Highlights

เที่ยววัดให้สนุก รู้ลึก รู้รักษ์ กับ “แอปพลิเคชันอินไซท์วัดโพธิ์” นวัตกรรมเพื่อสังคมจากสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ

Insight-Wat-Pho

“อินไซท์วัดโพธิ์” นวัตกรรมเพื่อสังคมโดยอาจารย์สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แอปพลิเคชันที่เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทาง ช่วยวางแผนการเที่ยววัดโพธิ์ ตั้งแต่เดินทางอย่างไร มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง และฟีเจอร์สนุก ๆ ให้เล่น เช่น ผังวัดโพธิ์แบบเสมือนจริง (AR) เกมตามหายักษ์วัดโพธิ์ และความรู้อื่น ๆ อีกเพียบ


ซีรีส์ไทยย้อนยุคที่โด่งดังหลายเรื่องสร้างกระแสให้นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ หลั่งไหลไปยังโบราณสถานต่าง ๆ เช่น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดโพธิ์” หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกรุงเทพฯ และของชาติ ที่ในแต่ละวัน มีนักท่องเที่ยวราว 10,000 – 15,000 คน! เข้าเยี่ยมชม

แม้กระแสความนิยมแต่งกายชุดไทยและถ่ายรูปตามมุมต่าง ๆ ในโบราณสถาน จะเป็นพลัง soft power ที่สร้างเศรษฐกิจ แต่ก็มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ควรได้รับการดูแลเช่นกัน

Wat Pho
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์

“วัดโพธิ์เป็นศาสนสถานที่เราต้องเคารพ และยังเป็นโบราณสถานที่เราต้องรักษา แต่เราจะเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวปีนป่าย โดยที่ไม่รู้ว่าสถานที่แห่งนี้มีคุณค่าและอายุเกินร้อยปี เมื่อเกิดการหักพังขึ้นมาก็ยากที่จะซ่อมแซมให้เป็นดังเดิมได้” ดร.วิลาสินี สุขสว่าง อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ดร.วิลาสินี สุขสว่าง
ดร.วิลาสินี สุขสว่าง

การได้พบเห็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสมและกำลังสร้างปัญหาให้กับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งนี้ ผลักดันให้อาจารย์วิลาสินีริเริ่มโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม อินไซท์วัดโพธิ์” (Insight Wat Pho) เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขเสียแต่วันนี้อาจจะสายเกินไปในวันหน้า

ในฐานะอาจารย์สถาปัตย์ฯ ที่ทำงานกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง อ.วิลาสินี สะท้อนว่าการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้ผล ควรเริ่มที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม

“ทุกวันนี้ เราอยู่กับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปลายเหตุ เช่น น้ำเน่า ก็ไปฟื้นฟูแหล่งน้ำ ซึ่งที่สุดแล้ว การตามแก้ไขปัญหาเช่นนี้เป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืนนัก” อ.วิลาสินี สะท้อน “ปัญหาของวิธีที่เราแก้ปัญหา”

“ถ้าคนมีความรู้เพียงพอในด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะรู้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีสาเหตุมาจากอะไร แล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร ตัวเราเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม จะมีส่วนช่วยบรรเทา ลด หรือไม่สร้างปัญหาได้อย่างไร ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนกว่าการตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” อ.วิลาสินี อธิบายถึงการประยุกต์แนวคิดสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) และ จริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Ethic) ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นที่วัดโพธิ์

วัดโพธิ์ แหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ศักยภาพสูง

ในประเทศไทยมีโบราณสถานมากมาย และหลายแห่งก็กำลังเผชิญกับผลกระทบอันเกิดจากนักท่องเที่ยวเช่นกัน แต่ อ.วิลาสินี เลือกเริ่มต้นที่วัดโพธิ์ เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง

วัดโพธิ์เป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเคารพกราบไหว้ สถาปัตยกรรมมีความโดดเด่นงดงาม และที่สำคัญ “วัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย มีตำรับตำรายา ตำรานวดแผนไทย ที่ถูกจารึกบนแผ่นศิลาในวัดไว้มากมาย”

Wat Pho buddha statue

“องค์ความรู้เกี่ยวกับวัดโพธิ์มีเยอะมาก แต่ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือและเก็บเอาไว้ในห้องสมุด ไม่มีใครได้อ่าน จึงมาคิดว่าเราจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำอย่างไร ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้และทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้น แทนที่เขาจะแค่มาชมวัดแล้วก็กลับไป แต่จะทำอย่างไรที่จะดึงเขาให้อยู่ที่วัด สนุกและได้ความรู้นานขึ้น” อ.วิลาสินี กล่าวถึงที่มาของการพัฒนาแอปพลิเคชัน “อินไซท์วัดโพธิ์” เพื่อตอบโจทย์การสร้างองค์ความรู้ให้บุคคลทั่วไปได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัดโพธิ์และเห็นคุณค่า อันจะนำไปสู่การร่วมอนุรักษ์และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

7 ฟีเจอร์ น่าลอง! พาเที่ยววัดโพธิ์ในแบบรู้ลึก รู้จริง

แอปพลิเคชัน “อินไซท์วัดโพธิ์” ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ได้เคยทำวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับวัดโพธิ์ไว้อย่างละเอียด รวมถึงการสร้างโมเดลวัดโพธิ์แบบ 3 มิติไว้แล้วด้วย

“จะน่าเสียดายมาก ถ้าสิ่งที่เราได้เคยทำวิจัยและสร้างโมเดลไว้จะถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์เฉย ๆ  ทั้งที่คนทั่วไปน่าจะได้ประโยชน์”

ดังนั้น อ.วิลาสินี และทีมวิจัยคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ จึงได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ได้แก่ วัดโพธิ์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นต้น คัดเลือกข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ในการมาเยี่ยมชมวัดโพธิ์ เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดกลับไป

“อินไซท์วัดโพธิ์” ประกอบด้วย 3 ฟีเจอร์หลักที่จะบอกเล่าข้อมูลพื้นฐานในการเข้าชม และอีก 4 ฟีเจอร์เล่น ที่จะพาผู้ใช้ไปเล่นสนุกแถมได้ความรู้อีกด้วย ได้แก่

เตรียมตัวเยี่ยมชม (Plan Your Visit)

อ.วิลาสินี กล่าวถึงฟีเจอร์นี้ว่า “เวลาเราจะไปท่องเที่ยวที่ไหน เราก็ต้องมีแผน จะไปอย่างไร ที่นั้นเปิดเมื่อไร ซื้อตั๋วเข้าชมอย่างไร เป็นข้อมูลแรกที่ควรจะทราบ เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังวางแผนมาเที่ยวที่วัดโพธิ์ ก็สามารถดูข้อมูลจากแอปพลิเคชันอินไซท์วัดโพธิ์ได้เลย รับรองได้ว่าข้อมูลครบถ้วน ไม่มีหลงทางแน่นอน”

ผังวัดโพธิ์ (Visitor Map)

แผนผังของวัดโพธิ์ค่อนข้างซับซ้อน และอาจทำให้การเดินเที่ยวชมสถานที่ไม่ทั่วถึง หรือพลาดสถานที่สำคัญไป ดังนั้น การที่มีแผนที่อยู่ในมือ จะช่วยให้ตามหาสถานที่ต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น

“ถึงแม้ว่าที่วัดโพธิ์จะมีแผนที่แสดงไว้ตามจุดต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง เวลาเราหลงทาง บางครั้งจะหาแผนที่ ก็ยังหาไม่เจอ แต่ถ้าหากเราถือแผนที่ไว้ติดมือ ก็คงจะสบายใจขึ้น” อ.วิลาสินี กล่าว

วัดโพธิ์ในอดีต (Wat Pho in History)

สำหรับฟีเจอร์นี้ จะแสดงพัฒนาการที่สำคัญของวัดโพธิ์ใน 3 สมัย ได้แก่ สมัยรัชกาลที่ 1 สมัยรัชกาลที่ 3 และสมัยปัจจุบัน ซึ่งจะแสดงเป็นแผนผัง 3 มิติ เพื่อให้เห็นภาพว่าวัดโพธิ์ในแต่ละยุคมีหน้าตาเป็นอย่างไร และปัจจุบันวัดโพธิ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

เหินฟ้ามาวัดโพธิ์ (Wat Pho from the Sky)

ฟีเจอร์นี้จะพาคุณเหินฟ้ามาชมวัดโพธิ์ได้จากทุกซอกทุกมุม โดยการตามหามาร์กเกอร์ที่ติดอยู่บนพื้นภายในวัดโพธิ์ เมื่อสแกนมาร์กเกอร์นั้น ก็จะแสดงภาพ AR (Augmented Reality) แผนผังของวัดโพธิ์ขึ้นมา

“เราเลือก AR มาใช้กับแอปฯ นี้ เพราะน่าจะมีประโยชน์และทำให้คนสนุกได้ เราจะสามารถหมุนได้ ซูมเข้า-ออกได้ ทำให้สามารถเข้าใจแผนผัง หรือรายละเอียดของสถาปัตยกรรม การวางตำแหน่งอาคารต่าง ๆ ได้มากขึ้น”

ใดใด ในวัดโพธิ์ (Explore)

ฟีเจอร์นี้จะพาไปสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่ห้ามพลาดในวัดโพธิ์ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมและพระพุทธรูปที่สำคัญ ที่นอกจากเราจะเข้าไปดูด้วยตาแล้ว ยังมีเสียงและคำบรรยายที่จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวของสิ่งตรงหน้ามากขึ้น

นอกจากนี้ ความสนุกที่ห้ามพลาดอีกอย่างคือการ “กลับแก้กลบท (Poetry Quizzes)” ในจารึกวัดโพธิ์ที่ติดอยู่ตามเสาในพระระเบียง

“จารึกวัดโพธิ์เป็นโบราณวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียน UNESCO บางส่วนมีรูปแบบเป็นปริศนากลโคลง เมื่อเราเอาแอปฯ ส่องดูที่จารึกนั้น ก็จะปรากฏเป็นภาพ AR และเสียงอ่านเป็นโคลงสี่สุภาพให้เราฟัง ฟังก์ชันนี้จะทำให้เราเดินเล่นได้รอบพระระเบียงโดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว”

Poetry Quizzes

เลนส์ย้อนอดีต (Freeze-Frames)

ในแอปฯ จะมีรูปภาพในอดีตเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วของมุมต่าง ๆ ในวัดโพธิ์ ผู้ใช้จะต้องเดินหามุมนั้น ๆ ในปัจจุบันให้เจอแล้วนำมาเทียบกันว่าปัจจุบันวัดโพธิ์มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เป็นอีกฟีเจอร์ที่จะพาเราเดินไปทั่ววัดโพธิ์ เหมาะกับสายชอบถ่ายรูปเป็นอย่างมาก

ฉันคือยักษ์วัดโพธิ์ (Yak Wat Pho)

“เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้ว่ายักษ์วัดโพธิ์หน้าตาเป็นอย่างไร และอยู่ตรงไหน” อ.วิลาสินี เกริ่นถึงที่มาของฟีเจอร์ไฮไลต์อย่าง “ฉันคือยักษ์วัดโพธิ์”

“เมื่อเราอยู่ในวัดโพธิ์ เราจะเห็นยักษ์มากมายเต็มไปหมด แล้วตัวไหนที่เป็นยักษ์วัดโพธิ์ตัวจริง? ฟีเจอร์นี้จะมีแผนที่บอกพิกัดยักษ์ต่าง ๆ เมื่อเราเดินไปเจอยักษ์ แอปฯ ก็จะอธิบายให้ฟังว่ายักษ์ที่เราเห็นอยู่นั้นคือยักษ์อะไร” แผนที่จะพาเราเดินชมไปรอบ ๆ บริเวณวัดโพธิ์จนทั่ว เพื่อไปชมยักษ์รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งยักษ์บางตัวอาจจะอยู่ในรูปแบบที่เราไม่อาจคาดคิดเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นการจะตามหายักษ์ให้ครบนั้น เป็นอะไรที่ท้าทาย และจะดึงให้เราได้ใช้เวลาอยู่ในวัดโพธิ์ได้นานขึ้นมากเลยทีเดียว

Yak Wat Pho - Giant Guardian at Wat Pho
ยักษ์วัดโพธิ์

อินไซท์วัดโพธิ์ ในอนาคต

อ.วิลาสินี กล่าวว่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัดโพธิ์ที่น่าสนใจยังมีอีกมาก ซึ่งทีมพัฒนาจะเพิ่มเติมข้อมูลเข้าไปในแอปฯ เรื่อย ๆ แต่เรื่องที่ท้าทายกว่า ไม่ใช่เรื่องข้อมูลของวัดโพธิ์ แต่เป็นโมเดลธุรกิจที่จะทำให้แอปฯ “อินไซท์วัดโพธิ์” ได้ไปต่อ

Insight Wat Pho Application Marker

“อินไซท์วัดโพธิ์” เป็นแอปฯ ฟรี เราไม่ต้องการให้การเรียนรู้ต้องเสียเงิน เพราะฉะนั้นเราจะอยู่รอดได้ก็ต้องพึ่งโมเดลธุรกิจ เราคิดจะสร้างอินไซท์วัดโพธิ์ให้เป็นแพลตฟอร์มในการสนับสนุนการท่องเที่ยวและการทำกิจกรรมในวัดโพธิ์ อย่างการจองบัตรเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ เช่น การเขียนภาพสีน้ำในวัดโพธิ์ การทัวร์วัดโพธิ์ตอนกลางคืน หรือการจองสินค้าที่ระลึกคอลเลกชันพิเศษ เป็นต้น ก็จะสามารถทำได้ผ่านแอปฯ นี้เท่านั้น รวมทั้งการจองไกด์นำเที่ยว ที่การันตีได้เลยว่ามีความรู้ที่ถูกต้อง ก็จะรวมอยู่ในแผนต่อไปนี้เช่นกัน” อ.วิลาสินี เล่าถึงแผนในอนาคตอันใกล้นี้

อินไซท์วัดโพธิ์ มากกว่าแอปฯ นำเที่ยว

แอปพลิเคชัน “อินไซท์วัดโพธิ์” ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงแค่ให้ผู้ใช้ได้เล่นสนุกและได้รับความรู้เท่านั้น แต่ อ.วิลาสินี เชื่อมั่นว่านวัตกรรมนี้จะสร้างผลกระทบต่อสังคม ทั้งในแง่ของวัฒธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

“เราอยากเห็นพฤติกรรมในการมาท่องเที่ยววัดโพธิ์ที่เปลี่ยนไป จากการมาชมอย่างเดียว เป็นการได้สำรวจไปรอบ ๆ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒธรรมอันดีงามของไทย ไม่พลาดชมจุดที่น่าสนใจ เมื่อนักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาในจุดนี้ได้นานขึ้น เมื่อเหนื่อยหรือหิว เขาก็สามารถอุดหนุนร้านค้าในชุมชนรอบ ๆ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ได้แล้ว ยังสามารถช่วยดึงเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนได้อีกด้วย” อ.วิลาสินี กล่าว

ทั้งนี้ อ.วิลาสินี ยังกล่าวถึงแผนที่จะพัฒนาโครงการไปยังสถานที่สำคัญอื่น ๆ โดยวัดลำดับถัดไปที่มีอยู่ในใจคือ “วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร”  ซึ่งถือเป็นวัดพ่อ-วัดลูกกับวัดโพธิ์ (วัดโพธิ์ คือ วัดประจำรัชกาลที่ 1 ส่วนวัดอรุณฯ คือวัดประจำรัชกาลที่ 2) และได้รับผลกระทบจากกระแสความนิยมจากนักท่องเที่ยวในการแต่งชุดไทยและหามุมถ่ายรูปในโบราณสถานเช่นกัน

สนใจลองเล่นแอปพลิเคชัน “อินไซท์วัดโพธิ์” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งบน App Store และ Google Play หรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแอปพลิเคชันได้ที่ Facebook: Insight Wat Pho

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า