Highlights

Aging Gracefully นักจิตวิทยาจุฬาฯ แนะ Mindset เผชิญความชราอย่างสง่างาม


แนวคิด Aging Gracefully คืออะไร? การเผชิญความชราอย่างสง่างาม ทำได้อย่างไร? อาจารย์นักจิตวิทยาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคำตอบ สำหรับผู้ที่กำลังจะก้าวสู่สังคมสูงวัย ให้มีความมั่นใจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต


ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยสมบูรณ์นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยมีประชากรวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กว่า 20% ของประชากรในประเทศ แม้ว่าการมีชีวิตยืนยาวจะหมายถึงสัญญาณของการมีสุขภาพที่ดี แต่อายุที่เพิ่มขึ้นก็เต็มไปด้วยความรู้สึกกดดันทางอารมณ์ด้วยเช่นกัน อาทิ ความกังวลต่อรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไป ความกลัวที่จะสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเอง หรือกลัวต้องเจ็บป่วยรุนแรงเมื่อเข้าสู่วัยชรา

เมื่ออายุมากขึ้น หลายคนๆ อาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของตัวเอง เช่น ริ้วรอย ความหย่อนคล้อย กระ ฝ้า ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ฯลฯ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรากำลังแก่ตัวลง และเมื่อถึงวัยสูงอายุ (ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน ทั้งทางร่างกาย สมอง อารมณ์ และการเข้าสังคม วัยชราจึงเป็นวัยที่คนส่วนใหญ่กลัว

Aging Gracefully ก้าวสู่วัยชราอย่างไรให้สง่างาม

“ช่วยเลิกใช้คำว่า anti-aging กันได้แล้ว ฉันเป็น pro-aging ฉันรักอายุที่เพิ่มขึ้น ฉันอยากที่จะแก่ไปพร้อมสติปัญญาและความสง่างาม มีศักดิ์ศรี มีความกระตือรือร้น มีพลัง และฉันไม่ต้องการที่จะซ่อนตัวจากความชรา” เจมี ลี เคอติส นักแสดงวัย 63 ปี ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ปีล่าสุด (2023) ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ Everything Everywhere All At Once เคยกล่าวในที่ประชุม The Radically Reframing Aging Summit ปี 2022

การปรากฎตัวบนเวทีออสการ์ซึ่งถือได้ว่าเป็นเวทีแห่งความสำเร็จสูงสุดของอาชีพนักแสดง ยืนยันคำกล่าวของเธอที่ว่าภาวะสูงวัยไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อสุขภาพ ความสุข และความสำเร็จในชีวิต

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Aging Gracefully” หรือ Pro Aging Movement” ผ่านหูมาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสื่อต่างประเทศ ซึ่งเป็นกระแสที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่นดารานักแสดงหลายคนที่ประกาศตัวว่าพึงพอใจกับรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไปตามวัย และยืนยันที่จะไม่ทำศัลยกรรมหรือปกปิดริ้วรอยแห่งวัยเพื่อให้ตัวเองดูหนุ่มสาวลง อาทิ โอปราห์ วินฟรีย์ ดรูว์ แบรีมอร์ นาโอมิ แคมป์เบล รีส วิทเธอสปูน เพเนโลพี ครูซ ฮัลลี เบอร์รี เจนนิเฟอร์ อนิสตัน เคท วินสเลท ชารอน สโตน คาเมอรอน ดิอาซ กวินเน็ท พัลโทรล ฯลฯ

คำว่า Aging Gracefully เป็นคำสละสลวยที่มักถูกใช้เพื่อสื่อความหมายถึงคนที่แม้จะดูมีอายุแต่ก็ยังดูดี ดูแข็งแรง งดงามตามวัย หรือมีสัญญาณแห่งวัยปรากฏให้เห็นแต่ก็ยังมีความสุขกับการใช้ชีวิต แม้จะฟังๆ ดูเกือบจะเป็นลบ เพราะมุ่งแต่พูดถึงแต่การยึดติดกับความงามหรือภาพลักษณ์ภายนอก แต่ Aging Gracefully ยังหมายความถึงสติปัญญาหรือทัศนคติได้ด้วย หมายถึงปัญญาและประสบการณ์ที่งดงามที่เพิ่มขึ้นตามแต่ละช่วงของชีวิต

Dr. Nipat Pichayayothin

อ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ และผู้เชี่ยวชาญศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life Di) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในการศึกษาด้านจิตวิทยาพัฒนาการ นักจิตวิทยาพบว่าความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับวัยไหน ความยากง่ายหรือเร็วช้าในการปรับตัวจะขึ้นอยู่กับบุคคลเสมอ ซึ่งในแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป มองได้ทั้งแบบที่เป็นปัญหาและไม่เป็นปัญหา แต่จากประสบการณ์ของตัวอาจารย์เอง ผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยมักจะมาพร้อมกับการปรับตัวที่ดี

“บางคนที่มีองค์ความรู้ในการดูแลตัวเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และยิ่งมีทุนทรัพย์ในการดูแลรูปลักษณ์ภายนอก ก็อาจจะสามารถชะลอความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นช้าลงได้ เทรนด์ที่เกิดขึ้นก็คือ คนส่วนใหญ่จะไม่รอให้เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงค่อยแก้ปัญหา แต่จะเริ่มสนใจหาข้อมูลตั้งแต่ในวัยทำงานเกี่ยวกับศาสตร์ชะลอวัยต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น”

Aging Gracefully ในมิติที่มากกว่าเรื่องของความงาม

อ. ดร.นิปัทม์  ยังกล่าวอีกว่าเรื่องของ Aging Gracefully นั้น สามารถมองได้ในหลายมิติ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะให้คุณค่ากับเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ยกตัวอย่างเช่น ดารานักแสดงบางคนที่จะไม่แต่งหน้าเลย หรือปล่อยให้ผมขาว เพราะเขารู้สึกพอใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น โจทย์ตั้งต้นควรจะเป็นคำถามที่ว่า คำว่า gracefully ในความหมายของแต่ละคน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เพราะแต่ละคนก็มีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน

“บางคนอาจจะเช็คตัวเองในกระจกทุกวัน เพราะรักในรูปลักษณ์และการดูแลตัวเองเป็นอย่างดี แล้วนำมาซึ่งความภูมิใจในตัวเอง แต่กลับบางคนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกขนาดนั้น หลายๆ คนเป้าหมายในชีวิตของเขาไม่ได้อยู่ที่เรื่องของความสวยความงาม แต่ให้คุณค่ากับเรื่องอื่น ๆ แทน” อ. ดร.นิปัทม์ กล่าว

Aging Gracefully จึงไม่ได้หมายถึงการที่เราอายุเพิ่มขึ้นแล้วยังดูหนุ่มดูสาวหรือมีรูปลักษณ์ที่งดงามเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วยการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมด้วย

Successful Aging แนวคิดเพื่อนำไปสู่การเป็นผู้สูงวัยที่ปรารถนา

อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจที่ อ. ดร.นิปัทม์ ได้กล่าวถึงนั้นคือ การเป็นผู้สูงวัยที่ประสบความสำเร็จ (Successful Aging) ซึ่งหมายถึงความสามารถที่จะคงความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของตนเอาไว้ แม้ในยามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น โดยอัตลักษณ์ดังกล่าวเกิดจากแนวคิดที่ว่า ฉันมองตัวเองเป็นอย่างไร และอยากจะเติบโตไปเป็นผู้สูงวัยแบบไหน

“ผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จจะค่อยๆ นำพาตัวเองเข้าไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอุดมคตินั้น ๆ เพราะการสูงวัยไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจสำหรับเจ้าตัว มันเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ว่าจะมันจะต้องเกิดขึ้น และโดยธรรมชาติ ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักจะปรับตัวได้ แต่หากความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยที่เจ้าตัวไม่ทันได้สังเกต หรือเริ่มมีฟีดแบ็คจากข้างนอกเข้ามาสั่นคลอนข้างใน ก็อาจจะเกิดความหงุดหงิด สับสน และความทุกข์ใจได้เช่นกัน

ซึ่งก็ต้องกลับไปดูในแต่ละเคสว่า ต้นตอของความรู้สึกไม่มั่นคงเหล่านั้นเกิดจากอะไร บางทีเราอาจจะเจอในรูปแบบของการถูกลดเกียรติ ถูกลดคุณค่า คือจากคนที่เคยทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ต้องมาพึ่งพาลูกหลาน ซึ่งเป็นเรื่องของการสูญเสียตัวตน ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ”

อ. ดร.นิปัทม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อดีของคนเจน X และเจน Y ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยก็คือ มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้มากขึ้น ได้เห็นตัวอย่างของผู้สูงวัยที่ประสบความสำเร็จในอดีตจำนวนมาก รวมถึงตัวอย่างอื่น ๆ ทั้งที่ดีและไม่ดีในหลายๆ มิติ ซึ่งก็กลับไปสู่คำถามที่ว่า เราอยากจะเป็นผู้สูงวัยแบบไหนในสายตาของตัวเองและคนรอบข้าง

“การไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น เป็นหลักทั่วไปอยู่แล้วในการมี well-being ที่ดี ในเรื่องของการสูงวัยก็เช่นเดียวกัน แต่ละคนก็มีต้นทุนมาไม่เท่ากัน แต่เชื่อว่าเมื่อเราอายุมากขึ้น การยอมรับในเรื่องความแตกต่างจะมีมากขึ้น และความคิดเปรียบเทียบจะไม่ใช่ประเด็นหรือปัญหาที่สำคัญอะไรขนาดนั้น”

Mindset ที่ดีต่อการเข้าสู่ภาวะสูงวัย

การมี mindset เชิงบวกต่อภาวะสูงวัย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการก้าวไปสู่การเป็นผู้สูงวัยที่สง่างาม และต่อไปนี้คือตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของกรอบความคิดเชิงบวก ที่จะช่วยให้ผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุได้อย่างมีความสุขและสง่างาม

  • น้อมรับความเปลี่ยนแปลง – เมื่ออายุมากขึ้น เราจะต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย ทั้งทางร่างกาย รูปลักษณ์ และจิตใจของ การยอมรับและน้อมรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ สามารถช่วยให้เราคิดบวกและจดจ่อกับสิ่งที่เรายังสามารถทำได้ แทนที่จะใช้เวลาไปกับการกังวลถึงสิ่งที่เราเคยทำได้เมื่อยังแข็งแรงหรืออ่อนเยาว์กว่านี้
  • ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ – การเรียนรู้สิ่งใหม่และการได้ทดลองประสบการณ์ใหม่ ๆ จะทำให้เรารู้สึกกระตือรือร้นในชีวิต และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับคนอื่น ๆ รอบตัว ซึ่งจะช่วยให้เรารักษาเป้าหมายของการเป็นผู้สูงวัยอย่างสง่างามและมีความสุขได้
     
  • รักษาเครือข่ายทางสังคมเอาไว้ – การได้พูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว เครือญาติ เพื่อน และคนอื่น ๆ ในสังคม สามารถช่วยให้เรารักษาทัศนคติเชิงบวกและ emotional support หรือกำลังใจที่ดีได้
  • มีความสำนึกรู้คุณ (gratitude) ต่อสิ่งต่าง ๆ – ฝึกขอบคุณตัวเองและคนรอบตัว เห็นคุณค่าของการมีชีวิตและการเติบโตเป็นผู้สูงวัย ชื่นชมประสบการณ์ที่ผ่านมา และพอใจในสิ่งที่มี โดยการมุ่งเน้นไปที่พลังบวกในชีวิต ก็จะสามารถช่วยให้เรารักษา mindset ที่ดีเอาไว้ได้เหมือนกัน
  • ดูแลสุขภาพร่างกายอย่างดีที่สุด – รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง และยังสามารถพึ่งพาตัวเองได้แม้เมื่ออายุมากขึ้น

Mindset เชิงบวกต่อภาวะสูงวัยโดยสรุปก็คือ การมองโลกในแง่ดี การมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงตัวเองกับชุมชนและสังคม การมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและภูมิใจในตัวเอง เพื่อให้เรามีอายุยืนยาวและมีความสุขกับทุกสถานการณ์ในชีวิต ดังนั้นการได้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าวก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า