รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
25 สิงหาคม 2566
ผู้เขียน นิธิกานต์ ปภรภัฒ
หญิงวัยเจริญพันธุ์ 1 ใน 10 อาจกำลังมีอาการภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) แต่ไม่รู้ตัว ประจำเดือนมาไม่ปกติ น้ำหนักเกิน ผมร่วง ขนดก หนวดขึ้น หน้ามัน เป็นสิว มีบุตรยาก เหล่านี้เป็นอาการบ่งชี้สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม สูตินรีแพทย์ จุฬาฯ แนะการรักษา ปรับไลฟ์สไตล์ ก่อนโรคร้ายมาเยือน
การมีสิวบนใบหน้าในช่วงเป็นวัยรุ่นอาจทำให้สาว ๆ หลายคนกังวลใจ แต่หลายคนก็หวังว่าเมื่อพ้น “วัยฮอร์โมน” ไปแล้ว สิวน่าจะเบาลง น้ำหวาน (นามสมมติ) เป็นคนหนึ่งที่เชื่อเช่นนั้น แต่พอเข้าสู่วัย 30 ปีกว่า ๆ สิวก็ยังอยู่ แถมมีขนคล้ายหนวดขึ้น และผมร่วง! ความกังวลยกระดับเป็นความเครียด
จากที่ไปพบแพทย์ผิวหนังเป็นประจำ เธอได้รับคำแนะนำให้ไปพบสูตินรีแพทย์ และได้รับการวินิจฉัยในทันทีว่าเธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS) ซึ่งเกิดขึนได้กับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 1 ใน 10 คน
“ผู้หญิงบางคนอาจจะไปหาแพทย์ผิวหนังด้วยเรื่องสิวเยอะ ผมร่วง ขนดก แต่เมื่อแพทย์ผิวหนังซักประวัติเพิ่ม แล้วพบว่ามีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ นั่นเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะฮอร์โมนผิดปกติ และจำเป็นต้องมาพบสูตินรีแพทย์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรทิพย์ สิรยาภิวัฒน์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
อ้วน สิวขึ้น ขนดก ผมร่วง อาจบั่นทอนความมั่นใจในรูปลักษณ์ แต่ที่มากกว่านั้นคือโรคเรื้อรังและร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมา หากไม่ดูแลรักษากลุ่มอาการ PCOS อย่างตรงจุดและทันท่วงที ผศ.พญ.พรทิพย์ กล่าวและให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มอาการนี้ ที่ผู้หญิงหลายคนอาจกำลังเป็น แต่ไม่รู้
กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS) เป็นอาการภาวะทางต่อมไร้ท่อที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 5-10% ในผู้หญิงตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยใกล้หมดประจำเดือน อายุ 15 – 45 ปี และนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งมีบุตรยาก
“ผู้ที่มีกลุ่มอาการ PCOS จะมีถุงน้ำเล็ก ๆ ในรังไข่ ซึ่งก็คือถุงไข่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหลายระบบในร่างกายที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล” ผศ.พญ.พรทิพย์ อธิบาย
อาการหลัก ๆ ของผู้ที่เป็น PCOS คือประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่สม่ำเสมอ ขาดประจำเดือนนาน ๆ ภาวะอ้วน น้ำหนักมาก ผิวมัน มีสิวและขนดกกว่าปกติ ซึ่ง ผศ.พญ.พรทิพย์ กล่าวว่าอาการเหล่านี้จะรุนแรงน้อยลงเมื่อใกล้หมดประจำเดือนหรือเข้าสู่ภาวะวัยทอง
อาการ PCOS มีหลากหลาย ตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงมีอาการร่วมหลายอย่าง แตกต่างกันในผู้หญิงแต่ละคน ทั้งนี้ กลุ่มอาการภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบที่เด่นชัดอาจแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
1. ประจำเดือนผิดปกติ รอบการตกไข่ไม่ปกติ
หนึ่งในข้อบ่งชี้สำคัญของผู้หญิงที่เป็น PCOS คือประจำเดือนมาไม่ปกติ บ้างมีรอบประจำเดือนนานกว่าปกติ บ้างมีถี่กว่าปกติ บ้างขาดประจำเดือน 3-4 เดือน หรือมีประจำเดือนน้อยกว่าปีละ 8 ครั้ง
2. ฮอร์โมนเพศชายมากผิดปกติ
ปกติในร่างกายผู้หญิงจะผลิตฮอร์โมนเพศชายในระดับต่ำอยู่แล้ว แต่หากมีการทำงานผิดปกติของต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไต รังไข่ ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศแปรปรวน ผู้หญิงที่เป็นกลุ่มอาการโรคภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบจึงมีระดับฮอร์โมนเพศชายในเลือดสูงเกินปกติ (hyperandrogenism) เป็นที่มาของลักษณะอาการสำคัญ ได้แก่ ผิวมัน มีสิวมาก ขนดกขึ้นตามร่างกายหลายจุด อาทิ หนวด จอน หน้าอก หน้าท้อง เส้นกลางท้องส่วนล่าง ต้นแขน ต้นขาด้านใน และหลัง นอกจากนี้ ผู้หญิงบางคนก็อาจจะมีอาการผมบางและศีรษะล้านแบบผู้ชายร่วมด้วย
นอกจากนี้ ในผู้หญิงที่เป็นกลุ่มอาการ PCOS ยังพบระดับฮอร์โมนอินซูลินในกระแสเลือดมากกว่าปกติ ซึ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน เนื่องจากการผลิตและตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลินผิดปกติ
ผศ.พญ.พรทิพย์ ชวนให้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์หมั่นสังเกตร่างกาย และหากพบอาการใน 7 ข้อข้างล่างนี้ ให้รีบปรึกษาแพทย์ทางสูตินรีเวชทันที
1. ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มาช้า มาห่าง หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอย
2. มีสิวขึ้นมากกว่าปกติ ผิวมัน
3. ขนดกมากขึ้นตามร่างกาย หรือขึ้นในบริเวณที่มักเกิดขึ้นในผู้ชาย เช่น หนวด เครา ขนหน้าอก เป็นต้น
4. ผมบาง ศีรษะล้าน
5. ผิวเป็นปื้นดำโดยเฉพาะตามรอยพับหลังคอ รักแร้ ข้อพับแขน หรือมีติ่งเนื้อร่วมด้วย
6. มีน้ำหนักเกินค่าดัชนีมวลกาย (เกณฑ์ BMI 25 ขึ้นไป) หรือมีรูปร่างอวบไปจนถึงมีภาวะอ้วน
7. มีรอบเอวมากกว่า 88 ซม. หรือมีลักษณะอ้วนลงพุง
อาการต่าง ๆ ข้างต้น อาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ได้ เช่น ความผิดปกติที่ต่อมหมวกไต ต่อมไทรอยด์ เนื้องอกที่รังไข่ ฯลฯ ดังนั้น การวินิจฉัยกลุ่มอาการ PCOS ให้แน่นอน จึงต้องใช้วิธีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการทำอัลตราซาวด์ เพื่อดูลักษณะรังไข่ว่าประกอบด้วยถุงน้ำในรังไข่ ที่มีถุงไข่จำนวนมากเกินไปหรือไม่ และในบางรายอาจจำเป็นต้องตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนเพศ
แม้ทางการแพทย์จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดกลุ่มอาการ PCOS แต่พบว่าผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน มีความเสี่ยงเป็น PCOS มากกว่า
“กลุ่มอาการโรคภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับฮอร์โมนอินซูลิน และฮอร์โมนที่หลั่งในต่อมใต้สมอง รังไข่” ผศ.พญ.พรทิพย์ กล่าว “ไขมันหน้าท้อง ไขมันในช่องท้อง และภาวะอ้วนลงพุง ก็มีส่วนทำให้เป็นกลุ่มอาการนี้มากขึ้น”
สิว ผิวมัน ขนดก ผมร่วง ประจำเดือนมาไม่ปกติ – หลายคนอาจมองว่าอาการเหล่านี้เป็นเรื่อง “สิว ๆ” ไม่อันตรายมาก เพียงอาจลดความมั่นใจในรูปร่างและหน้าตาไปเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว PCOS เป็นภัยเงียบที่อาจนำไปสู่โรคเรื้อรังและร้ายแรงได้หลายโรค
“การมีประจำเดือนไม่ปกติมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ พอไข่ไม่ตกตามเวลา ก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้เยื่อบุโพรงมดลูกแบ่งเซลล์หนาผิดปกติ และในระยะยาว มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก” ผศ.พญ.พรทิพย์ กล่าว
นอกจากระบบสืบพันธุ์แล้ว PCOS ยังมีผลต่อระบบการเผาผลาญในร่างกาย หรือระบบเมตาบอลิซึมด้วย
“PCOS อาจทำให้เกิดภาวะทนต่อกลูโคสผิดปกติ ที่พบมากคือการตอบสนองผิดปกติต่ออินซูลิน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงขั้นแรกต่อการเป็นโรคเบาหวาน รวมถึงภาวะที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ภาวะซึมเศร้า ภาวะมีบุตรยาก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตด้วย”
วิธีรักษาผู้ที่มีภาวะ PCOS แพทย์จะพิจารณาวินิจฉัยจากปัจจัยเฉพาะเป็นรายบุคคล “แพทย์จะดูว่าคนไข้มาปรึกษาด้วยเรื่องอะไร และให้การรักษาตามนั้น” ผศ.พญ.พรทิพย์ กล่าว
สำหรับผู้ที่มาด้วยอาการประจำเดือนผิดปกติ แพทย์จะให้การรักษาด้วยฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (progesterone) เพื่อทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ และป้องกันภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
กรณีที่มาด้วยภาวะฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป การรักษาจะเป็นการให้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพื่อช่วยลดฮอร์โมนเพศชาย อีกทั้งยังทำให้ประจำเดือนมาตรง และป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ส่วนผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก แพทย์จะพิจารณาให้เป็นกลุ่มยาที่กระตุ้นให้ไข่ตก
สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของระบบการเผาผลาญ น้ำหนักเกิน หรือมีภาวะอ้วน หรือตรวจเลือดแล้วพบว่าเป็นเบาหวาน มีภาวะไขมันในเลือดสูง ก็ต้องลดน้ำหนัก และกินยารักษาอาการดังกล่าว
“หากประจำเดือนยังมาทุก 2 เดือน ยังถือว่าพอรับได้ แต่ถ้าประจำเดือนมาทุก 3 – 4 เดือน อันนี้มีความเสี่ยงต่อภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จึงต้องได้รับการรักษา สำหรับคนที่เป็น PCOS ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ต้องลดน้ำหนักลงมา 5 – 10% ของน้ำหนักตัว จะช่วยให้อาการดีขึ้น” ผศ.พญ.พรทิพย์ กล่าวแนะ
ผศ.พญ.พรทิพย์ กล่าวว่า ไม่ว่าแพทย์จะรักษาด้วยยาอะไร สิ่งสำคัญคือการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้ที่มีอาการ PCOS
“สมมุติว่าคนไข้มีน้ำหนักเกิน ก็ต้องลดน้ำหนัก เพิ่มการออกกำลังกาย และกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ”
ผศ.พญ.พรทิพย์ อ้างถึงการศึกษาที่ชี้ว่า PCOS สัมพันธ์กับฮอร์โมนอินซูลินและไขมัน
“ผู้ที่เป็นกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบจะมีแบคทีเรียดีในลำไส้ลดลง ดังนั้น จึงควรเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง และเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง”
แม้ทางการแพทย์จะยังไม่อาจระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดกลุ่มอาการภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เพื่อมีแนวทางการป้องกันการเกิดอาการ PCOS แต่กลุ่มอาการเหล่านี้ก็สังเกตได้ไม่ยาก ซึ่งหากเราพบอาการที่เป็นข้อบ่งชี้ ก็ควรไปพบสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุด เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและปรับพฤติกรรมตัวเอง อันจะช่วยลดผลกระทบทางสุขภาพร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
ผู้ที่อยากขอคำปรึกษาและเข้ารับบริการเกี่ยวกับ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) สามารถติดต่อสอบถามได้ที่คลินิกมีบุตรยาก และ PCOSให้บริการทุกวันอังคาร ยกเว้นวันหยุดราชการ เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ อาคาร ภปร ชั้น 8โทรศัพท์ 0-2256-5274ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยWebsite: http://cu-obgyn.com/THFacebook: https://www.facebook.com/cuobgynfanpage/?locale=th_THLine: @obcu.updateEmail: obcu.update@gmail.comโทรศัพท์ 0-2256-4000 ต่อ 92117, 08-1421-0675
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้