Highlights

จุฬาฯ เปิด “CUDSON” เว็บไซต์แอปพลิเคชัน ช่วยนิสิตพัฒนา Soft Skills เรียนตามถนัด ทำกิจกรรมเสริมสมรรถนะ


จุฬาฯ เปิดเว็บไซต์แอปพลิเคชัน “CUDSON” ช่วยนิสิตค้นพบและพัฒนาทักษะชีวิต คัดสรรกิจกรรมและวิชาเรียนที่เหมาะกับความต้องการ พัฒนาตนเองให้ถูกทาง เรียนสิ่งที่ใช่ ทำในสิ่งที่ชอบ เตรียมพร้อมสู่โลกการทำงานอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข


“เราเป็นคนอย่างไร เก่งด้านไหน มีความสามารถทักษะอะไร เรียนอะไรจึงจะเหมาะ จบแล้วจะทำงานอะไรดี” เหล่านี้เป็นคำถามที่นิสิตหลายคนอาจจะกำลังครุ่นคิดหาคำตอบ เพื่อที่จะได้พัฒนาตัวเองให้ตรงจุด เรียนวิชาที่ “ใช่” สมัครหรือสร้างสรรค์งานที่ “ชอบ” เหมาะกับจริตและความถนัดของตัวเอง

การรู้จักตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็อาจใช้เวลาและการเรียนรู้ผ่านชุดประสบการณ์ต่าง ๆ กว่าจะคันพบแนวทางของตัวเอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงริเริ่มและผลักดันโครงการพัฒนาเว็บไซต์แอปพลิเคชัน  “CUDSON” (คัดสรร) เพื่อให้นิสิตรู้จักตัวเองได้ชัดเจนและเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นิสิตเลือกวิชาเรียนและกิจกรรมที่เหมาะสม เป็นการเตรียมความพร้อมสู่โลกการทำงานและชีวิตในอนาคต

คุณนพรุจ  ปุญรัตนสุนทร เจ้าหน้าที่บริการการศึกษา สำนักบริหารกิจการนิสิตจุฬาฯ กล่าวถึงที่มาและเป้าหมายของการพัฒนาเว็บไซต์แอปพลิเคชัน “CUDSON” ว่า “นอกจากการเรียนรู้ทางวิชาการและทักษะเชิงวิชาการ (hard skills) ซึ่งนิสิตได้รับจากห้องเรียนปกติแล้ว นิสิตจำเป็นต้องมีทักษะชีวิต (soft skills) เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าสู่สังคมวัยทำงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหา หรือทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งแต่ละคนมีทักษะเหล่านี้แตกต่างกันไป ทำให้กระบวนการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคนต้องมีความเฉพาะ ไม่อาจทำให้เหมือนกันได้”

CUDSON เริ่มเปิดให้นิสิตได้ทดลองใช้ครั้งแรกในปี 2560 ในรูปแบบโมบายแอปพลิเคชัน แต่ด้วยความซับซ้อนของระบบ และความยาวของแบบประเมินที่ผู้ใช้ต้องทำถึง 40 นาที ทำให้การใช้งานค่อนข้างยาก ทางสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ จึงได้ปรับปรุงระบบให้ใช้งานง่ายขึ้นในรูปแบบเว็บไซต์แอปพลิเคชัน ซึ่งเปิดใช้เมื่อปลายปี 2565 และมีนิสิตเข้ามาใช้งานแล้วกว่า 4,000 คน

“คัดสรร” กิจกรรมและรายวิชาเพื่อการเรียนรู้เฉพาะตน

เว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON มีฟังก์ชันหลากหลายรูปแบบ โดยฟังก์ชันหลักจะเป็นเรื่องการทำแบบประเมินเพื่อให้นิสิตรู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นแบบประเมิน 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ แบบประเมินด้านการเรียน และแบบประเมินด้านกิจกรรม

คุณนพรุจ กล่าวว่าการทำแบบประเมินใช้เวลาทำเพียง 6 นาที แล้วระบบจะประมวลผลคำตอบเป็นค่าคะแนนตามสมรรถนะ 6 ประเภท ซึ่งล้วนเป็นทักษะชีวิต หรือ soft skills ได้แก่ ทักษะการจัดการตัวเอง (Self-management) ทักษะการจัดการอารมณ์ (Emotion Management) ทักษะการสื่อสาร (Communication) ทักษะการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) และทักษะการขับเคลื่อนสังคม (Social transformation)

การประเมินของเว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON
การประเมินของเว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON
การแสดงผลการประเมิน
การแสดงผลการประเมิน

“การประเมินค่าสมรรถนะจะทำให้นิสิตรู้ว่าตนเองมีสมรรถนะและความสามารถทางด้านใด และสิ่งใดที่ยังต้องพัฒนา เพื่อเตรียมความพร้อมตัวเองให้เดินสู่เป้าหมายชีวิตในอนาคต ซึ่งเว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON ก็จะได้แนะนำกิจกรรมและรายวิชาที่เหมาะสมให้กับนิสิตเป็นรายบุคคล” คุณนพรุจ กล่าว อีกทั้งเสริมว่ากิจกรรมและรายวิชาต่าง ๆ ที่ CUDSON นำเสนอมีทั้งที่กิจกรรมที่จัดโดยมหาวิทยาลัย รายวิชาศึกษาทั่วไป (GenEd) คอร์สอบรม CUVIP และคอร์สเรียนออนไลน์ Chula MOOC

การแนะนำกิจกรรม
การแนะนำกิจกรรม

คัดสรร “หาประสบการณ์”

สำหรับนิสิตที่ชัดเจนในสมรรถนะและแนวทางการพัฒนาตัวเองแล้ว ก็สามารถเข้าไปหารายวิชาและกิจกรรมที่ตนเองสนใจได้ ที่ฟังก์ชัน “หาประสบการณ์” เพื่อส่องดูข้อมูลเกี่ยวกับรายวิชา คอร์ส และกิจกรรมทั้งหมด ที่จุฬาฯ เปิดรับสมัคร

“ในเว็บฯ เราจะให้ข้อมูลว่าแต่ละกิจกรรม คอร์สเรียน และรายวิชา จะช่วยนิสิตเสริมสร้างและพัฒนาสมรรถนะด้านใดบ้าง ซึ่งถ้านิสิตมีในใจแล้วว่าทักษะใดที่อยากพัฒนา ก็เข้ามาดูที่นี่ จะได้รู้ว่าวิชาหรือกิจกรรมที่เราสนใจนั้นจะช่วยส่งเสริมสมรรถนะในแบบที่เราต้องการหรือเปล่า”

การแนะนำกิจกรรมและคอร์สเรียน
การแนะนำกิจกรรมและคอร์สเรียน

คัดสรร “สำรวจอาชีพ” ที่ชอบ

ฟังก์ชัน “สำรวจอาชีพ” มีเพื่อให้นิสิตได้รู้จักกับอาชีพที่ตัวเองหมายตาหรือสนใจ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะงาน สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนั้น ทักษะและความรู้ที่จำเป็นต่ออาชีพ ตลอดจนไลฟ์สไตล์ชีวิตในการทำงาน

“ส่วนนี้เป็นการแนะนำให้นิสิตได้รู้จักอาชีพหรือสายงานต่าง ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร ใช้ความรู้ ทักษะอะไร นิสิตจะได้ดูว่าสนใจหรือชอบอาชีพนั้น ๆ หรือไม่ ทักษะและความรู้ที่ตัวเองมีสอดคล้องกับอาชีพนั้นหรือไม่ ถ้าชอบใจอาชีพนั้น ๆ นิสิตจะต้องหาประสบการณ์และฝึกฝนทักษะอะไร” คุณนพรุจ อธิบาย

การสำรวจอาชีพ
การสำรวจอาชีพ

คัดสรร “งานที่ใช่” ให้คนที่ใช่

แนวทางการประเมินสมรรถนะทั้ง 6 ประเภทบนเว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON ยังมีประโยชน์ในการรับสมัครงาน เพื่อคัดสรร “คนที่เหมาะกับงาน” ในงาน CU JOB & Higher Education Fair Online 2022 ที่สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 – 25 มีนาคม 2565

“เราขอให้บริษัทและผู้ประกอบการที่มารับสมัครนิสิตในงาน Job Fair ทำ Spider Chart ตามความสามารถที่ CUDSON กำหนดตามตำแหน่งที่รับสมัคร เพื่อที่นิสิตจะได้เห็นภาพของตัวเองเปรียบเทียบกับความคาดหวังขององค์กรที่มาเปิดรับสมัคร และให้เห็นแนวทางการพัฒนาตัวเองถ้าต้องการทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ หรือตำแหน่งงานนั้นเหมาะกับนิสิตหรือไม่ นิสิตจะได้พบอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง เห็นเป้าหมายในการเข้าทำงาน ส่วนผู้ประกอบการก็จะได้นิสิตที่มีคุณลักษณะเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่เปิดรับ”

“คัดสรร” ส่งเสริมการพัฒนาตนเองตลอดชีวิต

อนาคตอันใกล้ เว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON จะมีเวอร์ชันภาษาอังกฤษสำหรับนิสิตต่างชาติ นอกจากนี้ คุณนพรุจ เผยอีกว่าสำนักบริหารกิจการนิสิตจะเชื่อมโยงกับการใช้งานส่วนอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย และร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อออกแบบกิจกรรมเพื่อให้นิสิตได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้พัฒนาตัวเองได้จริง และมีความสุขกับการทำกิจกรรม

“นอกจากการพัฒนาด้านการใช้งานแล้ว เราก็จะพัฒนาให้ข้อมูลและแบบประเมินมีความทันสมัยอยู่เสมอ ค่าสมรรถนะที่ใช้เป็นเกณฑ์ประเมินจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อมาถึงยุคหนึ่งแล้ว  ความสามารถบางอย่างอาจจะไม่จำเป็น เราก็จะเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป”

สุดท้าย คุณนพรุจ เชิญชวนให้นิสิต จุฬาฯ ทำแบบประเมินกับเว็บไซต์แอปพลิเคชัน  “CUDSON” ทุกปี เพื่อติดตามดูพัฒนาการด้านความรู้และสมรรถนะด้านต่าง ๆ ของตนเอง รวมถึงมุมมองความคิดที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุ เพราะนี่คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นิสิตที่สนใจสามารถเข้าใช้บริการเว็บไซต์แอปพลิเคชัน CUDSON ได้ 2 ช่องทาง คือ 1) เชื่อมต่อจากแอปพลิเคชัน CUNEX และ 2) เว็บไซต์ https://cudson.chula.ac.th/

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า