Highlights

รอบรู้ เรียนลึก “พุทธศาสน์ศึกษา” กับ จุฬาฯ ครบครันหลักสูตร กิจกรรม และแหล่งค้นคว้า

Chula buddhism

แม้จะไม่ใช่มหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษาที่เข้มข้นลึกซึ้ง มีหลักสูตรต่างๆ ที่เปิดการเรียนการสอนและการวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษา มีศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาของสถาบันไทยศึกษาที่มีเครือข่ายนักวิชาการด้านพุทธศาสนาจากทุกมุมโลกมาแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย และยังมีหอพระไตรปิฎกนานาชาติและธรรมสถานเป็นแหล่งค้นคว้าและร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาอีกด้วย


“พุทธศาสนา” ในความเข้าใจของคุณคืออะไร? หลักไตรลักษณ์ หนทางแห่งการดับทุกข์ นิพพาน พุทธประวัติ พระธรรม การทำบุญ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ประเพณี พิธีกรรม?

ไม่ว่าประสบการณ์และความเข้าใจ “พุทธศาสนา” ของเราแต่ละคนจะเป็นอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ดำรงอยู่ในสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อ รวมทั้งศิลปะในสังคมไทยนับแต่อดีต และอาจจะยิ่งทวีความสำคัญในโลกสมัยใหม่อันแสนปั่นป่วนและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าการศึกษาพุทธศาสนา กล่าวอย่างกว้างๆ มี 2 แบบ คือ แบบแรกคือศึกษาเพื่อการทำความเข้าใจและปฏิบัติตามหลักธรรมตามหลักการพุทธศาสนา ก็คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ หรือศีล สมาธิ ปัญญา (ไตรสิกขา) กับแบบที่สองคือศึกษาในเชิงวิชาการ เรียกว่า พุทธศาสน์ศึกษา (Buddhist Studies) ซึ่งเน้นการวิจัยด้วยมุมมองและระเบียบวิธีต่างๆ

รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล
รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล

ในด้านการศึกษาเพื่อปฏิบัติ อาจารย์อาทิตย์มองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกศตวรรษที่ 21 “พุทธศาสนาเกิดมีขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรจิตใจของเราจึงจะพ้นจากความทุกข์ เข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ และทำอย่างไรเราจึงจะสามารถช่วยผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ได้ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ทางกายหรือทุกข์ทางใจ”

“ในโลกปัจจุบันที่มีปัญหามากมายและนับวันจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น คนมีความทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ  ข้อปฏิบัติสำคัญอย่างหนึ่งที่คนทั่วไปมักมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญ นั่นคือการเจริญสติ ฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบัน สังเกตจิตใจตนเอง ให้มีสติรู้ตัว ไม่คิด พูด ทำในสิ่งที่จะเบียดเบียนตนเองและคนอื่น ซึ่งพระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นหนทางดับทุกข์โดยตรง การเจริญสตินี้มีหลายแนวทางและสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน สำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง การปฏิบัติจึงจะตรง”

“สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งสำหรับการศึกษาปฏิบัติในบ้านเราคือ ตอนนี้มีพุทธศาสนาหลากหลายสายการปฏิบัติ ทั้งเถรวาท มหายาน วัชรยาน เซน ฯลฯ ทั้งหมดล้วนมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการดับทุกข์ทั้งของตนเองและผู้อื่น คนไทยโชคดีมาก ถ้าเราเปิดใจกว้าง ทำความเข้าใจ คำสอนจากหลากหลายแนวทางจะเป็นประโยชน์มากในการช่วยคนและช่วยสังคมให้ดีขึ้น”

ส่วนในด้านการศึกษาพุทธศาสนาในเชิงวิชาการหรือพุทธศาสน์ศึกษา ความมุ่งหมายและลักษณะของการศึกษาจะต่างไปจากแบบแรก เพราะเป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัยเพื่อให้ได้คำตอบทางวิชาการ โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การศึกษาชำระหรือเปรียบเทียบตัวบทคัมภีร์ การศึกษาหลักพุทธปรัชญาเปรียบเทียบกับปรัชญาสากล การศึกษาปรากฏการณ์ความเชื่อโดยใช้มุมมองทางมานุษยวิทยาหรือทางสังคมศาสตร์ ไปจนถึงการศึกษาประยุกต์เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์หรือการดูแลผู้ป่วย ซึ่งการศึกษาพุทธศาสนาในเชิงวิชาการนี้เริ่มขึ้นในประเทศตะวันตกมานานนับร้อยปีแล้วและได้พัฒนาก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง”

ในประเทศไทย นอกจากมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นด้านพุทธศาสน์ศึกษา เนื่องจากมีหลักสูตรที่เข้มข้นและครอบคลุมมิติต่าง ๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา ทั้งในแง่ปรัชญา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติของคณะอักษรศาสตร์ มีศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาของสถาบันไทยศึกษาซึ่งเป็นแกนกลางในการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยพุทธศาสนากับเครือข่ายนักวิชาการจากหลายประเทศทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มีแหล่งค้นคว้าเอกสารทางพุทธศาสนา ได้แก่ หอพระไตรปิฎกนานาชาติที่เป็นคลังพระไตรปิฎกฉบับรัชกาลที่ 5 และพระไตรปิฎกเถรวาทฉบับอักษรและภาษาต่างๆ หอสมุดกลางและศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ ซึ่งมีหนังสือที่มีคุณค่าจำนวนมาก โดยเฉพาะหนังสือเก่าหายาก มีพื้นที่สำหรับเรียนรู้ฝึกฝนพุทธธรรมในภาคปฏิบัติ ได้แก่ ธรรมสถาน นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยก็มีศาสนสถานสำคัญสำหรับการศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนา เช่น วัดปทุมวนาราม ซึ่งมีพุทธศิลป์งดงามและมีบรรยากาศสงบร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติ

เรียนพุทธศาสน์ศึกษาที่คณะอักษรฯ

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มีหลักสูตรหลายหลักสูตรและหลายสาขาวิชาที่เปิดสอนเกี่ยวกับพุทธศาสนา ทั้งหลักสูตรที่สอนและวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษาโดยตรง และหลักสูตรที่พุทธศาสน์ศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในการศึกษา ได้แก่  ผู้สนใจพุทธศาสนาสามารถเข้าเรียนได้ เพียงต้องมีความรู้ภาษาไทยดีพอสมควรเพื่ออ่านตำรา ชาดก คัมภีร์ภาษาไทย เพื่อนำมาวิเคราะห์บริบททางสังคมได้ลึกซึ้งมากขึ้น หลักสูตรภาษาไทย ได้แก่

  1. หลักสูตรบาลีสันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก มีวิชาเรียนเกี่ยวกับอารยธรรมพุทธศาสนา วรรณคดีพุทธศาสนาภาษาสันสกฤต พุทธธรรมในพระไตรปิฎก อารยธรรมพุทธศาสนา เทพปกรณัมอินเดียในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระพุทธศาสนาและศาสนาเชน ศิลปะอินเดีย วรรณคดีพุทธศาสนาภาษาสันสกฤต พุทธธรรมในพระไตรปิฎกบาลี
  2. หลักสูตรสาขาวิชาปรัชญา มีวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพุทธปรัชญา แนวคิดสำคัญในพุทธปรัชญาเรื่องโลก มนุษย์ กรรม สังสารวัฏ และนิพาน และการศึกษาเฉพาะเรื่องในพุทธปรัชญา ปรัชญาญี่ปุ่น ลัทธิชินโต พุทธศาสนามหายาน และลัทธิขงจื้อที่ปรากฎในวัฒนธรรมญี่ปุ่น
  3. หลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย มีการศึกษาอิทธิพลของพุทธศาสนาผ่านงานวรรณคดีไทย เช่น วิชาวรรณคดีคำสอน สัมมนาวรรณคดีพุทธศาสนา สัมมนาวรรณคดีชาดก ซึ่งจะนำชาดก พุทธประวัติฉบับภาษาไทยหลายสำนวนแปลมาวิเคราะห์และทำความเข้าใจถึงบริบทความคิดของสังคมไทยในช่วงเวลาต่างๆ ผ่านผลงานแปลวรรณคดีเหล่านี้

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรนานาชาติ ได้แก่ หลักสูตรไทยศึกษา (Thai Studies) ซึ่งเน้นการศึกษาวิจัยทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ความร่วมสมัยทางสังคมวัฒนธรรมไทย และพุทธศาสนาไทย เปิดรับนิสิตทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และไม่รับวุฒิปริญญา (Non-Degree program)

คณะอักษรศาสตร์ จุฬา

ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาของสถาบันไทยศึกษา แหล่งวิจัยและเครือข่ายวิชาการด้านพุทธศาสนา

ในฐานะสถาบันด้านการวิจัยและวิชาการ จุฬาฯ ได้ก่อตั้งศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา หรือ Chulalongkorn University Centre for Buddhist Studies (CUBS) เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว มีคณาจารย์ท่านสำคัญๆ ที่บุกเบิกงานของศูนย์ อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุนทร ณ รังษี ศาสตราจารย์ ดร.วิทย์ วิศทเวศย์ ศาสตราจารย์กิตติคุณปรีชา ช้างขวัญยืน ศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา ฯลฯ ซึ่งนับแต่แรกเริ่มได้ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา และยังเป็นศูนย์กลางระดมความคิดในการหาแนวทางประยุกต์พุทธศาสนา เพื่อแก้ปัญหาของสังคมไทย ตลอดจนเป็นแหล่งอ้างอิงความรู้ที่ถูกต้องทางพุทธศาสนาแก่สังคมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจ ได้แก่ การตีความและอธิบายพระพุทธศาสนาด้วยกรอบความคิดทางวิทยาศาสตร์ , สมณศักดิ์ : ข้อดีและปัญหา , การแนะนำและแก้ไขปัญหาทางสังคมและการเมืองของพระพุทธเจ้า

ปัจจุบัน ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาได้ย้ายมาอยู่ในสังกัดของสถาบันไทยศึกษา ซึ่งนอกจากพันธกิจเดิมที่ทำมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ปัจจุบันยังได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมเครือข่ายนักวิชาการด้านพุทธศาสนาศึกษาจากทั่วโลกด้วย ล่าสุดในปี 2566 นี้ได้มีการจัดตั้ง Asian Association of Buddhist Studies ประกอบด้วยพันธมิตรทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง เพื่อให้เครือข่ายการวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษาไปได้ไกลยิ่งขึ้น”

เครือข่ายนักวิชาการด้านพุทธศาสน์ศึกษาทั้งไทยและนานาชาติที่สำคัญ

ทั้งคณะอักษรศาสตร์ และศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำงานร่วมมือกันตลอดมาในการพัฒนาวิชาการ การวิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านพุทธศาสน์ศึกษา ได้มีการสร้างเครือข่ายนักวิชาการทั้งไทยและนานาชาติ นักวิชาการที่สำคัญๆ อาทิ

แม่ชีวิมุตติยา (รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง) ผู้มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจเรื่อง The King Chulalongkorn Edition of the Pali Tipitaka: its History and Prominent Features และ The Meditation Practice during the Dvaravati Period (6th – 9th Century A.D.)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศวิรุฬหการ ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลให้ศึกษาด้านพุทธศาสน์ศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ มีผลงานวิจัยสำคัญ ได้แก่ The Ascendancy of Theravada Buddhism in Southeast Asia และ Past Lives of the Buddha: Wat Si Chum – Art, Architecture and Inscriptions

Professor Dr. Peter Skilling หรือศาสตราจารย์ ดร.ภัทร รุจิรทรรศน์ เป็นผู้ชำนาญทั้งพระไตรปิฎกภาษาบาลี สันสกฤตและทิเบต อีกทั้งเป็นอาจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

Professor Dr. Justin McDaniel แห่งมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นผู้มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับพุทธศาสนาไทยจำนวนมาก ทั้งในด้านคัมภีร์ การศึกษาของคณะสงฆ์ และปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่เนื่องด้วยพุทธศาสนา เช่น พิธีกรรม ลัทธิบูชา เครื่องรางของขลัง ฯลฯ

Professor Dr. Soonil Hwang แห่งมหาวิทยาลัยดงกุก สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งสนใจพุทธศาสนาไทยและมีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษากับพันธมิตรในเอเชียและยุโรป

Professor Dr. Martin Seeger ผู้ก่อตั้งวิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) สหราชอาณาจักร ผู้ศึกษาเรื่องราวของผู้หญิงไทยในศาสนาพุทธมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

Dr.Tomas Larsson จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้ศึกษาเรื่องบทบาทและสิทธิหน้าที่ของพระสงฆ์ในสังคมไทย

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือและความอุปถัมภ์จากองค์กรระดับนานาชาติต่างๆ อาทิ Khyentse Foundation ให้รางวัลทุนการศึกษาแก่นิสิตที่ทำวิจัยด้านพุทธศาสน์ศึกษาเป็นประจำทุกปี Henry Ginsburg Fund ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและกิจกรรมวิชาการ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ (Ecole Française d’Extrême-Orient – EFEO) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ.2443) ให้ความสำคัญด้านการวิจัยประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปัจจุบัน มีสำนักงานในประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ และที่กรุงเทพฯ ในศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) รวมทั้งนักวิชาการพุทธศาสน์ศึกษาจากประเทศอื่นๆ อีกมาก เช่น ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ศรีลังกา เยอรมนี สวีเดน

แหล่งข้อมูลสำคัญและหายากด้านพุทธศาสนา

จุฬาฯ มีแหล่งค้นคว้าอ้างอิงด้านพุทธศาสนาที่ทรงคุณค่า ได้แก่ หอพระไตรปิฎกนานาชาติ ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ อาคารมหาวชิราวุธ คณะอักษรศาสตร์

“การศึกษาพระไตรปิฎกเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเถรวาทที่สืบทอดอยู่ในแผ่นดินไทย และหอพระไตรปิฎกนานาชาติ เป็นศูนย์กลางการค้นคว้าและวิจัยด้านพระไตรปิฎกที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นแหล่งส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านมนุษยศาสตร์โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเถรวาท”

ที่นี่รวบรวมพระคัมภีร์พระไตรปิฎกที่บันทึกด้วยอักษรของชาติต่าง ๆ พร้อมพระคัมภีร์บริวารครบชุดรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 2,000 เล่ม ประกอบด้วยพระคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทยฉบับพิมพ์ครั้งแรกของโลกในสมัยรัชกาลที่ 5 พระไตรปิฎกพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกาและปกรณ์พิเศษต่าง ๆ พระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรนานาชาติและภาคแปลภาษานานาชาติ พระคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานเก่าแก่และหายาก

อีกแหล่งค้นคว้าสำคัญคือห้องกรมพระจันทบุรีนฤนาถ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ เป็นห้องสมุดอนุสรณ์ที่รวบรวมหนังสือหายาก โดยการอุทิศหนังสือส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทรบุรีนฤนาถ ในปี พ.ศ.2490 จำนวนกว่า 5,000 เล่ม ทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ

หนังสือส่วนพระองค์เหล่านี้เป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่า ทั้งในด้านการศึกษาสาขามนุษยศาสตร์และประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย หนังสือส่วนใหญ่ปรากฎบรรณสิทธิ์แสดงประวัติการครอบครอง ประกอบด้วยหนังสือหายากในหมวดศาสนา ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ซึ่งบางเล่มเป็นหนังสือเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นเอกสารปฐมภูมิ หนังสือบางเล่มมีลายพระหัตถ์ของผู้เป็นเจ้าของ บางเล่มมีลายมือของเจ้าของเดิมที่เขียนข้อความถวายหนังสือนั้น ๆ ต่อเสด็จในกรมฯ ด้วย

หนังสือหายากเชิงพุทธศาสนาที่น่าสนใจ เช่น A catena of Buddhist scriptures from the Chinese (1871) Literary history of Sanskrit Buddhism (1923) Si-yu-ki : Buddhist records of the Western world (1906) หนังสือชุดนิบาตชาดกฉบับภาษาบาลี หรือ ชาตกฏฺฐกถาย  (1924) เป็นต้น ซึ่งหนังสือเหล่านี้สามารถสืบค้นและอ่านแบบ E-book ได้

กิจกรรมวิถีพุทธนอกห้องเรียน

นอกจากด้านวิชาการแล้ว การเข้าใจพุทธศาสนายังมีเรื่องการปฏิบัติด้วย ที่จุฬาฯ ก็มีพื้นที่ให้ผู้สนใจพุทธศาสนาศึกษาได้ร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาหลากหลาย ที่ ธรรมสถาน ซึ่งก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2522 เพื่อให้เป็นศูนย์กิจกรรมทางศาสนาของมหาวิทยาลัย ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมประเพณีอันดีงามของทุกศาสนา เป็นคลังปัญญาแหล่งสืบค้นด้านศาสนาและวัฒนธรรม และเผยแพร่คำสอนศาสนาแก่นิสิต ประชาคมจุฬาฯ และบุคคลทั่วไป ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีเป็นประจำทุกอาทิตย์และทุกเดือน ได้แก่ กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาและประเพณี การบรรยายธรรมทุกวันอาทิตย์-วันศุกร์ การบำเพ็ญบุญถวายสังฆทาน หล่อเทียนพรรษา เพื่อให้นิสิตและบุคลากรจุฬาฯ ได้ประกอบกิจอันเป็นกุศลและสัมมาปฏิบัติร่วมกัน (ติดตามข่าวและร่วมกิจกรรมได้ที่ http://www.dharma-centre.chula.ac.th/

เรียนรู้วิถีพุทธรอบรั้วจุฬาฯ

ไม่ไกลจากจุฬาฯ นิสิตโดยเฉพาะนิสิตต่างชาติ สามารถเรียนรู้วิถีพุทธแบบไทย ๆ ได้จากวัดที่อยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย

 อาจารย์อาทิตย์แนะนำวัด 2 แห่งที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย “บนเส้นถนนพระราม 4 มีวัดหัวลำโพง พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดในพระพุทธศาสนาที่ผสมผสานความเชื่อแบบวิถีชาวบ้านแบบไทยและจีน ผ่านพิธีกรรมทำบุญโลงศพ สะเดาะเคราะห์ต่ออายุ เสริมมงคลให้ตัวเอง ซึ่งคนแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย เพราะมีความเชื่อว่าการทำบุญโลงศพจะเป็นการสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุขัย ปรับเปลี่ยนดวงชะตาจากร้ายกลายเป็นดี รวมถึงยังช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย”

“อีกแห่งคือวัดปทุมวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2400 ในสมัย ร.4 พุทธศาสนิกชนทุกคนสามารถมาฟังธรรมและนั่งสมาธิด้านในศาลาพระราชศรัทธาที่วัดปทุมวนารามได้ โดยทางวัดจะเริ่มสวดมนต์ทำวัตรเย็นในเวลา 17.00 น. เป็นประจำทุกวัน และมีกิจกรรมเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตตภาวนา สดับพระธรรมเทศนา พร้อมพระภิกษุสามเณร อีกทั้งยังสามารถศึกษาพุทธศิลป์จากภาพจิตกรรมฝาผนัง และชมความงามของพระเสริมและพระแสน พระพุทธรูปศิลปะล้านช้างอันเก่าแก่ได้อีกด้วย” (ชมภาพศิลปกรรมอันงดงานในวัดปทุมวนาราม ได้ที่ https://www.cuartculture.chula.ac.th/news/17255/)

สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาสังคม ศาสนาและวัฒนธรรมไทยในระดับบัณฑิตศึกษา สามารถติดต่อ สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาไทย และภาควิชาปรัชญา และศูนย์ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
โทรศัพท์ 0-2218-4870
เว็บไซต์ https://www.arts.chula.ac.th/th/
อีเมล arts@chula.ac.th

ศูนย์ไทยศึกษา (Thai Studies Center) 
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
โทรศัพท์ 0-2218-4530, 0-2218-4531
เว็บไซต์ https://www.arts.chula.ac.th/international/thai/
อีเมล thaistudiescenter@chula.ac.th

นักวิชาการที่สนใจแลกเปลี่ยนความรู้ด้านพุทธศาสน์ศึกษา สามารถติดต่อ สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้, ศูนย์ไทยศึกษา และศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา
อาคารบรมราชกุมารี ชั้น 13
โทรศัพท์ 0-2218-4654, 0-2218-4656
เว็บไซต์ http://www.cubs.chula.ac.th/
อีเมล cubs@chula.ac.th

สถาบันไทยศึกษา
อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 9
โทรศัพท์ 0-2218-7495
เว็บไซต์ http://www.thaistudies.chula.ac.th/
อีเมล thstudies@chula.ac.th

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า