Highlights

เปิดมุมมอง “อินเดียใหม่” โอกาสที่คนไทยควรรู้ กับศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาฯ ทางด่วนเชื่อมสัมพันธ์ไทย-อินเดีย

ศูนย์อินเดียศึกษา จุฬา

ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสมือน Hub ที่เชื่อมสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างชาวอินเดียและไทย อีกทั้งยังเป็นคลังความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับอินเดีย ทั้งอินเดียโบราณ อินเดียร่วมสมัย อินเดียใหม่ในมิติต่าง ๆ แนะคนไทยปรับเลนส์การมองอินเดีย ลดอคติ เน้นตั้งเป้ามองหาโอกาสชัดเจนจะสามารถคว้าโอกาสความร่วมมือจาก “อินเดียใหม่” ได้ก่อนใคร


อินเดียในวันนี้ไม่เหมือนเดิมและจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ด้วยศักยภาพภายในประเทศและนโยบายของรัฐที่มุ่งสร้าง “อินเดียใหม่” หรือ “New India” ทำให้ทุกวันนี้ อินเดียได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้วยขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก (ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก) และด้วยจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกกว่า 1.4 พันล้านคน แซงหน้าสาธารณรัฐประชาชนจีนไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ทำให้อินเดียอุดมไปด้วยแรงงานวัยหนุ่มสาว และความต้องการด้านการบริโภค (Demand) ภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดีย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงอินเดียใหม่ว่า “อินเดียในวันนี้เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมาก และในอีก 10 ปีข้างหน้า อินเดียจะเปลี่ยนไปมากกว่านี้อีก ไม่มีใครมาหยุดยั้งการพัฒนาของอินเดียได้”

Surat Horachaikul
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุล
ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อินเดีย คือตลาดใหญ่ของโลก คือโอกาสการลงทุน อินเดียใหม่มีโอกาสความร่วมมือเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งคนไทยควรปรับเลนส์มองอินเดียเพื่อจะเห็นและคว้าโอกาสจากอินเดียใหม่ให้ได้ก่อนใคร ๆ โดยลดอคติในการมองอินเดียลงก่อน เปิดใจกว้างเพื่อเข้าใจความเป็นอินเดีย ซึ่งจะทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อีกมาก”

ทั้งนี้ อาจารย์สุรัตน์ได้กล่าวถึงปัจจัยที่สร้างความเป็นอินเดียใหม่ที่คนไทยควรรู้และเปิดมุมมอง รวมถึงโอกาส อุปสรรค และความร่วมมือที่เพิ่มขึ้น และอาจเพิ่มได้อีกในอนาคตระหว่างอินเดีย-ไทย

นเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดียใหม่

ทุกรัฐบาลของอินเดีย มีความพยายามที่จะพาอินเดียไปสู่สิ่งที่เรียกว่าอินเดียใหม่ เน้นความต่อเนื่องในการพัฒนาเศรษฐกิจ และระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของประเทศ โดยเฉพาะภายใต้การนำนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่ครองตำแหน่งนี้ถึงสองสมัยติดต่อกัน ทำให้การขับเคลื่อนอินเดียใหม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมเข้าถึงสัมผัสได้ด้วย “มือถือ”

อาจารย์สุรัตน์ทำท่ายกมือถือขึ้นมาพร้อมกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า “ถ้าพูดถึงนายกนเรนทรา โมดี เราต้องนึกถึง “มือถือ” ก่อนเลย เพราะหลาย ๆ บริการของรัฐจะถูกรวมไว้ในแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อให้ประชาชนสะดวกในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ เช่น การฉีดวัคซีน การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบริการของรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ นายกนเรนทรา โมดี ตั้งใจจะสร้างอินเดียใหม่ ที่มีสาธารณูปโภคพร้อมและเชื่อมต่อทั้งสนามบิน รถไฟ ถนน ไฟฟ้า ประปา รวมถึงกฎกติกาการลงทุน ที่ทำให้ชาวอินเดียมีความภูมิใจในความเป็นเอเชียที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อเดินตามตะวันตกอย่างเดียว”

7 นโยบายสู่ความเป็น New India

อาจารย์สุรัตน์ ขยายความ New India ว่าเป็นแนวคิดการพัฒนาประเทศอินเดีย ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้นำพาอินเดียก้าวสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจมูลค่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 โดยมีนโยบายสำคัญ 7 ข้อ ดังนี้

  1. นโยบาย Digital India พัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยงานราชการ และเตรียมพร้อมประชาชนสู่สังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร และมุ่งสร้างผู้ใช้อินเตอร์เน็ตให้เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 พันล้านคน
  2. นโยบาย Skills India สร้างแรงงานมีฝีมือจำนวน 19 ล้านคน
  3. นโยบาย Startups India สร้างระบบนิเวศสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นหรือธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startups)
  4. นโยบาย Jan Dhan Yojana เพิ่มบัญชีธนาคาร 300 ล้านบัญชี
  5. นโยบาย Smart Cities มุ่งพัฒนาเมืองอัจฉริยะกว่า 100 เมือง ที่มีระบบปกครองท้องถิ่นที่ดี มีระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบการขนส่งที่ดี ตลอดจนมีที่พักอาศัยที่เหมาะสมและมีระบบกำจัดสิ่งสกปรก และขยะมูลฝอยที่ทันสมัย
  6. นโยบาย Clean India ส่งเสริมการรักษาความสะอาดและการสร้างห้องสุขาแก่ครัวเรือนและหมู่บ้านทั่วอินเดีย
  7. นโยบาย Make in India ยกระดับประเทศสู่ศูนย์กลางการผลิตของโลก มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรม 25 สาขา ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์อากาศยาน เทคโนโลยีเคมีชีวภาพ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เครื่องจักร ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปอาหาร IT และ Business Process Management (BPM) เครื่องหนัง สื่อและอุตสาหกรรมบันเทิง เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซ ยารักษาโรค ท่าเรือ รถไฟ พลังงานหมุนเวียน ถนน อวกาศ สิ่งทอและเสื้อผ้า ไฟฟ้าระบบพลังงานความร้อน การท่องเที่ยวและการบริการ และสุขภาพโดยมีการดำเนินโครงการต่าง ๆ ควบคู่ไป อาทิ โครงการอำนวยความสะดวกด้านการประกอบธุรกิจ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานทดแทน ระบบโลจิสติกส์ และระเบียงอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ชาวอินเดียในเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน
ชาวอินเดียในเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน ณ นครมุมไบ

3D ฐานการขับเคลื่อนสู่อินเดียใหม่

อาจารย์สุรัตน์ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า “อีก 10 ปีข้างหน้าอินเดียจะเปลี่ยนไปมากกว่าเดิมอีก ไม่มีใครมาหยุดยั้งการพัฒนาของอินเดียได้” คำกล่าวนี้มาจากความเชื่อมั่นในรากฐานของการขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง หรือที่เรียกย่อว่า “3D”  ได้แก่

  • D1: Demography ประชากรที่มีวัยทำงานจำนวนมาก และถือเป็น Top large demography of the world  
  • D2: Demand อุปสงค์ หรือกำลังซื้อภายในประเทศที่สูงถึง 1.4 พันล้านคน
  • D3: Democracy ประชาธิปไตย คนอินเดียมีความยึดมั่นในรัฐธรรมนูญมาก กระทั่งการสาบานเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองก็ต้องสาบานตนกับรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สาบานตนกับคัมภีร์ทางศาสนาแบบที่หลายประเทศมักทำกัน”

“คนอินเดียเห็นรัฐธรรมนูญเป็นที่พึ่งสำคัญของคนอินเดียได้ หากไม่พอใจรัฐบาล ประชาชนก็สามารถออกมาประท้วงได้ตามสิทธิพื้นฐานภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นต้นมา ประเทศอินเดียยังไม่เคยมีการรัฐประหาร หรือฉีกเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่เลย เพราะรัฐธรรมนูญอินเดียเป็นรัฐธรรมนูญที่มีชีวิต มีความยืดหยุ่น เปิดช่องให้แก้ไขปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมได้โดยง่าย เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมแต่ละยุคสมัย และรองรับความแตกต่างหลากหลายอย่างมาก จุดเด่นนี้ทำให้รัฐธรรมนูญอินเดียมีความเก่าแก่ยาวนานฉบับหนึ่งของโลก” อาจารย์สุรัตน์กล่าว

อดีต-ปัจจุบัน สายสัมพันธ์อินเดีย-ไทยที่ไหลลื่นสู่อนาคต

อาจารย์สุรัตน์ กล่าวถึงสายสัมพันธ์ระหว่างชาวอินเดียและชาวไทยที่มีมาแต่โบราณในหลายมิติ ทั้งในแง่ภาษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อาหาร การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ฯลฯ

“ในอดีตไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดียในแง่การศึกษา ภาษาบาลีสันกฤต  ศาสนาไม่ว่าจะเป็นพรามณ์ ฮินดู พุทธ”

“ในปัจจุบัน สายสัมพันธ์อินเดีย-ไทยยังคงเชื่อมต่ออย่างไหลลื่น ผ่านการเดินทางและการท่องเที่ยวที่สะดวกมากขึ้น ภาพยนตร์อินเดียที่ฉายในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น คังคุไบ พระพุทธเจ้า สลัมด็อก มิลเลียนแนร์ เป็นต้น เทคโนโลยีนวัตกรรม ICT ที่มีฐานการผลิตที่อินเดีย ผลิตภัณฑ์ยาและเภสัชกรรมภูมิปัญญาของอินเดียที่คนไทยก็นิยมซื้อติดมือเมื่อไปเยือนอินเดีย และในทางกลับกัน คนอินเดียจำนวนไม่น้อยก็หลงเสน่ห์สินค้าไทย อาทิ เฟอร์นิเจอร์ไทย อาหารไทย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง และสถานที่พักผ่อนหลายแห่งในประเทศไทยที่ชาวอินเดียนิยมพาครอบครัวมาเที่ยว”

“คนไทยเชื้อสายอินเดียที่อยู่ในภาคธุรกิจก็มีส่วนร่วมในการเผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียด้วย อย่างการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมอินเดีย หรือ ICCR’s Swami Vivekananda Cultural Centre (ICCR in Thailand) ที่ตั้งชื่อตาม ท่านสวามี วิเวกานันท์ ผู้นำทางจิตวิญญาณที่สำคัญคนหนึ่งของอินเดีย ศูนย์นี้ตั้งอยู่ที่ย่านอโศก เปิดสอนภาษาฮินดี เรียนตีกลองอินเดีย ระบำอินเดีย ภารตนาฏยัม ซึ่งค่าเรียนถูกมากแทบจะให้ฟรี หลักสูตรละ 100-200 บาทเท่านั้น สาเหตุที่เก็บเพื่อต้องการให้คนที่ลงทะเบียนเรียนตั้งใจเรียน ไม่ทิ้งขว้างไปกลางทางเสียก่อน” อาจารย์สุรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียเองก็เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียในประเทศไทยด้วย เช่น การจัดงานวันโยคะโลก ที่เปิดให้ประชาชนมาเรียนรู้การออกกำลังกายแบบโยคะจากต้นตำรับอินเดีย ซึ่งได้รับความสนใจทั้งจากคนไทยและคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หรือการจัดงานวันฮินดีโลกที่เปิดให้คนไทยได้เรียนภาษาฮินดี รวมถึงเมื่อไม่นานมานี้ สมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย (Indian Association of Thailand: IAT) ก็ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชน จัดงานดิวาลี ณ ย่านลิตเติ้ลอินเดีย คลองโอ่งอ่าง พาหุรัด ซึ่งเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของชาวไทยเชื้อสายอินเดียอีกด้วย  

ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ เรียนรู้และรับอิทธิพลจากกันและกันมาอย่างต่อเนื่อง ในด้านศิลปวัฒนธรรม ภาษา อาหาร การท่องเที่ยว จิตวิญญาณ ภูมิปัญญาความรู้และสุขภาพ แต่ในด้านเศรษฐกิจและการค้านั้นยังคงมีอุปสรรคอยู่

“ความสัมพันธ์ในมิติการค้าระหว่างอินเดียไทยมีอุปสรรคอยู่บ้างในระดับรัฐบาล ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับอินเดียยังไม่บรรลุข้อตกลง ซึ่งจุดนี้ ยิ่งไทยช้า ก็จะยิ่งเสียโอกาสไปเรื่อย ๆ” อาจารย์สุรัตน์ กล่าวสะท้อนข้อห่วงใย “แต่เราก็ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยอย่างจุฬาฯ ก็พยายามพัฒนาความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร และส่วนรวมนำหน้า (รัฐบาล) ไปก่อน”

ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาฯ ทางด่วนเชื่อมสัมพันธ์อินเดีย-ไทย

แม้ความร่วมมือด้านการค้าและในระดับรัฐจะยังสะดุด แต่ความร่วมมือด้านอื่น ๆ ระหว่างอินเดีย-ไทยยังคงเดินหน้า อย่างที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ก่อตั้งศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาฯ ขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและอินเดีย

“ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ มุ่งช่วยให้สาธารณชนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับอินเดีย ทั้งอินเดียโบราณ อินเดียร่วมสมัย อินเดียใหม่ในมิติต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้งเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ เราหวังให้ที่นี่เป็นเหมือน Hub ศูนย์กลางเชื่อมสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างชาวอินเดียและไทย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักธุกิจ นักการทูต นิสิต ศิษย์เก่า และประชาชนทั่วไป เราจึงมีทั้งเครือข่ายคนไทยเชื้อสายอินเดียในไทย และคนไทยในอินเดียที่พร้อมให้ความช่วยเหลือกันและกัน”

อาจารย์สุรัตน์ ยกตัวอย่างเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อินเดีย “ตอนที่โควิดระบาดหนัก ๆ เราก็สร้างเครือข่ายร่วมกับเพื่อนคนไทยที่นับถือศาสนาซิกซ์ในอินเดีย ให้ความช่วยเหลือคนไทยในอินเดียที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากสถานเอกอัครราชทูต และกงสุล ซึ่งความช่วยเหลือนี้ก็เผื่อแผ่ถึงคนเชื้อชาติ ศาสนาอื่น ๆ ที่เจ็บป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลด้วย การทำงานนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนตัวชี้วัดใด แต่เราทำตามมโนธรรมที่มีต่อเพื่อนมนุษย์”

นอกจากความรู้และเครือข่ายสายสัมพันธ์อินเดีย-ไทยแล้ว ศูนย์ฯ ยังมีเปิดกว้างให้คำปรึกษาและยินดีร่วมมือกับกลุ่มหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น ในฐานะเครือข่ายคลังสมองด้านนโยบายของบิมสเทค (BNPTT) ศูนย์ฯ ให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมแก่หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และอื่น ๆ   

 “เมื่อมีคนติดต่อขอให้ช่วยในเรื่องที่เราช่วยได้ เรายินดีช่วยเต็มที่ ไม่เคยปฏิเสธเลย ตราบใดที่เราอยู่ในสังคมเดียวกัน และอยากร่วมกันทำเรื่องมีประโยชน์แก่สังคมก็ให้มาที่ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาฯ ได้เสมอ นี่คือจุดยืนของเรา”

สำหรับนิสิต และบุคคลทั่วไปที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับอินเดีย อาจารย์สุรัตน์ กล่าวเชิญชวนและแนะนำให้ไปที่ “จุฬาฯ ภารัตคดีสถาน” ชั้น 6 สำนักงานวิทยทรัพยากร (หอสมุดกลาง)

“จุฬาฯ ภารัตคดีสถาน เป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมหนังสือที่เกี่ยวข้องกับอินเดียศึกษา ทั้งด้านศิลปกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เรามีหนังสือทรงคุณค่าและหายากเกี่ยวกับอินเดียนับ 1,000 เล่ม ทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งบางเล่มไม่มีตีพิมพ์ในประเทศไทย เราหวังว่าในอนาคต มุมนี้จะเป็นมุมที่มีหนังสือเกี่ยวกับอินเดียมากที่สุดในประเทศไทย” (ผู้ที่สนใจสามารถรายชื่อและสถานะการยืมของหนังสือในมุมนี้ทั้งหมดได้ ที่นี่ )

สำหรับประชาชนที่สนใจข่าวสารวัฒนธรรมอินเดีย สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาฯ และรายการปกิณกะอินเดีย – รายการที่ชวนมองอินเดียด้วยเลนส์ใหม่ ครอบคลุมประเด็นทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองการต่างประเทศ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 10.30 – 10.55 น. ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ 101.5 MHz (รับฟังย้อนหลังได้ที่ https://curadio.chula.ac.th/v2022/program/main/?f4s5j5) หรือติดตาม Facebook ของผม Surat Horachaikul หรือ ภารัต-สยาม / Bharat-Siam ผู้ติดตามก็จะได้เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับอินเดียแบบนอกตำราในอีกหลายแง่มุม

สำหรับผู้ที่ประสงค์ขอนัดหมายเพื่อขอคำปรึกษาเชิงลึกได้ที่ ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาฯ ชั้น 17 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีเมล: isc@chula.ac.th โทรศัพท์ 0-2218-3945

Information Box


7 หนังสือแนะนำเพื่อเข้าใจแก่นวิธีคิดอินเดีย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำหนังสือที่จะทำให้เข้าใจหลักคิดความเป็นอินเดียได้ดียิ่งขึ้น 7 เล่ม ได้แก่

  1. พุทธโคดม : บทวิเคราะห์เชิงรัฐศาสตร์ว่าด้วยพุทธประวัติ ในบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมอินเดียสมัยพุทธกาล — หนังสือนี้เป็นผลงานวิชาการที่ศึกษาและวิเคราะห์พุทธประวัติในเชิงเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยศึกษาจากสภาพสังคมในชมพูทวีปสมัย
  2. สัมพันธ์สยามในนามภารต : บทบาทของรพินทรนาถ ฐากูร สวามีสัตยานันทปุรี และสุภาส จันทร โบส ในสายสัมพันธ์ไทย–อินเดีย — หนังสือนี้เป็นผลงานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวประวัติและบทบาทของบุคคลสำคัญในอินเดีย 3 ท่าน ได้แก่ รพินทรนาถ ฐากูร, สวามีสัตยานันทปุรี, และสุภาส จันทร โบส ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดีย ภายใต้บริบทการเมืองและสภาพสังคมไทยในช่วงปี พ.ศ. 2470 – 2488
  3. อหิงสายาตรา : บนเส้นทางสู่อินเดียอื่น (แปลจากหนังสือ Journey to the Other India) — หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่บอกเล่าถึงประสบการณ์และแนวคิดที่ราชโคปาล พี. วี. (Rajagopal P. V.) ใช้ในการต่อสู้และเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้ด้อยโอกาสในอินเดีย โดยสิ่งที่เขายึดมั่นและเป็นแนวทางหลักมาโดยตลอดก็คือการดำเนินตามหลัก “อหิงสา” (Ahimsa) และ “สัตยาเคราะห์” (Satyagraha) ของมหาตมาคานธี
  4. ช่วงเวลาแบบคานธี (แปลจากหนังสือ The Gandhian Moment) — หนังสือเล่มนี้เป็นการกล่าวถึงมรดกทางความคิดของมหาตมาคานธีที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รวมถึงวิธีคิดของคานธีว่าด้วย “สังคมแห่งการสนทนาแลกเปลี่ยน” ที่คานธีมองว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าการใช้ความรุนแรง อันจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทั้งในรูปธรรมและนามธรรม
  5. จาริกบนผืนโลก (แปลจากหนังสือ Earth Pilgrim) — หนังสือเล่มนี้ บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของสาทิศ กุมาร ในการเดินทางจาริกเพื่อแสวงหาคำตอบ และถ่ายทอดเรื่องราวของตน เพื่อตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศที่นับวันจะถูกทำลายลงอันเนื่องมากจากพฤติกรรมการบริโภคและความไม่ใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์
  6. ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน : ชีวิต อาหาร สิ่งแวดล้อม หรือน้ำมัน? (แปลจากหนังสือ Soil not Oil) — เป็นหนังสือที่บอกเล่าปัญหาด้านพลังงานและวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมและการบริโภคของมนุษย์ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหานี้ด้วยแนวคิดการการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเน้นความสัมพันธ์ของผู้คนกับสิ่งแวดล้อมให้สามารถประสานประโยชน์ซึ่งกันและกันได้
  7. สร้อยมณีแห่งปัญญา : 24 เรื่องล้ำค่าสำหรับเด็กและเยาวชน (แปลจากหนังสือ The Necklace of Diamonds) – หนังสือนี้มีชื่อภาษาฮินดีว่า हीरों का हार (ฮีโรํ กา หาร) มีทั้งสิ้น 24 เรื่อง โดยแต่ละเรื่องมีข้อคิดและมุมมองทางวัฒนธรรมของอินเดียแฝงอยู่ในนิทานเรื่องนั้น ๆ ซึ่งสรุปความได้ 3 ประการ คือ ความสำคัญของความรู้ วิธีแสวงหาความรู้ และการยึดมั่นในหลักคุณธรรม ภาพประกอบในหนังสือเล่มนี้เป็นฝีมือของคุณสุพจน์ คุณานุคุณ (ครูสิตฐ์) ผู้มีชื่อเสียงในการวาดภาพสำหรับเด็ก ซึ่งนับว่าเป็นผลงานที่มีคุณค่าน่าสะสมยิ่ง

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า