รู้ลึกกับจุฬาฯ

‘ฟิสิกส์’ จุฬาฯ วิชาสุดโหด จริงหรือ?

ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีคนตั้งกระทู้หนึ่งในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม จั่วหัวว่า “กระทู้นี้ ฝากถึงอาจารย์ ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาฯ”

โดยระบุว่า เป็นนิสิตที่ต้องเรียนวิชาฟิสิกส์ทั่วไป 1 ซึ่งเป็นวิชาบังคับของคณะ และทั้งๆ ที่ตนเองก็ตั้งใจอ่านหนังสือ ทำโจทย์ ให้เพื่อนและรุ่นพี่ช่วยติวเพิ่มเติม แต่กลับได้คะแนนสอบกลางภาคน้อยผู้ตั้งกระทู้ยังเล่าอีกว่า วิชานี้ผู้เรียนมีการลดรายวิชาและถอนรายวิชาเป็นจำนวนมาก มีนิสิตหลายคนเรียนซ้ำหลายรอบจนถึงระดับชั้นปีที่ 4 พร้อมทิ้งท้ายกระทู้ด้วยการขอความเห็นใจจากอาจารย์ผู้สอนในการออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และตัดเกรด หลังจากนั้นก็มีผู้เข้ามาให้ความเห็นกระทู้นี้เป็นจำนวนมาก กว่า 100 ความเห็น และมีเพจเฟซบุ๊กชื่อดังหลายแห่งนำไปต่อยอดเพื่อถกเถียงกัน

จากการสอบถาม ผศ.ดร.ปัจฉา ฉัตราภรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สอนวิชาฟิสิกส์ทั่วไป 1 หรือวิชาที่มีการกล่าวถึงในพันทิป ทำให้ได้ทราบว่า วิชานี้เป็นวิชาบังคับที่คณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ครุศาสตร์ บรรจุไว้ในหลักสูตร โดยจะเริ่มเรียนในปี 1 เทอมแรก มีนิสิตเรียนทั้งหมดมากกว่า 1,000 คน

การตัดเกรดใช้วิธีอิงเกณฑ์ ผู้ที่ได้คะแนนรวมทั้งเทอมมากกว่าร้อยละ 80 จะได้เกรดเอ ถ้าได้ต่ำกว่าร้อยละ 33 จะได้เกรดเอฟ และต้องลงเรียนใหม่ แต่ที่ผ่านมานิสิตจำนวนมากจะถอนรายวิชาทิ้งหลังจากประกาศคะแนนสอบกลางภาคเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่ลงทะเบียน เพราะเด็กทำข้อสอบไม่ได้

จากการสอนและพูดคุยกับนิสิตจำนวนมากที่มีปัญหากับวิชานี้ ทำให้ ผศ.ดร.ปัจฉาพบว่าเด็กส่วนใหญ่มีพื้นฐานความรู้ฟิสิกส์ที่ติดตัวมาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไม่แน่น ประมาทเลินเล่อในการทำข้อสอบ และ“เรียน ไม่เป็น” เช่น ไม่ฝึกทำโจทย์ อ่านแต่เฉลย เป็นต้น และนิสิตส่วนใหญ่ยังเพิ่งเข้าเรียนในชั้นปีที่ 1 ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความต่างจากการเรียนการสอนสมัยมัธยมศึกษา หลายคนปรับตัวไม่ทัน

ผศ.ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ยรรยง หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ธรรมชาติของการเรียนฟิสิกส์ ไม่เหมือนวิชาอื่น วิชาฟิสิกส์ต้องอาศัยการพินิจพิเคราะห์ ซึ่งต้องใช้ระบบความคิด ใช้เวลาในการทำ ความเข้าใจ รวมถึงต้องมีความรู้ทางคณิตศาสตร์ เพราะเปรียบเสมือน “ภาษา” ของวิชาฟิสิกส์  หากนิสิตไม่เก่งวิชาเลขก็จะมีผลตามมาที่วิชาฟิสิกส์ได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักบริหารงานวิชาการ จุฬาฯ ระบุว่า การรับตรงแบบปกติของภาคการศึกษา 2559 ของคณะวิทยาศาสตร์ทุกภาค ใช้คะแนนจากการทดสอบทั่วไป หรือ แกต ร้อยละ 20 และการสอบวิชาสามัญที่ สทศ.เป็นผู้จัดสอบ 4 วิชา คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิต วิชาละร้อยละ 20

ส่วนการรับกลาง หรือแอดมิชชั่นส์ ใช้คะแนนจีแพ็กซ์ หรือเกรดเฉลี่ยจากการศึกษาระดับมัธยมปลาย ร้อยละ 20 คะแนนโอเน็ต ร้อยละ 30 แกต ร้อยละ 10 แพต1 หรือความถนัดทางคณิตศาสตร์ ร้อยละ 10 และความถนัดทางวิทยาศาสตร์ หรือ แพต2 ร้อยละ 30 ดังนั้นแม้จะทำคะแนนวิชาฟิสิกส์ไม่ดี แต่ถ้าทำวิชาอื่นได้ดีก็ยังสอบเข้าได้ เด็กบางคนจึงทิ้งฟิสิกส์ และไปมุ่งทำคะแนนวิชาอื่นทำให้ต้นทุนความรู้ฟิสิกส์ไม่ค่อยดี

นอกจากนี้ รศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า พันธกิจ อย่างหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพไปทำงานในสังคม ดังนั้นไม่สามารถลด “มาตรฐาน” ของการเรียนการสอนและข้อสอบให้ต่ำกว่านี้ได้

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ระบุว่า ที่ผ่านมาภาควิชาฟิสิกส์และคณะก็ไม่ได้เพิกเฉยในปัญหานี้ มีการช่วยเหลือนิสิตอยู่ตลอด เช่น เปิดติวนอกรอบ เปิดคลินิกฟิสิกส์ให้อาจารย์ของภาควิชาช่วยตอบคำถามนิสิตในช่วงพักเที่ยงที่ห้องสมุด รวมถึงทดลองจัดสอบย่อย เป็นการสอบทั้งหมด 4 ครั้ง จากเดิมที่มีเพียง 2 ครั้ง พบว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง นิสิตได้คะแนนดีขึ้น แต่ทำได้เพียงปีเดียว เพราะใช้จำนวนคนจัดการและงบประมาณมาก

ศ.ดร.พลกฤษณ์ เห็นว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาร่วมที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข และยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องอาศัยเวลาในการจัดการ ซึ่งไม่ใช่การปรับเนื้อหาให้ง่ายขึ้น แต่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน หรือการถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์สู่นิสิต เสียใหม่

“ล่าสุด ภาควิชาฟิสิกส์กับคณะมีคุยกัน เราเห็นว่าต้องปรับใหม่หลายอย่าง ทั้งปรับรูปแบบการถ่ายทอด การเรียนการสอนใหม่ๆ หรือต้องจัดติวแบบใหม่ใกล้ชิดกว่าเดิมไหม เราไม่ได้โทษว่าเป็นความผิดเด็ก เพราะเด็กสมัยนี้เรียนไม่เหมือนเด็กสมัยก่อน การแก้ปัญหาต้องอาศัยการบูรณาการ ก้าวเดินไปด้วยกัน”  รศ.ดร.พลกฤษณ์ กล่าว

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า