รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
20 พฤศจิกายน 2567
ผู้เขียน ธิติรัตน์ สมูรณ์
ส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยศาสตร์แห่งกายภาพบำบัด ปลอดภัย-ไม่พึ่งยา ศ.ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นายกสภากายภาพบำบัด และอาจารย์ประจำภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนผู้สนใจร่วมงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 2567 ชมนิทรรศการวิชาการและนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟู คลินิกให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ และร่วมกิจกรรมสุขภาพมากมาย
การรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ ยาและการผ่าตัด อาจช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรค แต่การดูแลให้ผู้ป่วยกลับคืนมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจำเป็นต้องใช้ศาสตร์แห่งการกายภาพบำบัด
ศาสตราจารย์ ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นายกสภากายภาพบำบัด และอาจารย์ประจำภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว โดยยกกรณีตัวอย่างการกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่า “แม้จะหายจากโรคโควิด-19 แต่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเลยที่มีปัญหาสุขภาพอันเป็นผลพวงจากโรค เช่น ร่างกายอ่อนแรง เดินไม่มั่นคง หรือเหนื่อยง่าย กายภาพบำบัดจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ”
“คนส่วนใหญ่มักมองว่ากายภาพบำบัดเป็นเรื่องของการรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่แท้จริงแล้ว ศาสตร์นี้ครอบคลุมถึงการฟื้นฟูสุขภาพและฟื้นคืนสมรรถภาพของร่างกายให้กลับมาใกล้เคียงหรือดียิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ”
ยิ่งในยุคปัจจุบัน จำนวนประชากรสูงวัย การดำเนินชีวิตที่อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังและโรคเชิงพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ออฟฟิศซินโดรม โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุ ฯลฯ ทำให้ศาสตร์กายภาพบำบัดทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
“กายภาพบำบัดเป็นศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นคำตอบสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ผู้คนมองหาวิธีรักษาที่ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียง” ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าว
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สภากายภาพบำบัด ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรด้านกายภาพบำบัดกว่า 17 แห่งในประเทศ ได้พัฒนาและผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดเป็นจำนวนมาก ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมด้านกายภาพบำบัดต่าง ๆ ตลอดจนแนวทางและมาตรฐานการดูแลและควบคุมคุณภาพคลินิกกายภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ทั้งนี้ ในวาระครบ 20 ปี สภากายภาพบำบัดจึงจัดงาน “การประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 2567” เพื่อนำเสนอความรู้และนวัตกรรมใหม่ล่าสุดด้านกายภาพบำบัด ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2567 ณ สยามพารากอน ชั้น 5
“ในงาน เรานำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านกายภาพบำบัดที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของสภากายภาพบำบัดที่ต้องการพัฒนาวิชาชีพและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสุขภาพของประชาชน” ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าว
ศ.ดร.กภ.ประวิตรอธิบายว่ากายภาพบำบัดเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน วินิจฉัย และการบำบัดภาวะบกพร่องของร่างกายจากโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ โดยใช้วิธีการทางกายภาพ ไม่ใช่การรักษาด้วยยา การฉีดยา หรือการผ่าตัด
“ศาสตร์นี้จึงเน้นการฟื้นฟู ส่งเสริม และป้องกัน โดยใช้เครื่องมือและเทคนิคที่หลากหลาย เช่น การนวด การออกกำลังกายเฉพาะส่วน การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า หรือการใช้เครื่องอัลตราซาวด์เพื่อกระตุ้นเนื้อเยื่อ เป็นต้น”
ในงานการประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด จะมีการจัดแสดงนิทรรศการความรู้กายภาพบำบัดที่น่าสนใจและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย โดยไฮไลท์ของเทคโนโลยีกายภาพบำบัด อาทิ
เซกาโมเดล (SEGA Model) เทคโนโลยีที่นำเลเซอร์กำลังสูงมาใช้ในการรักษาแผลเบาหวานที่เท้า ช่วยเร่งกระบวนการสมานแผล ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นวัตกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้แสงเลเซอร์ในการกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อ และเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในด้านการฟื้นฟูสุขภาพ
Trang Model เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อฟื้นฟูการทรงตัวของผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะจากโรคหินปูนในหูชั้นในหลุด นวัตกรรมนี้เน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสมบูรณ์
Dashboard สำหรับดูแลผู้ป่วย Intermediate Care (IMC) เป็นเครื่องมือที่ช่วยเก็บข้อมูลการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ในโรงพยาบาลจนถึงการดูแลที่บ้าน ช่วยให้ทีมรักษาสามารถติดตามผลและปรับแผนการฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เครื่องฝึกการทรงท่าและการเคลื่อนไหวแบบ Real-Time Feedback ที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวและแสดงผลแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ป่วยฝึกฝนการทรงตัวในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการนำแอปพลิเคชันอย่าง Thalang Physical Fitness Test ซึ่งช่วยทดสอบและประเมินสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยได้สะดวกและรวดเร็ว
หลายกลุ่มอาการและโรคที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง กายภาพบำบัดเข้ามามีบทบาทในฐานะทางเลือกสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เช่น อาการออฟฟิศซินโดรมที่พบในวัยทำงาน สามารถบรรเทาได้ด้วยการปรับท่าทางและส่งเสริมความสมดุลของกล้ามเนื้อ เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถฟื้นฟูการเคลื่อนไหวและกลับมาใช้ชีวิตด้วยโปรแกรมกายภาพบำบัดที่เหมาะสม
“กายภาพบำบัดไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการ แต่ช่วยฟื้นฟูให้คนไข้กลับมาเดิน หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงปกติที่สุด เราไม่ได้ต้องการแค่รักษา แต่ต้องการคืนคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ให้กับผู้ป่วย”
ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าวว่ากายภาพบำบัดไม่จำกัดเฉพาะในช่วงเวลาเจ็บป่วยหรือการฟื้นฟูเท่านั้น หากแต่ความรู้ความเข้าใจเรื่องกายภาพบำบัดจะช่วยให้คนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
“ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาสุขภาพแล้วจึงนึกถึงกายภาพบำบัด แต่ศาสตร์นี้ช่วยให้เรารู้จักการเสริมสร้างและป้องกันปัญหาการเคลื่อนไหวที่อาจเกิดขึ้น”
ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าวถึงความสำคัญของ “กายภาพบำบัดในชีวิตประจำวัน” ที่จะส่งเสริมสุขภาพให้กับคนแต่ละช่วงวัย ดังต่อไปนี้
วัยเด็ก กายภาพบำบัดช่วยเสริมพัฒนาการ เช่น การแก้ไขปัญหากระดูกสันหลังคด การเดินผิดปกติ หรือการเสริมกล้ามเนื้อเพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่เหมาะสมและแข็งแรง วัยเด็กคือช่วงเวลาที่สามารถวางรากฐานสุขภาพให้ดีไปตลอดชีวิต
วัยทำงาน ความเครียดและท่าทางการนั่งทำงานที่ไม่ถูกต้องมักนำไปสู่อาการยอดฮิต อย่างออฟฟิศซินโดรม การบำบัดช่วยบรรเทาอาการปวด เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และปรับท่าทางให้เหมาะสม เพื่อให้คนวัยนี้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ผู้สูงอายุ การเคลื่อนไหวที่มั่นคงคืออิสรภาพในการใช้ชีวิต กายภาพบำบัดช่วยป้องกันการล้ม เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และฟื้นฟูร่างกายหลังการเจ็บป่วย เช่น โรคหลอดเลือดสมองหรือกระดูกหัก เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
“สุขภาพดีไม่ได้เริ่มต้นที่โรงพยาบาล แต่มันเริ่มจากการดูแลตัวเองทุกวัน” ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าวย้ำความสำคัญของกายภาพบำบัดในชีวิตประจำวันที่คนทุกช่วงวัยควรรู้และสามารถฝึกฝนทำเองได้
ในฐานะสมาชิกสภากายภาพบำบัดและหนึ่งในผู้นำในศาสตร์กายภาพบำบัดของประเทศไทย ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ได้ผลิตบุคลากรคุณภาพสูงและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการนี้มากว่า 30 ปี โดยมีหลักสูตรที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก โดยเฉพาะในระดับปริญญาโทที่แยกสาขาเฉพาะทาง เช่น ระบบกระดูก ระบบประสาท และการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้นักศึกษามีความเชี่ยวชาญในด้านที่สนใจ และยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกด้วย
“เรามุ่งเน้นการพัฒนานักกายภาพบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมรับมือกับความซับซ้อนของโรคและความต้องการของผู้ป่วยในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ เรายังมีงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สุขภาพของผู้ป่วย เช่น อุปกรณ์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวและโปรแกรมฟื้นฟูโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น”
นอกจากนี้ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ยังเปิดคลินิกกายภาพบำบัดในมหาวิทยาลัยเพื่อให้บริการดูแลสุขภาพแก่ประชาชน อีกทั้งเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติที่ให้นิสิตเรียนรู้จากผู้ป่วยจริงเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำงานอย่างมืออาชีพ
“เราต้องการให้จุฬาฯ เป็นศูนย์กลางความรู้และนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ป่วยทั้งในประเทศและระดับโลก”
ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าวทิ้งท้ายเชิญชวนประชาชนที่สนใจมาร่วมสัมผัสนวัตกรรมและอนาคตของกายภาพบำบัด ในงาน “การประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 2567” ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2567 ณ พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน
กิจกรรมภายในงาน มีการประชุมวิชาการและกิจกรรมครอบคลุมการดูแลสุขภาพทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยทำงาน ผู้สูงอายุ และเด็กและเยาวชน
คลินิกกายภาพบำบัดเฉพาะทาง: เปิดให้บริการตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ประกอบด้วย
รายละเอียดกิจกรรมในงานเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่เว็บไซต์:https://www.chula.ac.th/news/200109/
เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ของเล่นส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย เล่นก็ได้ แต่งบ้านก็ดี ผลงานการออกแบบจากอาจารย์จุฬาฯ
Virtual StudioLab ห้องเรียนวิทยาศาสตร์เสมือนจริง บ่มเพาะเด็กไทยสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ผลงานนิสิต ป.เอก ครุฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก
“Night Museum at Chula”เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตื่นตากับพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้