Highlights

จุฬาฯ ผนึกงานวิจัย เสนอ Roadmap หยุดความรุนแรงในโรงเรียน หนึ่งในแนวทางสู่ “สังคมไทยไร้ความรุนแรง”


พื้นที่ปลอดภัย กิจกรรมศิลปะบำบัด ความเข้าใจเรื่องการเคารพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ – ส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนวทางลดความรุนแรงในโรงเรียนและสังคม จากโครงการวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดยคณาจารย์จากหลายคณะในจุฬาฯ


ข่าวนักเรียน ม.3 แทงเพื่อนร่วมชั้น ครูตบเด็กกลางห้องเรียน — ความรุนแรงในโรงเรียนเป็นปัญหาที่เกิดบ่อยขึ้นและดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ รายงานผลวิจัยของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) ที่ทำการสำรวจกลุ่มเด็กเยาวชนจำนวน 150,000 คนทั่วประเทศ พบว่าเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ปวช. และ ปวส. 1 ใน 10 หรือประมาณ 70,000 คน ตกอยู่ในวังวนของการใช้ความรุนแรง การใช้กำลังกันระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน และ cyberbullying ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง ตามที่ปรากฎเป็นข่าว

รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชนมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งการนำเสนอของสื่อต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงความรุนแรง ทั้งภาพ ภาพยนตร์ ข่าว โดยเฉพาะละครบางเรื่องที่มีฉากและคำพูดที่กระตุ้นความรุนแรง และเป็นสิ่งเร้าที่อาจจะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรงมากขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” กล่าวในงานเสวนาโครงการ “Stop Violence in Schools เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสถาบันสอนภาษาอังกฤษ โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) – ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษาของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ เราจะลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาและในโลกไซเบอร์ได้อย่างไร? นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของโครงการวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ที่ต้องการหาคำตอบ

ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โครงการวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ประสานความร่วมมือจากคณาจารย์คณะต่าง ๆ อาทิ  รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จิตวิทยา ศิลปกรรมศาสตร์ ฯลฯ ให้มาร่วมวิจัยเพื่อศึกษาสาเหตุ ผลกระทบของความรุนแรง รวมถึงแนวทางต้นแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในมิติต่าง ๆ ซึ่งในงานเสวนา “Stop Violence in Schools” นักวิจัยในโครงการฯ ได้นำเสนอแนวคิดและแนวทางรูปธรรมเพื่อแก้ไขและป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน โดยมีประเด็นเสวนาน่าสนใจ เช่น สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนภายในสถานศึกษา, สิทธิมนุษยชนและสื่อสร้างสรรค์, การรับมือกับสื่อเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดในโรงเรียน, กลไกทางกฎหมายเมื่อมีเหตุความรุนแรง, การดูแลนักเรียนที่ได้รับความรุนแรงทางโลกไซเบอร์, และศิลปะบำบัดเพื่อเยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤติ

ความรุนแรงในโรงเรียนและโลกไซเบอร์

ตัวเลขในรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในปี 2565 โดย Child Watch เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง อาจมีเด็กมากกว่า 1 ใน 10 คน ที่ตกอยู่ในวังวนของการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าในฝ่ายผู้กระทำหรือถูกกระทำ

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เผยว่าเหยื่อความรุนแรงมักอยู่เป็นวัยเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายถึงมหาวิทยาลัย โดยในปี 2566 มีผู้พบเหตุความรุนแรงถึง 40% ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงถึง 30% แม้ตัวเลขเหล่านี้จะจัดว่าสูงแล้ว แต่คาดว่ามีเหยื่อความรุนแรงอีกไม่น้อยที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัว

นอกจากชีวิตในโรงเรียนแล้ว พื้นที่แห่งความรุนแรงยังรุกล้ำเข้าไปในชีวิตบนโลกโซเซียล แพลตฟอร์มต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ ที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่-ทุกเวลา

ช่องทางหลักของการแสดงความรุนแรงเป็นทางโซเซียลมีเดียและความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในแพลตฟอร์มที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว

งานวิจัยยังชี้อีกว่าการตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย

“นับวัน พื้นที่นี้ (โซเซียลมีเดีย) ดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สร้างความเจ็บปวดในจิตใจ จนนำไปสู่การทำร้ายตัวเองเช่นที่เป็นข่าว การป้องกันในเบื้องต้นจึงมีความสำคัญ ช่วยป้องกันปัญหาใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้”

ความรุนแรงในโรงเรียนและโลกไซเบอร์
ความรุนแรงในโรงเรียนและโลกไซเบอร์

สร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน

โลกไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริงในชีวิตไปแล้ว เราไม่อาจห้ามเด็กและเยาวชนไม่ให้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ หรือเข้าไปติดตามพฤติกรรมของลูกหลานในโลกโซเซียลได้

“เวลาเด็กเข้าไปในโลกออนไลน์ต่าง ๆ เราไม่สามารถเข้าไปเห็นได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างมีคุณภาพ”

หนึ่งในแนวทางที่ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เห็นว่าจำเป็นในเชิงป้องกันความรุนแรงคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน

“โรงเรียนควรจัดสรรพื้นที่สำหรับนักเรียนที่ต้องการปรึกษา โดยเป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย ให้นักเรียนสามารถพูดหรือระบายความรู้สึกได้ โดยที่นักเรียนรู้สึกมั่นใจได้ว่าสิ่งที่เขาพูดจะเป็นความลับและจะไม่ถูกตัดสิน ที่สำคัญ ครูต้องเป็นเสมือนปราการแรกของเด็กที่สามารถรับฟังอย่างเข้าใจ”

ผศ.ดร.ณัฐสุดา แนะอีกว่าในพื้นที่ปลอดภัยนี้ อาจจะมีโซนกิจกรรม เช่น Emotional tasking เพื่อตรวจสอบภาวะอารมณ์ของเด็กระหว่างหรือหลังการใช้โซเชียลมีเดีย

“การตรวจสอบหรือคัดกรองสภาวะจิตใจของนักเรียนแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้คุณครูดูแลนักเรียนและป้องกันการเกิดเหตุความรุนแรงในโลกความจริงได้”

สร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน
สร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน

ศิลปะบำบัด กิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันต้านความรุนแรง

ในการเสวนา Stop Violence in Schools ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.นิศรา เจริญขจรกิจ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการใช้ศิลปะและกิจกรรมบำบัดเพื่อช่วยในการลดความรุนแรงในโรงเรียน

ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ก่อนการแลกเปลี่ยนผลการวิจัย ศ.ดร.บุษกร เริ่มด้วยการเปิดประสบการณ์ให้กับครูที่มาร่วมงานเสวนา ทุกคนจะได้รับแจกกระดาษคนละแผ่น และมีโจทย์ให้วาดภาพใช้เวลา 10 – 15 นาทีหลังจากนั้น แต่ละคนโชว์ภาพวาดให้เพื่อนครูช่วยกันวิเคราะห์สภาวะอารมณ์

ศ.ดร.บุษกร สรุปหัวใจของกิจกรรมว่า “ศิลปะบำบัด Expressive Art ช่วยให้ผู้วาดภาพได้ปลดปล่อยอารมณ์ที่ถูกสะสมไว้ การวาดภาพจึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยคัดกรองได้ว่าเด็กมีความเสี่ยงหรือเป็นผู้ถูกกระทำ หรือเป็นผู้ที่จะสร้างความรุนแรง ภาพวาดจะช่วยทำให้เราทราบว่าใครอยู่ในเหตุการณ์ที่ค่อนข้างที่จะวิกฤต”

นอกจากศิลปะการวาดภาพแล้ว ดร.นิศรา นำเสนอกิจกรรม “บางอย่างที่หายไป” เป็นการใช้บทบาทสมมติเพื่อเข้าใจผู้อื่น ประกอบกิจกรรมการวิเคราะห์ ทำความเข้าใจ และเยียวยาด้วยองค์ความรู้ของศิลปะบำบัด

ศ.ดร.บุษกร กล่าวสรุปว่าคุณครูสามารถนำกระบวนการศิลปะบำบัดไปปรับใช้ในห้องเรียน ให้นักเรียนได้ระบายความรู้สึก เพื่อครูจะได้คัดกรองอารมณ์นักเรียนในเบื้องต้น ซึ่งหากพบข้อสงสัยว่าเด็กจะเป็นผู้ก่อความรุนแรงหรือเป็นเหยื่อความรุนแรง ก็จะสามารถส่งต่อไปให้ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การดูแลที่เหมาะสมต่อไป

ศิลปะบำบัด กิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันต้านความรุนแรง
ศิลปะบำบัด กิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันต้านความรุนแรง

รับมือความรุนแรงด้วยกระบวนการทางกฎหมาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายที่ครอบคลุมและคุ้มครองเด็กได้ดีพอสมควร แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือกฎหมายลำดับรอง และแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย ที่จำเป็นต้องปรับปรุงให้เกิดการบูรณาการงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ลงตัวและราบรื่นขึ้น

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

“ในโรงเรียนควรมีกลไกคุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง นักเรียนกับครู หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากบุคคลภายนอกที่เข้ามากระทำกับครูหรือนักเรียน ซึ่งเรื่องนี้ จะต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครู แพทย์ ตำรวจ รวมถึงกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)”

สำคัญกว่าแนวทางด้านกฎหมาย ผศ.ดร.ปารีณา ชี้ว่าการอบรมและสร้างความเข้าใจเรื่องการเคารพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่จะป้องกันความรุนแรงได้ดีที่สุด ซึ่งพื้นที่ที่จะบ่มเพาะเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือครอบครัวและโรงเรียน  

“การรู้จักเคารพและให้เกียรติกันและกันในโรงเรียนเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในโรงเรียน ความรุนแรงเกิดขึ้นจากการขาดความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นจากการป้องกันและสร้างเสริมความเข้าใจในส่วนนี้ จากนั้นต้องมีมาตรการรองรับหากเกิดเหตุความรุนแรงว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ทั้งในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการดูแลและบำบัดอย่างใร ในขณะเดียวกันก็ต้องรับมือป้องกันผู้ที่ก่อความรุนแรงไม่ให้ไปก่อเหตุความรุนแรงในอนาคต”

สุดท้าย ผศ.ดร.ปารีณา ย้ำว่า “ที่สำคัญ เราไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยการใช้ความรุนแรงได้ ไม่ว่าในทางใดก็ตาม”

รับมือความรุนแรงด้วยกระบวนการทางกฎหมาย

Roadmap 8 แนวทางสู่โรงเรียนไร้ความรุนแรง

จากการวิจัยความรุนแรงในสังคมในสังคมอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี รศ.ดร.สุมนทิพย์ เสนอ 8 แนวทางที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง ”สังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดยสามารถนำไปปรับใช้กับโรงเรียนได้ดังนี้

1. ส่งเสริมและเปลี่ยนแปลงค่านิยมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง รวมทั้งส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง

2. พัฒนา สร้างความมั่นคง หรือเสถียรภาพระหว่างเด็กและพ่อแม่ หรือผู้ที่เลี้ยงดูเด็ก

3. พัฒนาทักษะการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชน ป้องกันหรือลดปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวต่อเด็กและสตรี

4. ลดการใช้สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

5. ลดการใช้อาวุธ ปืน มีด หรือยาฆ่าแมลง

6. ควบคุมการนำเสนอของสื่อที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง

7. จัดโปรแกรมในการดูแลและช่วยเหลือต่อเหยื่อของความรุนแรง

8. นำหลักทางศาสนาเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิต หลอมความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ ศาสนาและชาติพันธุ์

รศ.ดร.สุมนทิพย์ กล่าวว่าแนวทางทั้ง 8 ข้อนั้นครอบคลุมมิติต่าง ๆ ทั้งการปรับโครงสร้างและวางรากฐานสังคม สร้างค่านิยม ปรับวิธีคิด ฯลฯ ซึ่งถ้าทำได้ จะทำให้ความรุนแรงของปัจเจก ชมุชน และสังคมลดน้อยลง

“เราจะลดความรุนแรงในสังคมได้ เมื่อองค์กรและสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม รวมถึงภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ภาคเอกชน และสถาบันครอบครัว ซึ่งมีความสำคัญและเป็นปัจจัยลำดับต้น ๆ ที่นำไปสู่ความรุนแรง” รศ.ดร.สุมนทิพย์ กล่าว

คณะผู้วิจัยจากจุฬาเชื่อว่าผลจากการวิจัยจะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสถาบันการศึกษาเห็นแนวทางที่จะไปปรับใช้ หรือร่วมคิดต่อยอดแปลงแนวนโยบายเป็นรูปธรรมปฏิบัติการ เพื่อให้โรงเรียนปลอดความรุนแรงและนักเรียนมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับความรุนแรงในโลกไซเบอร์ได้ดียิ่งขึ้น

สนใจอ่านงานวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ได้ที่ https://sites.google.com/g.chula.edu/criminology/no-violence-in-thai-society

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า