รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
27 กันยายน 2566
ผู้เขียน เมธาพร ไตรกิจวัฒนกุล
สุกรท้องหรือไม่ท้อง ตอบได้ง่ายๆ ด้วยชุดตรวจฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในเลือดของสุกร นวัตกรรมของนักวิจัยจุฬาฯ เพื่อตรวจการตั้งท้องของสุกรสาว ใช้ง่าย เกษตรกรตรวจเองได้ แสดงผลเร็วและแม่นยำ ช่วยเกษตรกรวางแผนการบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพ ฟาร์มสุกรในกว่า 10 ประเทศนำไปทดลองใช้แล้ว
สุกรท้องแล้วหรือยัง? สุกรสาวพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์หรือไม่? เป็นคำถามสำคัญที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องการคำตอบ เพื่อที่จะได้วางแผนการบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ที่ผ่านมา การตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ เกษตรกรต้องมีชั่วโมงบินมากพอสมควรในการสังเกตการตั้งท้องของสุกร ซึ่งสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่อาจยังมีไม่มากพอ นอกจากนี้ การจะใช้ความเชี่ยวชาญส่วนบุคคลซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ในการสำรวจสุกรรายตัวเพื่อพิสูจน์การตั้งท้อง สำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ใช้เวลามาก
“การสังเกตการตั้งท้องของสุกรเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และปัญหาหลักคือสุกรเพศเมียบางตัวไม่แสดงอาการ ทำให้มีโอกาสวินิจฉัยการตั้งท้องผิดพลาด จำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย จากผลงานของทีมวิจัย รศ.ดร.กิตตินันท์ โกมลภิส ร่วมกับ ทีมวิจัยของ ศ.ดร.นสพ.เผด็จ ธรรมรักษ์ แสดงให้เห็นผลเบื้องต้นของการใช้แถบทดสอบที่เตรียมขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการในการช่วยแก้ไขปัญหาได้” ศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ เร่งพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงใช้แนวคิดนี้เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนานวัตกรรมแถบทดสอบที่ใช้ตรวจหาโปรเจสเทอโรนในเลือดของสุกรสาว (Progesterone Test Kit)
“สุกรเป็นเนื้อสัตว์ที่เป็นที่นิยมบริโภค เป็นหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ สร้างรายได้ให้เกษตรกร การบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเศรษฐกิจและการผลิตอาหารสำหรับประชาชน การตรวจสอบความพร้อมในการตั้งท้องของสุกร หรือการตั้งท้องของสุกรจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจเลี้ยงสุกรและมีผลต่อการวางแผนการจัดการซื้อขายสุกรในอนาคต” ศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวถึงความสำคัญในการคิดค้นนวัตกรรมทดสอบการตั้งท้องในสุกร
เดิมที เกษตรกรผู้มีประสบการณ์จะใช้การสังเกตลักษณะทางกายภาพ พฤติกรรม และอาการของสุกรเพื่อดูว่าสุกรพร้อมหรือตั้งท้องแล้วหรือไม่
“เกษตรกรจะดูว่าสุกรมีอาการของการเป็นสัดหรือไม่ โดยดูการตอบสนองของสุกรเพศเมียต่อสุกรเพศผู้เพื่อช่วยวินิจฉัยการตั้งท้องระยะต้นของแม่สุกร โดยอาศัยความชำนาญของแต่ละบุคคล” ศ.ดร.ศิริรัตน์ อธิบายยกตัวอย่าง
ในปัจจุบัน นอกจากวิธีการตรวจสอบด้วยประสบการณ์แล้ว ยังมีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำกว่า เรียกว่า ELISA Test (Enzyme-Linked Immunosorbent Assay)
“วิธีนี้เป็นการตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในเลือดของสุกรสาว ซึ่งโปรเจสเทอโรนเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถ้ามีระดับฮอร์โมนตัวนี้มาก แสดงว่ามีโอกาสตั้งท้องสูง” ศ.ดร.ศิริรัตน์ อธิบาย
อย่างไรก็ดี การตรวจการตั้งท้องด้วย ELISA Test มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องมีการวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการและมีผู้เชี่ยวชาญช่วยอ่านผลจากเครื่องมือ นอกจากนี้ ราคาการตรวจยังค่อนข้างสูงอีกด้วย คือ ตัวอย่างละประมาณ 500 บาท ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การใช้ ELISA Test ไม่เป็นที่นิยมใช้กับฟาร์มสุกรในเมืองไทย
ชุดทดสอบอย่างง่ายเพื่อตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร (Progesterone Test Kit) เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ข้อจำกัดต่างๆ ให้เกษตรกร
“ชุดตรวจนี้เกษตรกรสามารถใช้ทดสอบการตั้งท้องของสุกรได้ด้วยตัวเอง พกพาและใช้งานสะดวก แสดงผลไว ไม่ต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ที่ซับซ้อน และราคาไม่แพง” ศ.ดร.ศิริรัตน์ สรุปจุดเด่นของชุดทดสอบการตั้งท้องในสุกร
“ชุดทดสอบนี้จะตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร โดยการเอาตัวอย่างเลือดจากสุกร อาจจะเจาะบริเวณใบหูของสุกรเพื่อเก็บเลือดประมาณ 3 หยด หรือจะใช้ซีรั่มที่เป็นน้ำใสๆ ด้านบนเวลาตั้งเลือดทิ้งไว้ แล้วเอาสารคัดหลั่งดังกล่าวมาหยดลงบนแถบทดสอบ (Strip Test) ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที ทราบผลทดสอบ คล้ายกับการตรวจโควิด-19 ด้วย ATK”
การอ่านผลไม่ยาก ถ้าผลเป็นบวก ชุดทดสอบจะขึ้น 1 ขีด หมายถึงระดับโปรเจสเทอโรนมีมากกว่า 10 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร แปลว่ามีฮอร์โมนสูงพอที่จะตั้งท้องได้ โดยควรจะทำการตรวจระหว่าง 18-24 วันภายหลังการผสมพันธุ์
แต่ถ้าผลทดสอบเป็นลบ จะขึ้น 2 ขีด หมายถึงระดับโปรเจสเทอโรนมีน้อยกว่า 10 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สุกรไม่ตั้งท้อง
“การตรวจสอบนี้จะช่วยจำแนกสุกรเพศเมีย ที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ และทำให้ผู้ประกอบการรู้ได้ว่าสุกรสาวตัวนั้นพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์หรือไม่ ช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการต้นทุน และการดูแลฟาร์มได้เหมาะสม”
ศ.ดร.ศิริรัตน์ เผยว่าจากการนำชุดทดสอบหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร ไปใช้ตรวจจริงกับแม่สุกรที่ผ่านการผสมพันธุ์ ทั้งในฟาร์มสุกรในเมืองไทย และฟาร์มของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในประเทศสเปน พบว่าชุดตรวจมีความแม่นยำมากกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับวิธีการทดสอบแบบ ELISA
ปัจจุบัน หลายบริษัทชั้นนำในธุรกิจฟาร์มสุกรยังได้นำชุดทดสอบนี้ไปใช้ในต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ ได้แก่ อเมริกา ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สเปน ยูเครน ฟิลิปปินส์ อินโดนิเชีย เวียดนาม เกาหลี และจีน
“ในอนาคต ทีมวิจัยอยากจะขยายการตรวจทดสอบลักษณะนี้ไปที่สัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก เช่น แกะ และ แพะ หรือแม้แต่สุนัขและแมว” ศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว
ชุดทดสอบตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร เป็นงานวิจัยชิ้นแรกของศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล (Qualified Development Diagnostic Center, QDD center) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยของทีมนักวิจัยในจุฬาฯ จนกระทั่งเข้าสู่กระบวนการผลิตชุดตรวจภายใต้ระบบมาตรฐานสากลทุกขั้นตอน เพื่อให้ชุดทดสอบผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล
สำหรับการพัฒนาชุดทดสอบชิ้นแรกนี้ ศ.ดร.ศิริรัตน์ และทีมวิจัย นำโดย ดร.วันวิสา พูนลาภเดชา หัวหน้าห้องปฏิบัติการชีวภาพ ศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาฯ และนายณัฐิวุฒิ ขุนอาวุธ หัวหน้าห้องปฏิบัติการส่วนควบคุมคุณภาพ ศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาฯ ได้นำงานวิจัยของทีมวิจัยของ รศ.ดร.กิตตินันท์ โกมลภิส จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ (IBGE-CU) มาเป็นต้นแบบในการดำเนินโครงการ และพัฒนาร่วมกับทีมวิจัยของ ศ.ดร.นสพ.เผด็จ ธรรมรักษ์ จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวถึงบทบาทของ QDD center จุฬาฯ ว่าเป็นหน่วยงาน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ภายใต้ระบบมาตรฐานสากล ISO13485 โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถรองรับการวินิจฉัยที่ทันสมัยได้
“หน้าที่หลักของศูนย์แห่งนี้คือการพัฒนาชุดตรวจแบบแถบทดสอบ ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว เพื่อให้ผลรวดเร็วในการตรวจวินิจฉัย ให้ได้กระบวนการผลิตที่ใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์” ศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว
“ทั้งนี้ หน่วยงานในจุฬาฯ หรือหน่วยงานต่างๆ ภายนอก สามารถเข้ามารับบริการศูนย์ของเราได้ งานวิจัยที่ต้องการนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ สามารถนำมาผลิตที่นี่เพื่อให้มีความคงที่ ผ่านมาตรฐาน มีการทวนสอบวิธี และตรวจสอบความถูกต้องของวิธี การสอบเทียบและตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้มีความแม่นยำและเชื่อถือได้ตามมาตรฐานสากล”
ติดต่อศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาฯ
โทร.0-2218-5136 , 0-2218-5166
E-mail: qddcenter@gmail.com Website: https://cndc.tech/qdd
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้