รู้ลึกกับจุฬาฯ

เลี้ยงลูกด้วยทางสายกลาง

“เลี้ยงลูกอย่างไรดี” เป็นประเด็นที่พ่อแม่หลายคนในยุคสมัยนี้ค่อนข้างเป็นกังวล ยิ่งมีสื่อเทคโนโลยีหลากหลายล่อตาล่อใจลูกให้ลูกเล่นจนติด ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เป็นที่มาของการเกิดเพจในเฟซบุ๊กจำนวนมากที่ให้คำแนะนำในการเลี้ยงลูก จนเกิดเป็นกรณีข้อถกเถียงขึ้นมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประเด็นที่เกิดขึ้น คือมีเพจชื่อดังซึ่งให้คำแนะนำด้านการเลี้ยงลูกโจมตีว่า วิดีโอเกมเกมคอมพิวเตอร์ และเกมออนไลน์ เป็นสิ่งที่ต้องปิดกั้นไม่ควรให้ลูกเล่นในทุกกรณี เพราะจะทำลายอนาคตเด็ก มีการใช้ถ้อยคำรุนแรง ต่อว่าพ่อแม่ที่ปล่อยให้ลูกเล่นเกม สร้างความไม่พอใจแก่ชาวเน็ต จนกระทั่งมีผู้เรียกร้องในเว็บไซต์แคมเปญ change.org ให้มาตรวจสอบจริยธรรมของแพทย์ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและดูแลเพจ

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก อ้างถึงผลการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับซึ่งระบุว่า เด็กเล็ก ก่อน 2 ขวบไม่ควรใช้อุปกรณ์ไอทีเลย หลังจากนั้นถึงจะให้ใช้ได้บ้างตามมาตรฐานของแต่ละครอบครัว

ผศ.นพ.ณัทธรระบุว่า มีตัวเลขข้อตกลงที่ครอบครัวส่วนใหญ่นิยมใช้ แต่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ ชัดเจนว่าวันธรรมดา ไม่ควรให้ลูกเล่นเกมเกิน 1 ชั่วโมง ส่วนวันหยุด ไม่ควรให้เกิน 2ชั่วโมง และต้องจัดหลักทางสายกลางให้ดีๆ เพราะครอบครัวแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน และแต่ละวัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน

“เราเอาแนวคิดเรื่องการเลี้ยงลูกแบบฝรั่งมาใช้ แต่เราก็ไม่ได้เอามาทั้งหมด เราต้องปรับให้เข้ากับบริบทวัฒนธรรมไทย อย่างครอบครัวฝรั่งเขาเป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่มีปู่ย่าตายายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ของไทยเรามีตรงนี้ก็ต้องเอาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย” ผศ.นพ.ณัทธรกล่าว

ปัญหาที่ครอบครัวแต่ละครอบครัวเจอก็ไม่เหมือนกัน คุณหมอกล่าวว่าในคลินิกจิตเวชเด็กของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีปัญหาค่อนข้างหลากหลาย เช่น เด็กมีปัญหาการเรียน สมาธิสั้น ติดเกม มีปัญหาเรื่องการปรับตัว ฯลฯ ซึ่งจะโทษพ่อแม่อย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะต้องมีการประเมินทางการแพทย์ว่าการเลี้ยงดูมีผลทำให้ปัญหาของเด็กเพิ่มขึ้นหรือลดลงไหม เป็นรายกรณี

“จิตแพทย์เด็กจะต้องทำหน้าที่ให้คำแนะนำพ่อแม่เพื่อให้ปรับการเลี้ยงดูลูกให้เหมาะสม ถ้าสมมุติว่าพ่อแม่ขาดระเบียบวินัย ปล่อยลูกเล่นเกม นานๆ ก็ต้องสอนพ่อแม่เรื่องการใช้ระเบียบวินัยควบคุมลูก แต่ถ้าเข้มงวด จริงจังมาก เด็กเครียดขึ้นมา ก็ให้คำแนะนำพ่อแม่ว่าต้องผ่อนคลายลดความตึงเครียดในครอบครัวดีกว่า” ผศ.นพ.ณัทธรกล่าว

สิ่งสำคัญที่ ผศ.นพ.ณัทธรย้ำคือ ต้องวาง “ทางสายกลาง”ไว้ให้ดี ไม่ตึง ไม่หย่อน ลูกสามารถเล่นเกมได้ แต่ต้องดูแลให้ดี อย่าให้ลูกเครียดเกินไปหรือสบายเกินไป แต่จะเป็นทางสายกลางอย่างไรนั้น แต่ละบ้านต้องหาคำตอบกันเอาเอง และต้องหาจุดสมดุลพอดีกันระหว่างความผ่อนคลาย และความกระตือรือร้น

“เกมก็ถือเป็นเหรียญ 2 ด้าน ด้านแรกคือเล่นแล้วติดจะเสียการเรียน แต่อีกด้านคือความผ่อนคลาย และฝึกทักษะ สังเกตดู เด็กจะมือไม้ว่องไว พวกแก็ดเจ็ตอะไรใหม่ๆ เขาใช้ได้ดี น้องๆ ศัลยแพทย์บอกว่าพวกที่ผ่าตัดเก่งๆ พวกนี้ติดเกมทั้งนั้น ยิ่งในยุคต่อไปที่เราเอาหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานผ่าตัดมากขึ้น ผมเคยชะโงกดูยังกะการเล่นเกมดีๆ นี่เอง” ผศ.นพ.ณัทธรกล่าว

 “หรือว่าเด็กๆ ที่มีปัญหาทางมิติสัมพันธ์ล่ะ ผมว่าเวลาเด็กเขาเล่นเกม Minecraft น่าอัศจรรย์มาก พวกนี้ก็อาจจะกลายไปเป็นเมล็ดพันธุ์ของสถาปนิกหรือนักออกแบบสร้างสรรค์อะไรให้โลกได้อีกเยอะ” ผศ.นพ.ณัทธรกล่าวเพิ่มเติม

คุณหมอณัทธรระบุว่าเวลามองเรื่องเกมคงมองแบบสุดขั้วไม่ได้ เพราะเกมก็ไม่ได้ขาวสะอาดจนต้องยกย่องส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนต้องเล่นจนกลายเป็นค่านิยมใหม่ในสังคมไทยขณะเดียวกัน เกมก็ไม่ได้ดำสนิท ว่าถ้าเล่นไปแล้ว จะต้องโง่งมงายเป็นตราบาปขนาดนั้นอย่างที่มีการพูดถึงในเพจชื่อดัง

ผศ.นพ.ณัทธรเปรียบเทียบว่า เกมเองก็เหมือนเหล้า กินแต่พอดีก็ผ่อนคลายสบายใจ กินมากไปก็เป็นปัญหาต่อตัวเองและสังคม และเราไม่สามารถกำจัดเกมออกไปจากชีวิตได้ ควรหาวิธีอยู่ร่วม แล้วใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นให้ดีกว่า

นอกจากนี้ พ่อแม่เองก็ไม่ควรตั้งความหวังไว้กับลูกจนเกิดเป็นแรงกดดันมากเกินไป ผศ.นพ.ณัทธรระบุว่า เข้าใจดีว่าพ่อแม่อยากให้ลูกได้ดีแต่ต้องปรับระดับให้เหมาะสม ถ้าตั้งไว้สูง ลูกยิ่งรู้สึกแย่ เช่น คิดว่าลูกต้องได้คะแนนดี ลูกจะมีความรู้สึกเพียง2 อย่าง คือเสมอตัว เนื่องจากได้คะแนนดีมาก และรู้สึกแย่ เพราะคะแนนลด เกิดเป็นความกดดัน ความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ และนำมาซึ่งภาวะซึมเศร้า

ผศ.นพ.ณัทธร บอกว่า ข้อถกเถียงในเพจชื่อดัง ที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเพราะว่าดูสุดขั้วไปหน่อย ซึ่งดูน่าเป็นห่วงถ้าหากมองไปในโลกอนาคต จะดีกว่าไหมถ้าหากเลือกที่จะสร้างความพอดี และสร้างทางสายกลางร่วมกันในครอบครัว

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า