Highlights

มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย

มิตรเอิร์ธ แพลตฟอร์มความรู้

มิตรเอิร์ธ แพลตฟอร์มออนไลน์โดยอาจารย์จุฬาฯ ให้ความรู้ด้านธรณีวิทยาแบบเข้าใจง่าย พร้อมนวัตกรรมแผนที่ชุดข้อมูลภูมิประเทศแต่ละจังหวัด ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนและอัปเดตสถานการณ์ภัยพิบัติ ให้คนในพื้นที่เฝ้าระวังและเตรียมรับมืออย่างทันท่วงที


นาทีที่มีข่าวน้ำสีโคลนไหลหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พัดพาเอาบ้านและทรัพย์สินของผู้คนไปกับสายน้ำ ผู้ที่ชมภาพและการรายงานข่าวภัยพิบัตินี้เริ่มหวั่นวิตก มีคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบ

ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย

น้ำจำนวนมหาศาลเช่นนี้จะหลากไปทางไหน จะมาถึงชุมชนและบ้านของเราไหม? ฝนจะตกเพิ่มหรือเปล่า? น้ำเหนือจะลงมาถึงพื้นที่ในภาคกลางและกรุงเทพเมื่อไร? เราต้องเตรียมขนของขึ้นที่สูงได้แล้วหรือยัง?

ในช่วงที่ผู้คนสแกนหาข้อมูลความรู้เพื่อเตรียมรับน้ำและภัยพิบัติธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น หนึ่งในแหล่งข้อมูลที่มีผู้สนใจเข้ามาอ่านและแชร์ข้อมูลคือ มิตรเอิร์ธ – Mitrearth ของศาสตราจารย์ ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพจเชียงรายสนทนา (22 สิงหาคม) ชวนตรวจสอบรายชื่อหมู่บ้านที่อยู่ในแนวร่องน้ำ อ่อนไหวต่อการเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมหากฝนตกหนัก โดยใช้ข้อมูลจาก www.mitrearth.org

เพจ Thai Geographers (23 กันยายน) อ้างอิงแผนที่เส้นทางน้ำหลากจากมิตรเอิร์ธ เพื่อเตือนชาวลำปางให้ระวังและเตรียมรับมือ

เพจ Ramrome Weather (7 ตุลาคม) นำข้อมูลจากมิตรเอิร์ธมาอธิบายเพื่อทำความเข้าใจเรื่องน้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัย

แอดมินเพจต่าง ๆ ที่ได้ใช้ข้อมูลจาก มิตรเอิร์ธ (Mitrearth) กล่าวในทำนองเดียวกันว่า”ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หมอกควัน ฯลฯ ศ.ดร.สันติจะแจ้งเตือนและให้ความรู้ที่ทันกับสถานการณ์เสมอ”

“อาจารย์ช่วยเหลือผู้คนด้วยข้อมูลความรู้เชิงวิชาการด้านธรณีวิทยา อธิบายด้วยภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย”

“ข้อมูลและแผนที่ต่าง ๆ ในเพจ อาจารย์ก็ให้ใช้ฟรี เพื่อประโยชน์ทั้งการเรียนการสอนและรับมือภัยพิบัติ”

นับตั้งแต่ปี 2562 ศ.ดร.สันติสร้างและเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ มิตรเอิร์ธ – Mitrearth ด้วยความตั้งใจที่จะแบ่งปันความรู้ทางธรณีวิทยา ข่าวสาร ประสบการณ์ด้านภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์โลก โดยมีจุดเด่นที่นวัตกรรมชุดแผนที่เชิงพิกัด ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจพื้นที่ที่อยู่อาศัยว่ามีโอกาสเกิดเหตุภัยพิบัติอะไรได้บ้าง

“ภัยพิบัติเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งภัยพิบัติใหญ่ที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง หรือภัยพิบัติที่เล็กกว่าแต่เกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่ทุกภัยพิบัติทำให้เราเสียหายเหมือนกัน เราควรเตรียมความพร้อมรับกับภัยทุกภัย การที่คนในสังคมมีความรู้ด้านธรณีวิทยาและภัยธรรมชาติจะมีส่วนช่วยในยามเกิดเหตุ การสื่อสารและเตือนภัยจะทำได้ดีขึ้น และลดความเสียหายและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น” อาจารย์สันติกล่าว

ภูมิอากาศแปรปรวนและภาวะโลกร้อนทำให้ผู้คนในสังคมหันมาสนใจและติดตามข่าวสารสภาพอากาศมากขึ้น – พายุลูกใหม่จะเข้ามาเมื่อไร ความรุนแรงระดับใด น้ำทะเลหนุนวันใด ฯลฯ แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้ด้านภูมิอากาศคือความรู้ด้านธรณีวิทยา

“ส่วนหนึ่งที่ภัยพิบัติทุกวันนี้สร้างความเสียหายมากขึ้นเพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและภาวะทางเศรษฐกิจที่ผลักให้ชุมชนเมืองขยายตัวและเขยิบเข้าไปใกล้พื้นที่อ่อนไหวมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น พื้นที่รอยเลื่อน หรือทางน้ำไหลผ่าน” อาจารย์สันติอธิบาย

“เราจึงควรมีความรู้ด้านธรณีวิทยา เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับความสูง ทางไหลของน้ำ เพื่อจะได้รู้ว่าเรามีภัยพิบัติอะไรใกล้ตัวบ้าง เช่น หากเราอยู่แถวท่าน้ำนนทบุรีก็ควรรู้ว่าบ้านเราอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเท่าไร อยู่ใกล้ตลิ่งหรือไม่ อยู่โค้งไหน โค้งในหรือโค้งนอก”

เมื่อเอ่ยถึงภัยพิบัติทางธรณีวิทยา ผู้คนมักนึกถึงแผ่นดินไหวและแผ่นดินไหวใต้ทะเลที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ แต่อันที่จริง มีภัยพิบัติที่ใกล้ตัวกว่านั้น เกิดได้บ่อยและสร้างความเสียหายได้มาก

“ถ้าไม่นับคลื่นสึนามิ ดินโคลนไหลหลากเป็นภัยพิบัติเดียวที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตจำนวนมาก อย่างเหตุโศกนาฏกรรมดินโคลนไหลถล่มบ้านเรือนประชาชนในตำบลน้ำก้อ และตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี 2544 มีผู้เสียชีวิตถึง 136 คน ภายในคืนเดียว!”

“สึนามิเป็นภัยพิบัติที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักที หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตเราอีกแล้วก็ได้ แต่เราอาจจะได้ประสบกับภัยพิบัติ “ดินโคลนไหลหลาก” ได้อีกในช่วงชีวิตนี้” อาจารย์สันติกล่าวและยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย

“หากบ้านเราอยู่ใกล้ภูเขาและมีธารน้ำที่ไหลออกมาจากภูเขา แล้วไหลผ่านหมู่บ้านเรา แสดงว่าหมู่บ้านของเราเสี่ยงมาก ๆ ต่อดินโคลนไหลหลาก ดังนั้น เมื่อไรที่มีฝนตกบนภูเขาที่อยู่ใกล้เรา และหากลำธารที่ไหลออกจากภูเขาใกล้บ้านเราหรือที่เราอยู่เริ่มมีสีชากาแฟ เราต้องอพยพออกจากพื้นที่โดยด่วน”

อาจารย์สันติกล่าวว่า ภาครัฐควรมีสื่อหรือแหล่งข้อมูลให้คนได้รับรู้ เรียนรู้ และค้นคว้าเกี่ยวกับภัยพิบัติด้วยตัวเอง

“ถ้าให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดก็ควรจะเพิ่ม “วิชาภัยพิบัติธรรมชาติ” หรือ “ภัยพิบัติท้องถิ่น” ในหลักสูตรการเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมหรือมัธยม อย่างนี้ก็จะทำให้ทุกคนในสังคมได้ผ่านหูผ่านตาเรื่องเกี่ยวกับภัยธรรมชาติและการรับมือบ้าง”

นี่เองเป็นแรงผลักดันให้อาจารย์สันติสร้างแพลตฟอร์ม มิตรเอิร์ธ – Mitrearth ที่เป็นเสมือนห้องเรียนออนไลน์วิชาวิทยาศาสตร์โลกและภัยพิบัติธรรมชาติให้กับประชาชนทั่วไป นับตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน เพจมิตรเอิร์ธมีผู้สนใจติดตามกว่าสองแสนรายชื่อแล้ว และมีการอ้างอิงไปยังเพจสาธารณะอื่น ๆ ที่นำเสนอสาระเกี่ยวกับธรรมชาติและภัยพิบัติอีกหลายเพจ

เว็บไซต์มิตรเอิร์ธ เป็นพื้นที่รวบรวมบทความและความรู้ที่น่าสนใจทั้งเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่เชื่อมโยงกับธรณีวิทยา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความสนใจและงานอดิเรกของอาจารย์สันติ

เว็บไซต์มีบทความน่าสนใจมากมาย เช่น   

  • ซากเรือโนอาห์กับธรณีวิทยาน่ารู้
  • “ดงพญาไฟ” ทำไมถึงน่ากลัว ภูมิศาสตร์อาจมีคำตอบ
  • โอกาสภูเขาไฟปะทุที่เมืองไทย
  • 8 ลีลาคนโบราณบริหารจัดการน้ำ
  • โบราณคดีใต้ตอต้นตาล
  • เขามีดอีโต้ ธรณีวิทยาพาเที่ยว
  • หินตั้ง ใครคนตั้ง?
  • ทำไมศรีเทพถึงยิ่งใหญ่นัก
  • เกลือ : เส้นทางสายปลาแดก

แม้บทความต่าง ๆ จะเป็นสาระความรู้เชิงวิชาการ แต่ก็อ่านง่าย สนุกและน่าติดตามพร้อมภาพประกอบและแผนที่ที่ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าใจภูมิประเทศที่เชื่อมโยงกับบริบททางสังคม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี

นอกจากบทความแล้ว ในเว็บไซต์ยังมีแบบฝึกหัดแบบสำเร็จรูปที่คุณครูสามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้และทำแบบทดสอบกับนักเรียน อาทิ แบบฝึกหัดแผ่นดินไหว ทะเลทราย มหาสมุทรและพื้นทะเล น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ภูเขาไฟและหินอัคนี ฯลฯ

ส่วนเนื้อหาในเพจเฟซบุ๊ก มิตรเอิร์ธ เป็นการอัปเดตข้อมูลความรู้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และความสนใจของผู้คน มีทั้งส่วนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางธรณีวิทยา ภัยพิบัติ และวิทยาศาสตร์โลก โดยข้อมูล สไลด์ แผนที่ และแบบฝึกหัดทั้งหมดที่อยู่บนแพลตฟอร์มออน์ไลน์ของมิตรเอิร์ธ อาจารย์สันติเปิดให้ประชาชนทั่วไปดาวน์โหลดและนำไปใช้ประโยชน์ได้

นอกจากนี้ อาจารย์สันติยังรวบรวมความรู้ในรูปแบบเอกสาร e-book (ฟรี) โดยสรุปเนื้อหาและแบบฝึกหัดในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์โลก (Earth Science) อาทิ เอกภพและโลก ธรณีแปรสัณฐาน โครงสร้างภายในโลก น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน แผ่นดินไหว ธารน้ำแข็ง ทะเลทราย ฯลฯ เพื่อมอบให้กับคุณครูสำหรับเป็นสื่อการเรียนการสอน และประชาชนที่สนใจศึกษาเรียนรู้ในด้านวิทยาศาสตร์โลก

สิ่งที่จัดว่าเป็นไฮไลต์ของ “มิตรเอิร์ธ” ที่ผู้คนมักอ้างอิงและใช้ประโยชน์คือ “แผนที่ GIS” นวัตกรรมชุดข้อมูลภูมิประเทศ

“แผนที่ชุดข้อมูลภูมิประเทศเป็นข้อมูลจริงทางธรณีวิทยา สามารถบอกพิกัดความสูง-ต่ำของพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ได้รู้ว่าพื้นที่ที่เขาอยู่อาศัยเป็นพื้นที่สูงหรือต่ำ หรือเป็นพื้นที่อ่อนไหว ที่อาจจะเกิดภัยพิบัติ”

อาจารย์สันติเล่าว่า แผนที่นี้เกิดจากการนำเข้าข้อมูลภูมิประเทศเชิงพิกัดจากดาวเทียมที่มีเผยแพร่ทั่วโลก และใช้เครื่องมือ GIS (geographic information system) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ออกมาเป็นชุดข้อมูลภูมิประเทศของประเทศไทยครบทั้ง 77 จังหวัดอย่างละเอียด ซึ่งคนในแต่ละจังหวัดสามารถดาวน์โหลดข้อมูลของพื้นที่ตนเองมาเรียนรู้ ทำความเข้าใจได้อย่างรอบด้าน ทั้งด้านพื้นที่ แหล่งน้ำ

“ในการเตรียมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ การให้ข้อมูลความจริงที่สามารถเช็กและตรวจสอบได้ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญ และการที่นักวิชาการหรือนักธรณีวิทยาจะสื่อสารว่าจะเกิดภัยพิบัติ นั่นหมายความว่า เขาต้องมีข้อมูลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องครบทุกด้าน เนื่องจากต้องคำนึงถึงความเสียหายที่ตามมาหากภัยไม่เกิด ดังนั้น ข้อมูลที่เผยแพร่บนเพจเป็นการให้ข้อมูลความจริงทางธรณีวิทยา”

ที่ผ่านมา แผนที่ในเว็บไซต์และเพจถูกนำไปใช้ประกอบการวางแผนรับมือภัยพิบัติและกระจายไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพจสาธารณะอื่น ๆ เพื่อการเตือนภัยและเตรียมแผนรับมือ

“เวลาที่มีข่าวสถานการณ์ภัยพิบัติ ผมจะดึงเฉพาะข้อมูลที่จำเป็น ทำเป็นแผนที่ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ปรับสเกลให้มองเห็นชัด นำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่ายที่สุด และพร้อมใช้งานที่เหมาะกับภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ดินถล่ม แยกเป็นชุด ๆ เพื่อแจ้งเตือนคนในพื้นที่สามารถนำไปแชร์ต่อหรือนำข้อมูลไปใช้ในการเตรียมรับมือได้อย่างมีประสิทธิผล”

อาจารย์สันติเล่าถึงการใช้แผนที่โดยยกกรณีน้ำท่วมที่จังหวัดน่านและเชียงรายว่า “ผมทำข้อมูลภูมิประเทศของจังหวัดน่านและเชียงรายมาเผยแพร่ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่อ่อนไหว พื้นที่ใดเป็นทางน้ำไหลผ่านหรือร่องน้ำลึก โดยดูเทียบกับปริมาณน้ำฝน 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้คนเกิดความตระหนักและเตรียมรับมือกับมวลน้ำที่กำลังมา”

ล่าสุด แผนที่ GIS ของมิตรเอิร์ธยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Digital​ War Room แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ นวัตกรรมทำนายพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย อันเป็นดำริของอธิการบดี จุฬาฯ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ที่อยากให้จุฬาฯ ช่วยสังคมในเรื่องการเตือนภัยพิบัติ ไม่ใช่แค่เฉพาะบริจาคหรือนำของไปให้ผู้ประสบภัย

อาจารย์สันติกล่าวถึงบทบาทในโครงการนี้ว่า “อาจารย์คณะครุศาสตร์มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร และเทคโนโลยีการศึกษา ที่สามารถทำระบบแพลตฟอร์มได้ แต่ไม่มี materials ในการเตือนภัย ซึ่งผมมี ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลร่องน้ำ หรืออื่น ๆ ที่ใช้เตือนภัย เราจึงร่วมมือกัน โดยผมเป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูลให้ทีมอาจารย์คณะครุฯ นำข้อมูลไปขึ้นบนแพลตฟอร์ม และเมื่อเกิดภัยพิบัติ ผมจะช่วยนำเสนอและบอกเล่าสถานการณ์แบบใกล้เคียงเรียลไทม์มากที่สุด เพื่อเตือนภัยระหว่างที่เกิดภัย และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”

เมื่อมีการถามถึงโอกาสที่จะนำ AI (Artificial Intelligence) มาใช้ในการพยากรณ์ภัยพิบัติในอนาคต อาจารย์สันติกล่าวว่ายังไม่เหมาะและประเทศไทยอาจยังไม่พร้อม

“ภัยธรรมชาติมีความซับซ้อน และ AI ยังอยู่ในช่วงกำลังเรียนรู้ ยังไม่มีการนำเข้าข้อมูลประสบการณ์ภัยพิบัติที่มากพอ ซึ่งหาก AI พยากรณ์พลาด ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะฉะนั้นในบริบทประเทศไทย เรายังไม่พร้อมที่จะฝากชีวิตไว้กับ AI”

ทุกวันนี้ อาจารย์สันติยังคงตั้งใจเป็นแอดมินเพจด้วยตัวเอง ได้ตอบข้อคำถามและรับฟังข้อคิดเห็นคอมเมนต์จากคนในพื้นที่ประสบภัย ซึ่งเป็นข้อมูลประกอบที่ดีในการทำวิจัยและทำให้เข้าใจภัยพิบัติมากขึ้นด้วย

“ที่ผ่านมา มีทั้งคนในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้าน หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ เข้ามาแชร์ข้อมูลจากทางเพจไป หากเขาสงสัยหรือไม่เข้าใจตรงจุดไหน เขาก็จะส่งข้อความมาสอบถาม บางครั้งก็แจ้งข่าวสถานการณ์ ซึ่งทำให้ได้รายละเอียดข้อมูลจริงมาปรับการแสดงผลข้อมูลพื้นที่ทำให้เห็นภาพภูมิประเทศหน้างานจริงว่า ขณะนี้สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง”

“ในฐานะนักวิจัยและนักธรณีวิทยา ผมตั้งใจจะใช้เครื่องมือ GIS ในการพัฒนาและสร้างสรรค์ชุดข้อมูลภูมิประเทศในมิติอื่น ๆ เพื่อบรรเทาภัยพิบัติเพิ่มให้ครบทุกมิติ เช่น แนวร่องน้ำไหล แนวร่องน้ำที่มีถนนกั้นน้ำที่เสี่ยงถนนขาด จุดอพยพได้ จุดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง และพัฒนาสเกลของชุดข้อมูลให้ละเอียดขึ้นในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด และพัฒนารูปแบบการนำเสนอให้มันย่อยง่าย ดูง่ายขึ้น รวมไปถึงให้ข้อมูลควรรู้สำหรับรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ”

แม้ว่าขณะนี้ภัยพิบัติทางภาคเหนือ อีสาน กลาง และภาคใต้ดูจะคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ภัยพิบัติเกิดขึ้นได้เสมอและแนวโน้มดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงเวลาที่เราทุกคนควรมีความรู้ความเข้าใจด้านธรณีวิทยา รู้จักภูมิศาสตร์ท้องถิ่น แหล่งน้ำ ระดับความสูงต่ำของพื้นที่ ฯลฯ ความรู้เหล่านี้เป็นหนทางให้เรารับมือภัยพิบัติล่วงหน้า และแม้เราจะไม่ได้เรียนเรื่องนี้ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมาก่อน แต่เวลานี้ เรามี “มิตรเอิร์ธ”

ติดตามสาระความรู้ทางธรณีวิทยาและดาวน์โหลดชุดข้อมูลภูมิประเทศ ได้ที่
เฟซบุ๊กเพจ มิตรเอิร์ธ – mitrearth https://www.facebook.com/mitrearth
หรือเว็บไซต์ https://www.mitrearth.org/

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า