุษยชาติมีความก้าวหน้าขึ้น มนุษย์ก็เริ่มมีจริยธรรมต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ สังคมมีการพูดถึงสิทธิสัตว์ เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลานชั้นสูง มีระบบประสาทและรับรู้ความเจ็บปวดได้เหมือนมนุษย์

นักปรัชญาชื่อดังอย่าง Peter Singer เป็นคนหนึ่งที่เอ่ยถึงหลักการสิทธิสัตว์ โดยระบุว่า มนุษย์ไม่ควร ก่อความเจ็บปวดใดๆ ต่อสัตว์ รวมถึงมนุษย์มีหน้าที่ดูแลและปกป้องสัตว์ อย่างไรก็ตาม ร่างกายของมนุษย์ยังมีความต้องการเนื้อสัตว์นำมาเป็นอาหาร

“ซิงเกอร์เชื่อว่าเราไม่ควรทรมานสัตว์ ในชีวิตจริงแกเป็นมังสวิรัติ แต่ไม่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะเป็นอย่างนั้นได้ ตามความคิดของซิงเกอร์ เราอาจมีข้อยกเว้นได้ถ้าเราเลี้ยงสัตว์ไม่ให้มีความเจ็บปวดมากไปกว่าความเจ็บปวดตามธรรมชาติ ก็อาจจะผ่านเกณฑ์นี้” อาจารย์โสรัจจ์อธิบาย พร้อมระบุว่าหลักการ “สิทธิสัตว์” ดังกล่าวได้ถูกพัฒนาระบบปศุสัตว์ให้มีจริยธรรมมากขึ้น

เมื่อเทียบจากในอดีต ระบบปศุสัตว์ในปัจจุบันโหดร้ายต่อสัตว์น้อยลงมาก มีการใช้วิธีการเลี้ยงสัตว์แบบไม่กักขัง มีการฆ่าสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์ที่มีความเมตตามากขึ้น ในเดนมาร์กมีการฆ่าวัวแบบไม่รู้ตัว วัวจะไม่ส่งเสียงร้องทรมาน

ยิ่งไปกว่านั้น ในหลายๆ ประเทศ เริ่มมีการถกเถียง ถึงความไม่สมเหตุสมผลทางจริยธรรมหลายประการของระบบปศุสัตว์ เช่น การฉีดฮอร์โมนให้วัวนมและไก่ไข่เพื่อให้ออกไข่ตลอดปี การฆ่าลูกวัว ลูกไก่เพศผู้ทิ้ง เพราะไม่มีคุณค่าทางอุตสาหกรรม ก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขแล้ว

ขณะที่ประเด็นเรื่องของสัตว์ป่าก็จะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการดูแลป่า เพราะตามหลักการสิทธิสัตว์ สัตว์ป่าไม่สมควรถูกล่า แต่ในวงการปรัชญา ก็มีการถกเถียงกันว่าวิธีไหนจะเป็นวิธีที่สุดในการดูแลป่า และมีการถกเถียงกันว่าใครควรเป็นเจ้าของพื้นที่ป่า รัฐ หรือว่าเอกชน

“ในไทย รัฐเป็นเจ้าของพื้นที่ป่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เรียกว่า Tragedy of the Commons หมายความว่าอะไรก็ตามที่เป็นของส่วนกลาง เป็นทรัพยากรที่ร่วมกันของสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะให้รัฐเป็นผู้จัดการ ดูแล ก็มักจะย่อหย่อน ทำได้ไม่ดีพอ เลยเละ บางประเทศเลยให้เอกชนเป็นคนจัดการ” อาจารย์โสรัจจ์ยกตัวอย่าง

อาจารย์โสรัจจ์กล่าวต่ออีกว่า ประเด็น “เสือดำ” ที่คนไทยให้ความสนใจกันมาก เป็นเพราะเสือดำคือสัตว์ป่าที่ไม่สมควรจะถูกล่า เป็นสัตว์ใหญ่ที่มีสถานะในป่าสูง เพราะเป็นสัตว์นักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร และในความรู้สึกของมนุษย์ มนุษย์จะมีความใกล้ชิด กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ฉลาด และสมองมีพัฒนาการมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ เห็นได้ชัดว่า ไก่ฟ้าและเก้งเองก็ถูกฆ่า แต่ไม่เป็นประเด็นเท่าเสือดำ

“มีคนชอบยกตัวอย่างว่าทำไมเสือ 1 ตัวถูกฆ่าถึงฟูมฟาย ทีหมูถูกฆ่าทุกวันไม่เป็นไร ผมต้องบอกว่าเส้นแบ่งระหว่างสัตว์ป่ากับสัตว์ที่เลี้ยงมากินมันไม่เหมือนกัน การฆ่าเสือดำมีผลกระทบทางความหลากหลายทางชีวภาพ และจำนวนเสือดำ ก็น้อยกว่าหมูมากนัก”

ขณะเดียวกัน การที่ข่าวนี้กลายเป็นกระแสใหญ่ อาจมีสาเหตุจากความรู้สึกของคนที่โกรธแค้นความไม่ยุติธรรมในสังคม คนรวยมีสิทธิ์ มีอำนาจในการทำสิ่งผิดกฎหมาย หรืออาจเป็นไปได้ว่าความเคร่งเครียดทางการเมืองในสังคมไทย ก็มีส่วนทำให้คนโกรธแค้น จนต้องไปหาทางระบายกับกรณีนี้

“ผมขอเสนอว่าการแก้ไขเราควรต้องเสนอความเห็น รณรงค์เท่าที่เราทำได้ การใช้โซเชียลมีเดียนับว่ามีผลมากกับเรื่องนี้ และเราก็ควรกำจัดความเชื่อผิดๆ ของการล่าสัตว์ป่าให้หมดไป ต้องให้การศึกษาที่ถูกต้องว่ากินเสือไม่ได้ช่วยเพิ่มสมรรถนะอย่างที่เชื่อกันมาผิดๆ รวมถึงฉลาม นอแรด” อาจารย์โสรัจจ์กล่าว พร้อมบอกว่าเห็นแนวโน้มดีขึ้นในสังคมคนรุ่นใหม่ก็เริ่มไม่เชื่อข้อมูลผิดๆ เหล่านี้กันแล้ว

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า