รู้ลึกกับจุฬาฯ

ปฏิรูปสื่อ ต้องสร้างความรู้แจ้ง ไม่ใช่ความกลัว

วงการสื่อของไทยกำลังเผชิญภาวะคุกคามใหม่ เพราะเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา สภาขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เห็นชอบและผ่านร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. โดยให้เหตุผลว่าสื่อไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกันเองบนมาตรฐานจริยธรรม และสื่อจำนวนหนึ่งเป็นต้นตอของปัญหาของการสร้างความแตกแยก และบิดเบือน จึงต้องมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา ขณะที่ฝั่งผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เชื่อว่าไม่ใช่กฎหมาย“คุ้มครอง” ตามที่ชื่อปรากฏ แต่เป็นกฎหมาย “ควบคุม” มากกว่า

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ อธิบายให้ “รู้ลึกกับจุฬาฯ” ฟังว่าการใช้กฎหมายเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการกำกับดูแลสื่อ แต่จะใช้ในกรณีที่เป็นเรื่องร้ายแรงจริงๆและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง หรือเป็นภัยอย่างฉับพลัน หากเป็นเรื่องทางจริยธรรมแล้ว นานาอารยประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะเน้นการใช้การกำกับดูแลกันเองโดยองค์กรวิชาชีพสื่อที่เป็นการรวมตัวกันขององค์กรสื่อมากกว่า จะไม่เกี่ยวกับกฎหมายหรือเกี่ยวน้อยมากถึงมากที่สุด

ในภาพรวมทั่วไป การกำกับดูแลสื่อโดยรัฐจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ และมีกลไกเชิงโครงสร้างคือหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบอำนาจตามกฎหมาย ที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนการกำกับดูแล หากเป็นสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสาธารณะ ก็จะมีการกำกับดูแลผ่านระบบใบอนุญาตประกอบการเพราะถือว่าผู้ประกอบการที่อาศัยทรัพยากรสาธารณะ จึงต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่า ยิ่งไปกว่านั้น จะมีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน และการวินิจฉัย ตัดสิน ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับประเทศไทย นับแต่มีการปฏิรูปสื่อมาตั้งแต่ พ.ศ.2540 ก็มีกฎหมายใหม่ๆ เกี่ยวกับสื่อวิทยุและโทรทัศน์หลายฉบับที่กำหนดกรอบในการกำกับดูแล เช่น พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ พ.ร.บ. กสทช. ที่ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการกำกับดูแลสถานีวิทยุและโทรทัศน์ต่างๆ ผ่านระบบใบอนุญาต และการให้อำนาจทางปกครองซึ่งทำให้ กสทช.มีลักษณะเป็นกึ่งตุลาการคือ สามารถวินิจฉัยเรื่องราวร้องเรียน และกำหนดโทษปรับทางปกครองในระดับต่างๆได้

“กสทช.เองก็มีอำนาจที่ทำได้ตามกฎหมาย มีช่องทางร้องเรียนและมีบทลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นการตักเตือน ปรับทางปกครอง ไปจนถึงระงับการออกอากาศและยึดใบอนุญาต” ผศ.ดร.พิรงรอง อธิบาย

การกำกับดูแลอีกรูปแบบที่อยู่คู่ขนานกันคือการกำกับดูแลตนเองหรือกำกับดูแลกันเอง หรือ Self-regulation โดยผ่านองค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อที่เป็นการรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกที่เป็นองค์กรสื่อ เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ทำหน้าที่คอยกำกับดูแลสมาชิกด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมที่ได้ประมวลร่วมกัน การบังคับใช้มาตรการหรือการลงโทษใดๆจะเป็นไปบนพื้นฐานความสมัครใจของสมาชิก ไม่มีกฎหมายมาเกี่ยวข้อง

“ปัญหาของ Self-regulation คือมันบังคับใช้ได้ลำบากส่วนหนึ่งเพราะสื่อไม่ตรวจสอบกันเองจริงจัง และบทลงโทษไม่แรงเลยทำให้สื่อไม่หลาบจำยำเกรง คือมีตั้งแต่ตักเตือนเป็นขั้นต่ำสุด และการขับออกเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพฯเป็นบทลงโทษสูงสุด ซึ่งสื่อบางสื่อก็ไม่ได้แคร์มีกรณีที่ลาออกเองด้วยซ้ำเพราะไม่ได้เห็นค่าอะไรของการเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อ” ผศ.ดร.พิรงรอง อธิบาย พร้อมกล่าวเสริมว่า องค์กรวิชาชีพสื่อก็ไม่ได้มีช่องทางการรับเรื่องราวร้องเรียนที่ชัดเจนเท่าใดนัก น้อยคนที่จะรู้จักองค์กรวิชาชีพสื่อ และรู้ถึงบทบาทในการกำกับดูแล ส่วนใหญ่คนจะมุ่งไปที่องค์กรของรัฐเพื่อร้องเรียน หรือใช้ศาลเตี้ยออนไลน์เพื่อประนามสื่อที่ไร้จริยธรรม แทนที่จะเข้าสู่กระบวนการขององค์กรวิชาชีพสื่อ

และด้วยเหตุที่การกำกับดูแลตนเองของสื่อมีปัญหา ทำให้มีรูปแบบการกำกับดูแลร่วม หรือ Co-regulation ขึ้นมากล่าวคือ เป็นการเสริมแรงการกำกับดูแลกันเองของสื่อด้วยอำนาจการกำกับดูแลตามกฎหมายของรัฐ แต่ต้องเป็นในกรณีที่ร้ายแรงมากๆจริงๆที่องค์กรวิชาชีพสื่อจัดการไม่ได้แล้วและอยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่ผูกโยงกันด้วยกฎหมายระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อกับองค์กรของรัฐเท่านั้น แต่สำหรับประเทศไทย Co-regulation ยังไม่มี เพราะยังไม่มีการแก้กฎหมายที่มีอยู่ให้รองรับแนวทางนี้

ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้อ้างว่ามีการใช้รูปแบบการกำกับดูแลทั้งสามระดับ โดยเน้นที่การกำกับดูแลระหว่างสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่จะเป็นองค์กรกำกับดูแลร่มใหญ่ของสื่อใดๆร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรสื่อผ่านระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและอำนาจในทางปกครองที่สามารถเปรียบเทียบปรับและกำหนดโทษจำคุกได้

“คือมันไม่ไปด้วยกัน กฎหมายนี้มันเอาการกำกับดูแลโดยรัฐ และการกำกับดูแลกันเองมารวมด้วยกันหมด แล้วอ้างว่าเป็นการกำกับดูแลร่วม ทั้งๆที่มันควรจะเป็นกิจกรรมการกำกับดูแลที่ดำเนินการกันโดยคนละภาคส่วน แต่อาจเสริมกันได้”

ผศ.ดร.พิรงรองระบุว่าสื่อเปรียบเสมือนฐานันดรที่สี่ ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยของอีกสามฐานันดรคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ดังนั้นต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำ การที่มีกฎหมายคุ้มครองสื่อฉบับนี้ขึ้นมา เป็นการเอาโครงสร้างรัฐมาควบคุม เพราะมีทั้งตัวแทนจากเจ้าหน้าที่รัฐ และมีงบประมาณของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้สื่อดำเนินการไปได้อย่างไม่อิสระ ฐานันดรที่สี่ก็จะตรวจสอบอีกสามฐานันดรไม่ได้ ผศ.ดร.พิรงรองยอมรับว่าสื่อที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีจรรยาบรรณ ตามคำกล่าวของรัฐบาลมีอยู่จริง แต่ไม่ควรมองเหมารวมและมองแต่เพียงด้านเดียว เพราะสื่อทุกวันนี้มีความหลากหลายทั้งในเชิงประเภทเนื้อหา รูปแบบการประกอบกิจการ แพลตฟอร์ม คุณภาพ และความยึดโยงกับจริยธรรมวิชาชีพ

“คิดว่ารัฐบาลไม่ได้มองว่าสื่อกระแสหลักเป็นปัญหา แต่ที่น่าเป็นห่วงจริงๆ คือสื่อออนไลน์ แต่ทุกวันนี้เราก็มี พ.ร.บ.คอมพ์มีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว เอากฎหมายที่มีอยู่เดิมมาบังคับใช้ก็ได้ ทำไมต้องมีอีก อีกอย่างคือการเอากฎหมายมาบังคับจริยธรรม มันเป็นคนละระดับกัน” ผศ.ดร.พิรงรองกล่าว

กฎหมายฉบับใหม่จึงไม่ยุติธรรมและเป็นการสร้างภาระและบรรยากาศแห่งความกลัวแก่สื่อที่มีคุณภาพและทำหน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะถูกเหมารวมและตีขลุมไปหมด หากสื่อมีปัญหาจริงๆ ก็ควรปรับแก้ ทั้งตัวสื่อเองและผู้บริโภค หรือผู้ใช้สื่อก็ต้องรู้เท่าทัน รู้แจ้ง และรู้จริง

“สื่อยุคใหม่มันไม่เหมือนแต่ก่อน มันเป็นสื่อที่ทุกคน generate เนื้อหา คือทุกคนมีส่วนร่วม การกำกับดูแลก็ยาก ดังนั้นผู้ใช้ก็ต้องรู้เท่าทัน มากกว่านั้นคือต้องรู้แจ้ง รู้จริง และผู้ประกอบการต้องสร้างกลไกให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลให้มากที่สุด เพื่อกระจายความรับผิดชอบ อย่างเว็บไซต์พันทิปซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้มาเผยแพร่เนื้อหาก็จะมีการ “จับม้า” คือจะมีกระบวนการที่ทั้งแอดมินของเว็บและผู้ใช้คนอื่นๆจะร่วมกันจับหน้าม้าที่เขียนโฆษณา แต่ทำทีว่าเป็นรีวิว ทั้งกระทู้มีแต่หน้าม้า ใช้หลายชื่อแอคเคานท์แต่จริงๆส่งมาจากเลขไอพีเดียวกัน ทำเป็นคุยกัน แบบนี้ก็จะโดนตรวจสอบและแบนไป แต่ทั้งหมดนี้ กฏหมายไม่เกี่ยวเลย” ผศ.ดร.พิรงรองระบุ

ผู้ใช้สื่อ และผู้ให้บริการตรงกลาง หรือ intermediary อย่างพันทิปดอทคอมในตัวอย่าง จึงต้องรู้แจ้งและมีการออกแบบการตรวจสอบที่เท่าทันกับผู้ผลิตสื่อ ซึ่งเรื่องแบบนี้คือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการกำกับดูแลสื่อที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ การใช้แต่กฎหมายเข้ามาควบคุมและเน้นการลงโทษ นอกจากจะไม่สร้างวัฒนธรรมในการกำกับดูแลให้เกิดขึ้นได้แล้ว ยังไม่ได้ปฏิรูปสื่อตามแนวทางที่รัฐบาล คสช.พยายามโฆษณามาตลอดด้วย

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า