รู้ลึกกับจุฬาฯ

ไขข้อสงสัย โจชัว หว่องกับความสัมพันธ์ไทย-จีน

เมื่อหลายวันมานี้ ข่าวกรณี โจชัว หว่อง ถูก ตม.ไทยปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ พร้อมกักตัวและส่งกลับฮ่องกงนำมาซึ่งความสงสัยและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดีย ล่าสุด รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศจีนเปิดเผยว่า ไทยเป็นฝ่ายตัดสินใจห้าม โจชัว หว่อง เข้าประเทศเองทำให้หลายคนมองว่าไทยกลัวจีน จึงต้องส่งโจชัว หว่อง กลับบ้านเกิด

ทั้งนี้ โจชัว หว่อง เป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยในฮ่องกง มีชื่อเสียงจากการเป็นแกนนำนักศึกษาประท้วงในเหตุการณ์ “การปฏิวัติร่ม” ในปี 2557 ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนต่อต้านรัฐบาลฮ่องกง ที่ฝักใฝ่จีนและอนุญาตให้จีนเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำประเทศซึ่งคนฮ่องกงถือว่าเป็นสิทธิของตนเองมาตลอด

โจชัว หว่อง ได้รับเชิญจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นวิทยากรในงานเสวนารำลึกครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในฐานะที่เป็นแกนนำนักศึกษาเคลื่อนไหวกิจกรรมจากต่างประเทศ แต่กลับถูกส่งตัวกลับก่อน ไม่ได้เข้าร่วมงานเสวนาอย่างที่ปรากฏในหน้าข่าว

จากการสอบถาม ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และอาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่าแท้จริงแล้ว รัฐบาลไทยไม่ได้เอาใจรัฐบาลจีน หรือกลัวจีน แต่ต้องส่งตัวโจชัว หว่อง กลับฮ่องกง เพราะเป็นไปตามข้อตกลงของสมาชิกประเทศในภูมิภาคอาเซียน ผศ.วรศักดิ์ เล่าเท้าความว่า กลุ่มประเทศในอาเซียนมีข้อตกลงร่วมกันอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ความพัวพันกันอย่างสร้างสรรค์” (Constructive Engagement) ซึ่งมีที่มาเมื่อครั้งก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สมาชิกในอาเซียนขณะนั้นต้องการให้ประเทศพม่า ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เข้าร่วมสมาชิกด้วย แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองเนื่องจากพม่าปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารที่เข้มงวด หลักการนี้จึงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกในอาเซียน ไม่ไปแทรกแซงกิจการการเมืองภายในประเทศซึ่งกันและกัน

หลังจากอาเซียนขยายตัวมากขึ้น ก็มี อาเซียนบวกสาม ซึ่งมีจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เข้าร่วมเป็นสมาชิกหลักการนี้ก็ถูกนำมาใช้อีก เช่นกัน ดังนั้นในกรณีของโจชัว หว่อง ที่เคยถูก ห้ามเข้าประเทศมาเลเซียเมื่อปีก่อนและถูกไทยห้ามเข้าประเทศอีกครั้งในปีนี้ ก็มีที่มาจากหลักการนี้ด้วย

“คือตามหลักการนี้ จะทำให้โจชัว หว่อง ไม่สามารถใช้เวทีในไทย เข้ามาพูดโจมตีหรือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของจีนได้ ถ้าไทยให้เขาเข้ามา แล้วเขาเกิดวิจารณ์จีน มันจะกระทบกับความสัมพันธ์ไทย-จีน และทำให้เพื่อนบ้านในอาเซียนไม่ไว้วางใจเรา เพราะเราทำผิดข้อตกลงที่วางกันไว้” ผศ.วรศักดิ์ระบุ พร้อมให้ความเห็นว่า รัฐบาลไทยทุกชุดไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตามน่าจะส่งตัวโจชัว หว่อง กลับฮ่องกง เพราะ “ได้ไม่คุ้มเสีย” หากปล่อยให้ นักกิจกรรมคนหนึ่งเข้ามาวิจารณ์จีน แต่ผลประโยชน์มหาศาลทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ต้องหลุดลอยไป

ผศ.วรศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของหลายๆ ประเทศในเอเชียต่างจากชาติตะวันตก ในกรณีแบบนี้ หากทางจุฬาฯ เชิญวิทยากรชาวยุโรปหรืออเมริกันเข้าร่วมงานและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตนเองสามารถกระทำได้ เพราะประเทศตะวันตกอนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่วัฒนธรรมการเมืองของเอเชียไม่ได้เป็นเช่นนี้ทำให้เกิดกรณีส่งตัวโจชัว หว่องขึ้นมา

เมื่อถามว่าทำไมจีนถึงไม่ห้ามโจชัว หว่อง ออกนอกประเทศตั้งแต่ทีแรก ผศ.วรศักดิ์ตอบว่า”มันเป็นเรื่องเล็กเกินไป เพราะเป็นแค่เรื่องคนเข้าออกประเทศ” ซึ่งหน้าที่การตัดสินใจเป็นของรัฐบาลฮ่องกง และโจชัว หว่อง ก็อาจไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์การเดินทาง ดังนั้นหน้าที่การตัดสินใจจึงตกมาเป็นของไทย

ผศ.วรศักดิ์ระบุว่า ตม.ไทยจะมีแบล็กลิสต์บุคคลที่มีแนวโน้มต้องส่งกลับ “ยกตัวอย่าง สมมุติเช่น นักกิจกรรมทางการเมืองของพม่าเข้าไทย ถ้าเข้ามาเที่ยวเฉยๆก็ไม่เป็นไร เข้าได้ แต่ถ้าเข้ามาทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลพม่าในไทยอย่างนี้ ตม.ไทยจะส่งกลับ แต่จะรู้ได้ว่าเขาเข้ามาทำอะไรในไทยก็ต้องพึ่งฝ่ายข่าวของเรา” ซึ่งกรณีของโจชัว หว่อง เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจน

ขณะที่โลกโซเชียลมีเดียวิจารณ์รัฐบาลไทยว่าเป็นลูกไล่จีน และไทยกำลังจะเสียอำนาจอธิปไตยให้จีน ผศ.วรศักดิ์กลับมองว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น “ผมมองว่า ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ไทย-จีนดำเนินไปแบบปกติ ไม่ได้ดีเด่นเป็นพิเศษ หรือต้องเลวร้ายจนต้องมาผิดข้องหมองใจกัน เพราะว่าไทยไม่ได้มีข้อพิพาทที่จะเป็นข้อขัดแย้ง เช่น ไม่มีปัญหาเรื่องพรมแดน และที่บอกว่าไม่ได้ดีเด่นเป็นพิเศษ เป็นเพราะรัฐบาลไทยไม่ได้แนบชิดกับจีน เพื่อต้องการผลประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่ คือไม่ได้มีนโยบายที่จะเอาใจจีน” ผศ.วรศักดิ์ระบุ

ผศ.วรศักดิ์ยกตัวอย่างประเทศกัมพูชา ซึ่งมีนโยบายเอาใจจีนอย่างเปิดเผย เพราะต้องการเงินช่วยเหลือแบบได้เปล่า ทุกวันนี้กัมพูชาไม่ยอมมีสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับไต้หวันซึ่ง “เป็นที่พอใจ” แก่จีน เพราะจีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนเอง ขณะที่ไทยมีความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจกับไต้หวันมายาวนาน ปัจจุบันมีแรงงานไทยจำนวนมากทำงานในไต้หวัน

“หากไทยต้องการเอาใจจีนจริงเราก็ต้องทำตัวแบบกัมพูชา ต้องทำตามที่จีนบอก ยอมจีนทุกอย่าง” พร้อมยกตัวอย่างหลักฐานเชิงประจักษ์ในกรณีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่ไทยกำลังทำข้อตกลงกับจีน แต่เกิดความล่าช้าจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาผลประโยชน์ซึ่งต่างฝ่ายไม่ยอมกัน

“ถ้าเอาใจจีนจริงๆ ป่านนี้เราได้สร้างรถไฟความเร็วสูงไปแล้ว” ผศ.วรศักดิ์ระบุ พร้อมยืนยันความคิดว่ารัฐบาลไทยไม่ได้เอาใจ หรือเกรงใจจีนในกรณีโจชัว หว่อง แต่เป็นการทำตามข้อตกลงทางการทูต ซึ่งสื่อหลายสำนักไม่เข้าใจ และเอาไปขยายข่าวให้คนเข้าใจผิดกันทั่วบ้านทั่วเมือง

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า