Highlights

เทคโนโลยีที่เหมาะสม : ฮีโร่ที่ยังไม่ได้ออกโรงในยุคโควิด-19


การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ ประกอบด้วย ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสินผศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาสผศ.ดร.ภัทเรก ศรโชติ ผศ.ดร.สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาฯ นำเสนอวิธีที่จะลดการระบาดของโควิด-19 อย่างยั่งยืน ในโครงการศึกษาและค้นหาเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพที่เว้นระยะห่างทางสังคมได้ยาก สามารถประยุกต์ใช้และเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างเร่งด่วนและเหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)


เทคโนโลยีที่เหมาะสม กับการช่วยลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 แนะนำโดยคณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ จุฬาฯ
เทคโนโลยีที่เหมาะสม กับการช่วยลดการระบาดของไวรัสโควิด-19

เทคโนโลยีที่เหมาะสม กับการช่วยลดการระบาดของไวรัสโควิด-19

เทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) ไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุด แต่เป็นเทคโนโลยีที่ง่ายต่อการประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน และมีโอกาสสูงในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้จริง คณาจารย์ศศินทร์ได้ประยุกต์ใช้หลักการนี้กับวิกฤตโควิด-19 ในการค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และพร้อมที่จะแก้ปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 ได้จริง ผู้ประกอบอาชีพบางอาชีพ มีลักษณะการทำงานที่ต้องใกล้ชิดกับผู้อื่นแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ พนักงานขาย พนักงานเสิร์ฟ พนักงานแคชเชียร์ พ่อค้าแม่ค้าในตลาด หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 3 กลุ่มเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพบางอาชีพที่เว้นระยะห่างทางสังคมได้ยากสามารถประยุกต์ใช้และเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างเร่งด่วนมีดังนี้

เทคโนโลยีตรวจจับอัจฉริยะ (Smart Sensors)

เป็นเทคโนโลยีที่ตรวจวัดข้อมูลของสภาพแวดล้อมทางกายภาพในรูปแบบต่างๆ เช่น การตรวจวัดการเคลื่อนไหว การวัดระดับอุณหภูมิ หรือการตรวจวัดความผิดปกติจากข้อมูลภาพและเสียงจากกล้องวงจรปิด การใช้เทคโนโลยี Smart Sensors ในการลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถใช้ร่วมกับกล้องวงจรปิดที่มีอยู่แพร่หลายและราคาไม่แพงนัก เพื่อตรวจวัดความผิดปกติจากข้อมูลภาพและเสียงที่ถูกตั้งไว้ล่วงหน้า เช่น การตรวจวัดการละเมิดไม่ใส่หน้ากากอนามัยในที่ทำงาน การไม่เว้นระยะห่างระหว่างการสนทนา หรือการมีคนในห้องมากเกินกว่าจำนวนที่กำหนด นอกจากนี้การตรวจวัดยังสามารถทำได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถใช้ในการแจ้งเตือนและปรับพฤติกรรมได้ทันที แทนที่จะมีไว้เพื่อ “จับผิด” เพียงอย่างเดียว อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่กำลังเป็นที่น่าจับตามองคือ เทคโนโลยี biosensor หรือเทคโนโลยีการตรวจวัดทางชีวภาพ เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ หรือแม้แต่ระดับออกซิเจนในเลือด ซึ่งสามารถนำมาตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ประกอบอาชีพแบบเรียลไทม์ ผ่านการเชื่อมต่อกับสมาร์ทวอทช์ แทนการวัดก่อนเข้าพื้นที่ ซึ่งอาจจะได้ข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อนสูง ซึ่งจะสามารถช่วยระบุบุคคลที่มีความเสี่ยง (เช่น อุณหภูมิร่างกายสูง) เพื่อแยกตัวออกจากผู้อื่นและเริ่มต้นกระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที หากจำเป็นจะต้องบันทึกข้อมูลจาก Smart Sensors เพื่อการลงโทษซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบอาชีพตระหนักว่า “ถูกจับตามอง” อยู่ตลอดเวลาและสามารถเพิ่มความเข้มขันในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ก็สามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาช่วยทำให้ข้อมูลที่บันทึกนั้นมีความถูกต้องและไม่สามารถ “แอบ” ไปแก้ไข    ภายหลังได้

เทคโนโลยีการใช้จ่ายไร้เงินสด (Cashless Payment Technology)

เป็นที่ทราบกันดีว่าธนบัตรหรือเหรียญต่างๆ เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ซึ่งรวมถึงไวรัสโควิด-19 ด้วย องค์การอนามัยโลกได้มีการแจ้งเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้ธนบัตรหรือเหรียญในขณะที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้นการใช้จ่ายไร้เงินสดจะสามารถช่วยให้ผู้ซื้อและผู้ขายเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือคนไทยจำนวนมากยังไม่นิยมการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด แม้ว่าจะมีความพร้อมในด้านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือความคุ้นเคยในการใช้แอปพลิเคชันต่างๆในโทรศัพท์มือถือ โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็ปไซด์ “We Are Social” ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาและบริการด้าน Digital Marketing ชั้นนำของโลก พบว่าร้อยละ 98 ของประชากรไทยมีสมาร์ทโฟน แต่มีเพียงร้อยละ 18.7 ของประชากรเท่านั้นที่เลือกใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ ในขณะที่ประเทศจีนมีประชากรมากกว่าร้อยละ 48 ที่เลือกใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ ทั้งที่ประชากรไทยใช้เวลาเฉลี่ยต่อวันในการเล่นอินเทอร์เน็ตมากกว่าประชากรจีนถึงวันละ 2 ชั่วโมง ดังนั้นปัญหาที่สำคัญคือการศึกษาว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่ใช้เทคโนโลยีการใช้จ่ายไร้เงินสด และก้าวข้ามอุปสรรคนี้อย่างจริงจัง

เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ (Smart Robotics)

ปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีการพัฒนาไปมาก โดยหุ่นยนต์มีความสามารถที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ หรือเก่งกว่ามนุษย์ในหลายๆด้าน เช่น สามารถเคลื่อนไหวได้เองด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ สามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย และสามารถทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนได้ (เช่นการผ่าตัด หรือการไขสกรู) ซึ่งเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะสามารถช่วยลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้โดยการลดการสัมผัสของผู้ประกอบอาชีพในการส่งต่อสิ่งของ อุปกรณ์หรือวัตถุดิบระหว่างการปฏิบัติงาน หรือแม้แต่การส่งต่อสินค้าให้กับผู้บริโภค (เช่น การส่งอาหาร) ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศคือ ที่ประเทศจีนมีร้านอาหารหุ่นยนต์ (robot restaurant complex) อย่างเต็มรูปแบบโดยมีการใช้หุ่นยนต์มากกว่า 40 ตัวในหนึ่งร้านและคาดหวังที่จะผลิตหุ่นยนต์นี้ถึงปีละ 5,000 ตัว  ในประเทศไทยมีการเริ่มใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะในการส่งอาหาร สามารถทำหน้าที่แทนพนักงานได้ตั้งแต่การรับรายการอาหาร พาลูกค้าไปที่โต๊ะอาหาร รวมถึงเสิร์ฟอาหารและเก็บจานได้ หรือแม้แต่การดัดแปลงรถบังคับให้สามารถส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือสิ่งของอื่นๆให้กับผู้ป่วยโควิด-19 แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย 

เมื่อไหร่เทคโนโลยีเหล่านี้จะ “ออกโรง”

ประเด็นสำคัญที่คณาจารย์ศศินทร์พบว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการปรับตัวในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคือ การติด “กับดักทางความคิด” ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง หรืออยากอยู่ใน “Comfort Zone” หลายครั้งเรามักจะสร้างความคิดที่ทำเราเชื่อว่าเรายังสามารถอยู่ใน “โลกใบเก่า” ในกรณีของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ความคิดหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเป็นการสร้างความคิดว่าเรายังสามารถอยู่ใน “โลกใบเก่า” ได้ คือความคิดที่ว่า “อีกไม่นาน” การระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็จะหายไปแล้วเราก็จะกลับไปอยู่ใน “โลกใบเก่า” ที่การใส่หน้ากากอนามัยไม่เคยมีความจำเป็น แต่ถ้าลองดูจากข้อมูลต่างๆอย่าง “ไร้อคติ” เราก็จะพบว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือการใส่หน้ากากอนามัยยังมีความจำเป็นแม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว ไวรัสโควิด-19 มีโอกาสกลายพันธุ์ได้เรื่อยๆ ซึ่งทำให้การระบาดอาจเกิดระลอกใหม่ได้ หรือหากมีบางประเทศในโลกที่ยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19อยู่ มาตรการเฝ้าระวังต่างๆ ก็คงยังมีความจำเป็นอยู่ ดังนั้นการยอมรับโดยสมบูรณ์ว่าเราต้องอยู่ใน “โลกใบใหม่” หรือการใช้ชีวิตแบบ “New Normal” ที่เราได้ยินอย่างคุ้นหูนั้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็จะเป็นบันไดขั้นแรกที่ทำให้หลายๆ คนเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองและองค์กรอย่างยั่งยืน

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า