รู้ลึกกับจุฬาฯ

4 ปีเศรษฐกิจไทยในมือรัฐบาล คสช.

ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา กระแสเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งพร้อมกับการชี้ประเด็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) ได้ดำรงตำแหน่งครบ 4 ปีแล้วนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เริ่มปรากฏเห็นเด่นชัดและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ในวาระที่เข้าสู่ปีที่ 5 ของการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ คสช. คอลัมน์รู้ลึกกับจุฬาฯ  ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงรูปแบบและการพัฒนาเศรษฐกิจในมือรัฐบาล คสช. ที่ผ่านมา

รศ.ดร.นวลน้อย ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในมือ คสช. ยังเป็นไปอย่างช้าๆ อืด และยังมีสภาพ  “ลูกผีลูกคน” ไม่มีแนวทางชัดเจนมากนัก ในช่วงระยะที่ผ่านมาของการเข้ามาดำรงตำแหน่ง เศรษฐกิจไทยถือว่ายังโตขึ้น แต่โตขึ้นเพียงปีละ ร้อยละ 2-3 ถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมากเพราะศักยภาพของประเทศสามารถโตได้มากกว่านี้ กระนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงทั้งจากกระแสเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลงานต่างๆ ของรัฐด้วย

“ยกตัวอย่างเช่นเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามาอย่างทุกวันนี้ร้านค้าปลีกเริ่มอยู่ไม่ได้แล้ว คนเดินห้างไม่จับจ่ายซื้อของไปแค่นั่งกินข้าว หันไปซื้อออนไลน์แทน” รวมถึงการมี ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบระบบดิจิทัล เช่น การจอง การซื้อตั๋วผ่านทางออนไลน์ ที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้รัฐบาลปัจจุบันต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับยุค 4.0

หนึ่งในการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลตั้งใจคือโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  (อีอีซี) ซึ่งขณะนี้กำลังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างไรก็ดี รศ.ดร.นวลน้อย ชี้ว่าการลงทุนขนาดใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ต้องอาศัยเวลาขับเคลื่อน ไม่เห็นผลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

“ถามว่าเราเริ่มช้าไปไหม มันก็ขึ้นกับว่าเราวิ่งตามรถคันไหน แต่ถ้าเริ่มแล้วก็ต้องทำ มันต้องทำ เพราะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทำให้เกิดการลงทุนใหญ่ แต่ปัญหาคือตอนนี้แผนเชิงลึก แผนพัฒนาศักยภาพเรามีไหมไม่พูดแล้วสร้างแล้วแต่ข้างในไม่มีอะไร ศักยภาพประเทศก็ไปไม่ถึงไหน”

แม้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ  Infrastructure เป็นสิ่งจำเป็น เพราะประเทศไทยทุกวันนี้มีแต่ถนนไม่มีราง ไม่มีเส้นทางการขนส่งสินค้าที่ทำให้ต้นทุนถูก และขนคนในจำนวนมาก การลงทุนระบบรางจึงเป็นการลดความแออัดและลดต้นทุนการเดินทาง คนไม่ต้องซื้อรถ อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.นวลน้อย ก็สะท้อนมาด้วยว่า ปัจจุบันยังมีการถกเถียงอภิปรายและเห็นไม่ตรงกันเรื่องระบบรางความเร็วสูง  กับความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้น

รศ.ดร.นวลน้อย ชี้ว่ารัฐบาลทำเองทุกอย่างไม่ได้ แต่มีหน้าที่หลักๆ คือการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานให้ดีและออกกฎหมายให้มีระเบียบกติกา กฎเกณฑ์ชัดเจน แต่หน้าที่การขับเคลื่อนธุรกิจคือหน้าที่ของธุรกิจขนาดต่างๆ ในท้องตลาด  โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

“ในฐานะที่รัฐบาลต้องเป็น Regulator คนออกกฎระเบียบ ต้องบอกว่ารัฐบาล คสช. ยังทำหน้าที่นี้ไม่ดีเท่าที่ควร เอื้อแต่ทุนใหญ่ ไม่เกิดการแข่งขัน พอเป็นแบบนี้เงินจะไม่กระจายไปสู่คนข้างล่าง เศรษฐกิจก็ไม่ไปด้วยกัน” มิหนำซ้ำยังออกกฎหมายและนโยบายเอื้อแต่ทุนใหญ่อีกด้วย

รศ.ดร.นวลน้อย เสริมด้วยว่า การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของระบบฐานข้อมูล ทั้งสถิติ ข้อมูลประชาชนที่เอื้อต่อการจัดทำนโยบายสวัสดิการสังคม ก็ทำให้การพัฒนาอีกหลายๆ ด้านไปไม่ถึงไหน แม้จะมีการพูดถึงระบบบัตรประชาชนแบบใหม่ที่สามารถดึงข้อมูลมาจากระบบฐานข้อมูลกลางมาใช้ได้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังพัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพ ทำให้นโยบายอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับตรงนี้ไม่ก้าวหน้าไปด้วย

“ยกตัวอย่างนโยบายแจกเงินคนจน คือถ้ารัฐทำดีๆ มี criteria ชัดเจน มีระบบฐานข้อมูลที่ดี สามารถแสดงตน คัดคนไปเรื่อยว่าเป็นคนจนจริง ต้องการเงินจริงๆ จะกลายเป็นสวัสดิการที่ยั่งยืน แต่ภาพทุกวันนี้ยังไม่ใช่ คนจนเดือดร้อน งบประมาณไม่คุ้มค่าเพียงพอ และเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น”

ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราวปีพุทธศักราช 2557 ในการออกกฎหมายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมานักต่อนัก ทั้งการกำหนดพื้นที่เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จนถึงกรณีล่าสุดการใช้มาตรา 44 ช่วยทีวีดิจิทัลให้ผู้ประกอบการสามารถพักชำระหนี้ต่อ กสทช.ได้ แต่ รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า การใช้มาตรา 44 เพื่อพัฒนา เศรษฐกิจไม่ส่งผลเกิดอะไรขึ้นในระยะยาวทั้งสิ้น

“มันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เหมือนชักกระตุกแล้วก็หยุด ไม่มีโมเมนตัมต่อเนื่อง เหมือนคุณกระตุกเชือกหรือปาหินลงไปในน้ำ ไม่มีผลอะไร” พร้อมกล่าวอีกว่า ด้วยรูปแบบเศรษฐกิจการเมืองที่ยังคงมีสภาพดังปัจจุบัน รัฐบาลจะไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้เลย

“ตราบใดที่ยังอยู่กันแบบนี้ ผูกขาดเชิงอำนาจแบบนี้ ไม่รับฟังรอบด้าน ก็ขับเคลื่อนอะไรไม่ได้ ความไม่พอใจการไม่ยอมรับก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยุคสมัยนี้ทุกคนเปิดเห็นข่าวสารกันหมด มันเหมือนรถไฟที่วิ่งไปแล้วดึงกลับไม่ได้ ดึงแล้วจะมีแรงต้านสูง ระเบิดขึ้นมา” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า