รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
19 มิถุนายน 2566
ผู้เขียน นิธิกานต์ ปภรภัฒ
นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ หรือ “หมอช้าง” ผู้อุทิศตัวดูแลสวัสดิภาพช้างไทยมาตลอด 48 ปี แจงสารพัดปัญหาของช้างบ้านและช้างป่าของไทย พร้อมชี้แนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวและประชาชนช่วยกันได้ ไม่เพียงเพื่อความอยู่รอดของช้างและระบบนิเวศ แต่เพื่อเศรษฐกิจชุมชนและมนุษยชาติ
ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนถึงเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักรายงานข่าวโขลงช้างป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ออกมากินอ้อย มันสำปะหลัง บุกยุ้งข้าว สร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรและทรัพย์สินของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณรอยต่อเขต จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี โดยล่าสุด รายงานข่าวเผยว่าเจ้าหน้าที่ได้ผลักดันช้างป่ากว่า 100 เชือก กลับเข้าป่าได้สำเร็จแล้ว
ครั้งนี้เป็นการยุติความขัดแย้งระหว่างช้างและมนุษย์เพียงชั่วคราวเท่านั้น เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และจะยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ตราบเท่าที่ผืนป่ามีจำนวนลดลงและโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราอาจจะยังคงได้ยินข่าวในทำนองว่าช้างบุกรุกพื้นที่การเกษตร ช้างประสบอุบัติเหตุ ตกเหว ถูกไฟฟ้าดูด ถูกทารุณกรรม บาดเจ็บและเสียชีวิต
นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ สัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาฯ ปี 2563 ผู้อุทิศตัวทำงานเพื่อสวัสดิภาพช้างไทยมาตลอด 48 ปี จนได้รับฉายาว่า “หมอช้าง” สะท้อนแนวคิดว่า “หากช้างป่าและช้างบ้านของไทยมีจำนวนลดลงหรือมีภาวะเสี่ยงเข้าใกล้สูญพันธุ์ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อระบบนิเวศทั้งหมด รวมถึงมนุษย์ ซึ่งอยู่ปลายห่วงโซ่อาหารในท้ายที่สุด จึงต้องรักษาสมดุลประชากรช้างให้เหมาะสม”
ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ เป็นหนึ่งในสัตวแพทย์ที่มักจะถูกเรียกตัวเสมอเมื่อมีข่าวช้างถูกทำร้าย ประสบอุบัติเหตุ หรือช้างอาละวาด การพบเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับช้างทำให้ น.สพ.อลงกรณ์ ริเริ่มและผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาช้างป่าและช้างบ้าน (ช้างเลี้ยง) อย่างต่อเนื่องกว่า 48 ปี และยังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานองค์กรผลักดันให้ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้สำเร็จ
ในวันนี้ สวัสดิภาพของช้างดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่รอคอยการแก้ไขอย่างเป็นระบบและรอบด้านยิ่งขึ้น น.สพ.อลงกรณ์ ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตช้างไทย พร้อมวิงวอนให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ทำความเข้าใจธรรมชาติและทุก (ข์) ปัญหาของช้าง อันเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม เศรษฐกิจ และสภาพอากาศ พร้อมทั้งแจงแนวทางแก้ไขปัญหา ที่ไม่เพียงจะเป็นทางรอดของช้างไทย แต่ยังหมายถึงทางรอดของระบบนิเวศ สัตว์ป่า และมนุษยชาติในการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล
เรามักเข้าใจว่าช้างพึ่งพิงป่าเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำและอาหาร แต่จริง ๆ แล้ว ป่าเองก็อิงอาศัยการมีอยู่ของช้างเพื่อบำรุงความอุดมสมบูรณ์ให้ป่าด้วยเช่นกัน
“ช้างป่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ ช้างเป็นผู้หว่านและกระจายเมล็ดพันธุ์พืชและให้ปุ๋ยบำรุงพันธุ์ไม้นานา” น.สพ.อลงกรณ์ กล่าว
“เมื่อช้างถ่าย อุจจาระของช้างเป็นปุ๋ยชั้นดี มักมีเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ พร้อมงอกเป็นต้นอ่อนและเติบโตเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงและอายุยืนตามธรรมชาติ เพิ่มความหลากหลายและความหนาแน่นของต้นไม้ในป่า เป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า และเป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของวงจรสิ่งมีชีวิตโดยรวม”
เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ ระดับออกซิเจนก็เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยปริมาณความชื้นและปริมาณน้ำฝน ซึ่งทั้งหมดหมายถึงระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ที่จะดูแลหล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนโลก
ปัจจุบัน ภาพของช้างป่าตามที่ปรากฏในข่าว ดูจะเป็น “ผู้ร้ายทำลายพืชไร่” มากกว่า “ผู้สร้างและบำรุงป่า”
น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่าปรากฎการณ์นี้เป็นผลพวงของการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการบุกเบิกป่าเพื่อทำเป็นพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสภาวะโลกร้อน ที่มีผลต่อปริมาณน้ำฝน ภูมิอากาศ ทำให้สภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าเปลี่ยนแปลง
“เมื่อป่าได้รับผลกระทบ ขาดความสมดุลและสมบูรณ์ ความเป็นอยู่ของช้างก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ต้องการบริโภคอาหารและน้ำต่อวันเป็นจำนวนมาก เมื่ออาหารและน้ำในป่าลดลง ก็ทำให้ช้างต้องเดินทางไปหาอาหารและน้ำในพื้นที่ที่มีอาหาร ซึ่งก็ได้กลายเป็นพื้นที่การเกษตรของประชาชนไปแล้ว” น.สพ.อลงกรณ์ อธิบาย
ปมความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างจึงเกิดขึ้น พร้อมข้อหาช้างบุกรุกพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้ น.สพ.อลงกรณ์ ยกตัวอย่างสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับมนุษย์ ที่เริ่มต้นขึ้นที่ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว
“ปกติสัตว์ป่าจะมีสัญชาตญาณในการออกหากินในช่วงเวลาประจำของแต่ละปี โดยเฉพาะหน้าแล้ง ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ป่าขาดแคลนแหล่งน้ำ ช้างป่าจะลงมาหาแหล่งน้ำในพื้นที่ด้านล่าง ซึ่งเป็นที่ประจำของช้างป่าอยู่เดิม แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ทำไร่สับปะรดของประชาชนไปแล้ว ยิ่งเมื่อเกษตรกรทำไร่สับปะรด ผลไม้ที่มีรสชาติที่ช้างชอบ อีกทั้งที่ไร่ก็มีแหล่งน้ำ ทำให้เกิดเหตุการณ์ช้างป่าจำนวนมากลงมากินสับปะรดและน้ำ สร้างความเสียหายให้เกษตรกร และเกิดการหาวิธีล้มช้าง ทำให้ช้างตายเป็นจำนวนมาก”
จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับเจ้าของไร่สับปะรด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณตั้งกรรมการเพื่อดูแลปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซื้อสับปะรดในไร่ของราษฎร เพื่อพระราชทานกลับไปให้ช้างป่ากิน
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสความว่า “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” คือ ปล่อยให้ต้นไม้ยืนต้นขึ้นเองโดยธรรมชาติ โดยไม่มีการรบกวนจากคน จนเป็นอาหารของช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่น และยังมีพระบรมราชกระแสรับสั่งให้ใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยเมล็ดพันธุ์พืชในบริเวณที่จะเป็นป่าธรรมชาติในอนาคตด้วย” น.สพ.อลงกรณ์ เล่าเหตุการณ์ในช่วงที่ถวายงานสนองใต้เบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9
จากแนวพระราชดำริ ราษฎรในเวลานั้นร่วมใจถวายคืนที่ดินสำหรับปลูกสับปะรดให้กับทางราชการ นอกจากนี้ ทางโครงการยังจัดการอบรมให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่ากุยบุรีได้เห็นคุณค่าระหว่างช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่น ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า และพิทักษ์รักษาสัตว์ป่าจากการถูกล่าด้วย
“จากเดิม เราสำรวจและพบช้างป่าราว 33 ตัวเท่านั้น แต่ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ได้ดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ จำนวนช้างป่ากุยบุรีเพิ่มขึ้นเกิน 200 ตัว”
การเพิ่มจำนวนขึ้นของประชากรช้างป่าไม่ได้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของช้างและความอุดมสมบุรณ์ของป่าเท่านั้น หากประชาชนในพื้นที่ก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย
“การทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างคนกับช้างลดลง ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ จากรายได้ประจำที่มาจากการท่องเที่ยวธรรมชาติ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น”
น.สพ.อลงกรณ์ สรุปบทเรียนว่าการทำให้คนเข้าใจและตระหนักถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ ป่า สัตว์ป่า และมนุษย์ จะทำให้พวกเขาเห็นคุณค่า คุณประโยชน์ของธรรมชาติ เกิดความรู้สึกหวงแหนและอยากดูแลรักษาทรัพยากรทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า ที่สำคัญ ทุกวันนี้ ไม่มีช้างที่ตายโดยผิดธรรมชาติที่กุยบุรีแล้ว
จากประสบการณ์ในการทำงานในโครงการตามแนวพระราชดำริ และอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ น.สพ.อลงกรณ์ แนะว่าการคืนพื้นที่ป่าให้ช้างควรคำนึงถึงการสร้างแหล่งน้ำและแหล่งอาหารคู่กันไป
“ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ค่อนข้างขี้ร้อน ต้องอยู่ใต้ร่มเงาของตันไม้หรือใกล้แหล่งน้ำ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย การทำแหล่งน้ำไม่จำเป็นต้องเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ วิธีที่ดีที่สุดคือขุดบ่อดินเล็ก ๆ กระจายไปทั่วทั้งป่าเพื่อให้สัตว์ป่าทั้งหลายมาดื่มกินน้ำจากแหล่งน้ำเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย”
ส่วนแหล่งอาหาร น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่า “ช้างชอบกินไผ่ ไม้ยืนต้นและเถาวัลย์ชนิดต่าง ๆ ดังนั้น ควรปลูกพืชเหล่านี้กระจายให้ทั่วป่าก็จะเป็นแหล่งอาหารที่สามารถที่อยู่กับป่าไปได้ค่อนข้างนาน หากมีชนิดที่หลากหลายและจำนวนมาก ช้างก็สามารถใช้เป็นอาหารเพียงพอได้ตลอดทั้งปี” น.สพ.อลงกรณ์ ย้ำหัวใจของการดูแลและสร้างแหล่งอาหารและน้ำให้ช้างป่าและสัตว์ป่าว่าไม่จำเป็นต้องริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ ใช้ทุนหรือพลังมาก “แค่ทำสิ่งเล็ก ๆ แต่ให้กระจายไปทั่วทั้งป่าก็ช่วยได้มาก”
เพราะป่าคือบ้านของช้าง การรักษาป่าจึงสำคัญต่อการอนุรักษ์ช้าง ซึ่งในปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการความสัมพันธ์ของป่า ช้างและมนุษย์ ซึ่ง น.สพ.อลงกรณ์ เสนอแนวทางไว้ ดังนี้
ประเทศไทยมีช้าง 2 แบบ คือ ช้างป่า และช้างบ้าน หรือช้างที่อยู่ในวิถีวัฒนธรรมมาแต่โบราณ ช้างบ้านผูกพันกับชนชาวสยามมายาวนาน เป็นเพื่อนร่วมรบ กอบกู้บ้านเมือง เป็นเพื่อนขับเคลื่อนเศรษฐกิจสมัยที่มีการให้สัมปทานตัดไม้ ช้างก็เป็นแรงงานชั้นดีช่วยลากจูงไม้ซุงออกจากป่า จนปัจจุบัน ในโลกสมัยใหม่ ช้างถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนแบรนด์ที่เชื่อมโยงกับความเป็นไทย หรือมาจากประเทศไทย และเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินในภาคบริการและการท่องเที่ยว
“สมัยที่หมอจบใหม่ ๆ เมืองไทยมีช้างบ้านประมาณ 800 – 1000 เชือก ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญในสมัยนั้นต้องระดมสมองว่าจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มจำนวนช้างบ้าน เพราะช่วงนั้นอัตราการตายของช้างบ้านสูงถึง 10% ต่อปี” น.สพ.อลงกรณ์ กล่าว
อัตราการตายของช้างเลี้ยงจำนวนมากเกิดมาจากโรคระบาด เช่น โรคคอบวมจากเชื้อแบคทีเรีย หรือ ในปัจจุบันโรคระบาดที่อันตรายมากคือโรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อเฉียบพลันในช้าง (Elephant Endotheliotropic Herpesvirus – EEHV) ซึ่งทำให้ช้างที่ติดเชื้อ เส้นเลือดฝอยแตกทั้งตัว อุจจาระเป็นเลือดและตายภายใน 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะช้างเด็กมีโอกาสตายสูงมาก
“ในปี 2554 เราสูญเสียช้างบ้านไปด้วยโรคระบาดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะลูกช้าง กว่าจะหาตัวยามารักษาและช่วยชีวิตช้างได้ ต้องใช้เวลา 5 – 6 ปี”
ความสำเร็จจากการหายารักษาโรคระบาดร้ายแรงในช้างทำให้ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของช้างลดลง ในปี 2564 ช้างบ้านเสียชีวิตจากโรคระบาดเพียง 2 เชือกเท่านั้น แต่ น.สพ.อลงกรณ์ มีเป้าหมายมากกว่านั้น “เราหวังให้อัตราการเสียชีวิตของช้างบ้านจากโรคระบาดเป็น 0% ในอนาคต”
ไม่เพียงลดอัตราการตายในช้าง แต่ต้องเพิ่มอัตราการเกิดของช้างให้ได้ด้วย เพื่อจะเพิ่มประชากรช้างก่อนสูญพันธุ์ น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่าถ้าช้างอยู่ในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีอาหารการกินพร้อม ช้างเพศเมียจะสามารถผสมพันธุ์และออกลูกได้ถึง 3 – 5 เชือก ในช่วงอายุขัยเฉลี่ยของช้าง 60 ถึง 70 ปี
“หากเราสูญเสียช้างเพศเมีย 1 เชือก เราจะเสียโอกาสที่จะมีช้างเพิ่ม 3 – 5 เชือก และจะเป็นความเสี่ยงต่อการลดลงหรือสูญพันธุ์ของประชากรช้างได้”
ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา ทีมสัตวแพทย์ช่วยกันลดอัตราการเสียชีวิตของช้าง และเพิ่มอัตราการเกิด รวมถึงขึ้นทะเบียนช้างเลี้ยง (บ้าน) โดยในปัจจุบัน มีช้างบ้านขึ้นทะเบียนและติดไมโครชิพแล้วประมาณ 4,500 เชือก
“แต่ในอนาคต เราก็ต้องดูกันว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการดูแลเฉพาะช้างบ้านประมาณกี่เชือก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมทั้งเฝ้าระวังการการทารุณกรรม การปล่อยละเลยสวัสดิภาพ การหาประโยชน์จากช้างอย่างไม่เป็นธรรม และโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต” น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ให้ “นำช้างกลับบ้าน” โดยปัจจุบัน มีการตั้ง “ศูนย์คชศึกษา” ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ควาญช้างนำช้างออกมาเร่ร่อน
เมื่อกล่าวถึงการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของช้าง จะมีใครดูแลช้างได้ดีเท่าผู้ที่อยู่ใกล้ชิดช้างที่สุด? สิ่งสำคัญที่ น.สพ.อลงกรณ์ ทำมาตลอดคือสร้าง “ควาญช้าง” ให้เป็นเสมือนผู้ช่วยสัตวแพทย์
“ควาญช้างควรเป็นคนที่รู้นิสัยใจคอของช้าง ใช้อุปกรณ์ควบคุมช้างได้ดี และอยู่ไปตลอดชีวิตของช้าง”
ที่ผ่านมา น.สพ.อลงกรณ์ ถ่ายทอดความรู้ให้ควาญช้าง ทั้งในเรื่องเชื้อโรคและสุขอนามัย ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคสัตว์ที่สัตวแพทย์จะสั่งยาหรือฉีดยาให้เป็นประจำทุกปี
“ช้างควรได้รับการดูแลแบบ 1:1 คือ ช้าง 1 เชือกต่อควาญ 1 คน และไม่ควรเปลี่ยนควาญ แต่ในปัจจุบันควาญหนึ่งคนอาจจะต้องดูแลช้างถึง 6 – 7 เชือก เพราะปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องช้างโดยตรง”
การเปลี่ยนควาญช้างหรือให้ควาญเลี้ยงช้างจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายกับควาญได้ โดยเฉพาะเมื่อช้างเพศผู้ตกมัน นอกจากนี้ น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวถึงข่าวช้างเลี้ยงทำร้ายควาญช้างจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตว่า ส่วนมากมีเหตุมาจากความประมาทและการดื่มแอลกอฮอล์
“ช้างมีประสาทสัมผัสรับกลิ่นทางงวงที่ไวมาก ถ้าควาญช้างมีกลิ่นกายที่ผิดแปลกไปแม้เพียงเล็กน้อย ช้างจะประเมินเลยว่าควาญมีคุณสมบัติพอที่จะทำให้เขาเชื่อใจได้ไหม จะต่อสู้กับเขาได้ไหม ช้างจะทดลองสลัดควาญตกลงมา ถ้าควาญไม่ระวังหรือประคองสติไม่อยู่ แล้วพลัดตกลงมา ก็อาจโดนขาหน้ากระทืบ งวงฟาด หรือถ้าเป็นช้างพลาย ก็อาจจะใช้งาแทง ซึ่งโดยมากแล้ว ควาญจะเสียชีวิต”
ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในความพยายามรักษาชีวิตควาญและช้างคือการรณรงค์ให้ควาญเลิกดื่มสุราและเครื่องดื่มมืนเมาแบบเด็ดขาด
“คนเป็นควาญต้องมีร่างกายที่แข็งแรง และที่สำคัญคือต้องมีสติอยู่เสมอ ก็จะปลอดภัย ไม่เกิดอันตราย บาดเจ็บสาหัส พิการหรือถึงแก่ชีวิต และก็จะทำให้ช้างอยู่ในความสงบตามนิสัยธรรมชาติของเขา”
ตั้งแต่ปี 2525-2550 น.สพ.อลงกรณ์ รณรงค์และให้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับควาญเพื่อเปลี่ยนความคิด (mindset) และปรับพฤติกรรม อย่างการเลิกดื่มเหล้า ปัจจุบัน มีควาญช้างเพียง 5% เท่านั้นที่ยังคงดื่มอยู่ จากเดิม ควาญมีภาวะติดเหล้าถึง 80%”
น.สพ.อลงกรณ์ ย้อนเหตุการณ์ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของช้างเร่ร่อนในประเทศไทยว่า “ในปี 2532 รัฐบาลประกาศปิดป่าทั่วประเทศ ทำให้ช้างตกงาน เกิดปัญหาช้างเร่ร่อนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล ที่มีช้างเข้ามาเร่ร่อนขออาหารมากถึง 70 เชือก”
หลายคนอาจจะยังจำภาพช้างเดินเร่ร่อนไปตามท้องถนนท่ามกลางการจราจรที่คับคั่งในเมือง บ้างก็อาจจะเห็นช้างอยู่กับควาญตามพื้นที่รกร้างในเมือง กินอาหารตามกองขยะบ้าง และอาจจะยังจำข่าวในสื่อที่รายงานถึงช้างที่ประสบอุบัติเหตุรถชนบ้าง ตกท่อบ้าง โดนไฟฟาดูดบ้าง ฯลฯ
น.สพ.อลงกรณ์ เล่าว่าช่วงเวลานั้น ทีมสัตวแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งวันทั้งคืน เนื่องจากช้างจำนวนมากประสบอุบัติเหตุและเป็นโรค
“ช้างเร่ร่อนมักจะอยู่ในพื้นที่รกร้างของเมืองซึ่งค่อนข้างสกปรก ควาญจะพาช้างออกทำงานหาเลี้ยงอาชีพด้วยการให้คนซื้อกล้วย-อ้อยให้ช้างกินตอนกลางคืน ทำให้ช่วงเวลากลางวัน ช้างจะต้องอดอาหาร เมื่อช้างหิว ก็จะกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ทั้งขยะ แหล่งน้ำที่สกปรกมีสารเคมีปนเปื้อน ทำให้ท้องเสีย ท้องร่วง”
จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทีมสัตวแพทย์ประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนให้รายงานทีมสัตวแพทย์เมื่อพบเห็นช้างเร่ร่อน เพื่อที่ทีมแพทย์จะได้เข้าไปช่วยเหลือและป้องกันสวัสดิภาพและสุขภาพช้าง น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวถึงกรณีศึกษาที่ระบุว่าหากมีเหตุที่ช้างได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่ากรณีใด “จะต้องแจ้งตำรวจ” เพื่อกันพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้ามามุง หรือกระทำการใด ๆ ก่อนที่สัตวแพทย์จะมาถึงพื้นที่ “เพราะเคยมีอุบัติเหตุช้างเสียชีวิตที่ จ.สมุทรปราการ จากการตกท่อลึกแล้วคนเข้าไปช่วยโดยการนำเครนยกช้างขึ้นอย่างไม่ถูกวิธี”
ในขณะเดียวกัน น.สพ.อลงกรณ์ และทีมสัตวแพทย์ องค์กรพิทักษ์สัตว์ทั้งหลาย ก็พยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์
“เราใช้เวลาประมาณ 20 ปี ในการพยายามร่างและเสนอร่างกฏหมายนี้เข้าสภา จนในที่สุดก็ได้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557” น.สพ.อลงกรณ์ หนึ่งในกรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าว
พ.ร.บ.ฉบับนี้ส่งผลให้จำนวนช้างเร่ร่อนลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งอาจเพราะบทลงโทษในกฎหมาย เช่น มาตรา 31 ที่ระบุว่าหากพบเห็นการทารุณกรรมสัตว์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ก็เป็นเพราะความร่วมมือจากประชาชนที่ช่วยเฝ้าระวังและรายงานเหตุการทารุณกรรมสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ นำไปสู่การแจ้งจับและดำเนินคดีในศาล
“ปัจจุบัน เราจึงไม่เห็นช้างเร่ร่อน ที่ไม่ถูกผลักดันให้กลับถิ่นฐานเดิมที่จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์เหลืออยู่เลยในทุกจังหวัด” น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวด้วยความภูมิใจ
ช้างเป็นหนึ่งในแม่เหล็กของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ จึงอาจกล่าวได้ว่าช้างเป็นสัตว์ที่ร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้ประเทศ ดังนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจแนวทางการดูแลสวัสดิภาพของช้าง เพื่อความสุขและความปลอดภัยของทั้งช้างและนักท่องเที่ยว น.สพ.อลงกรณ์ ให้ข้อแนะนำนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว โดยสังเขป ดังนี้
สำหรับผู้ประกอบการ
ควรดูแลให้ช้างได้รับสวัสดิภาพที่เหมาะสมและเพียงพอ เช่น ได้รับอาหาร 10% ของน้ำหนักตัว และดื่มน้ำสะอาดวันละ 200 ลิตร เพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ทั้งนี้ ควรจัดสรรให้มีแหล่งน้ำที่ช้างจะลงไปแช่หรือใช้เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายได้ และควรให้เวลาช้างได้เล่นน้ำเองประมาณ 15-20 นาที เป็นระยะ ๆ เนื่องจากช่วงเวลาที่ให้บริการนักท่องเที่ยว อาจทำให้อุณหภูมิของช้างสูงขึ้น เกิดความเครียดได้ง่าย และนอกจากแหล่งน้ำแล้ว ก็ควรจัดสถานที่สร้างร่มเงาหรือปลูกต้นไม้เพื่อให้ช้างหลบคลายร้อนและพักผ่อน
จัดให้มีการตรวจสุขภาพช้างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ และป้องกันแมลงรบกวน เช่น ยุง แมลงวันดูดเลือด และเหลือบ เพราะจะทำให้ช้างเกิดความเครียดและทำให้เสียเลือดตลอดเวลา อาจจะทำให้เกิดเป็นภาวะโลหิตจางได้ หากช้างใกล้ที่จะเกิดภาวะโลหิตจางหรือเกิดเป็นภาวะนี้ขึ้นมาโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ จะเข้ารุมเร้าทันที
ดูแลสวัสดิภาพของควาญช้างเพื่อที่เขาจะได้เลี้ยงช้างได้อย่างมีคุณภาพ และควบคุมความประพฤติของควาญ โดยเฉพาะการดื่มของมึนเมา เพื่อให้ควาญอยู่ในสภาพที่พร้อมในการดูแลช้างและให้บริการนักท่องเที่ยว
สำหรับนักท่องเที่ยว
จำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติของช้าง ไม่ทำให้ช้างเครียด ไม่รังแกหรือแหย่ช้าง หรือปล่อยให้เกิดการรังแก หรือทารุณช้าง หากอยากสัมผัสช้าง ก็อาจลูบไล้เบา ๆ บนตัวช้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรถามควาญช้างก่อนเพื่อรู้จักอุปนิสัยของช้าง
สำหรับนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ ไม่ว่านักท่องเที่ยวทั่วไปหรือนักท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ น.สพ.อลงกรณ์ ให้แนวทางพื้นฐานในการท่องเที่ยว ดังนี้
น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าหากคนในสังคมมีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับสัตว์ป่า เช่น ช้าง ไม่ว่าช้างป่า ช้างบ้าน และช่วยกันขยายความเข้าใจกระจายข่าวสารออกไปกว้างขวางเรื่อย ๆ รวมถึงเป็นหูเป็นตารายงานเหตุการทารุณกรรมสัตว์ และสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์ระบบนิเวศตามกำลัง เพียงเท่านี้ ชะตากรรมของช้างไทยก็มีหวังรอด อยู่คู่ระบบนิเวศและทุกชีวิตบนโลกต่อไป
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้