รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
23 มิถุนายน 2564
ความเครียดสะสม ใจไม่พร้อมเผชิญปัญหา จิตตกแล้วตกอีก ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ศูนย์สุขภาวะทางจิต จุฬาฯ แนะวิธีรับมือความเครียดสะสม สร้างพลังบวกในหัวใจ ไม่ว่าโควิดจะจบเมื่อไร ใจเราจบทุกข์ได้ด้วยตัวเอง
ผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของโรคโควิด-19 ที่กินระยะเวลานานใกล้จะสองปีเต็มและยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในเร็ววัน นอกจากจะคร่าชีวิตผู้คนไปนับล้านแล้ว ยังก่อความเครียดสะสม พอกพูนทุกข์ภาระซ้ำเติมผู้คนทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธุ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอชวนเราๆ ท่านๆ ให้มองกลับเข้ามาด้านใน ออกสำรวจสภาพจิตใจ สนทนากับตัวเอง แล้วสร้างพลังบวกภายในเพื่อผ่อนถ่ายความทุกข์ร้อนในใจก่อนลุกลามกระทบผู้คนรอบข้างและสังคม
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันที่ลดลงจากมาตรการ Social Distancing ย่อมกระทบต่อความสัมพันธ์ของผู้คน ความใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในครอบครัวอาจไม่เหมือนเดิม หลายคนพบว่าตนเองรู้สึกว้าเหว่เดียวดายซึ่งน่าจะเป็นผลพวงจากการลดปริมาณการเชื่อมต่อกับผู้อื่น ที่สำคัญ อารมณ์ความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวเช่นนี้ย่อมเสี่ยงต่อภาวะโรคซึมเศร้าในลำดับถัดไป เพราะฉะนั้น สัตว์สังคมอย่างมนุษย์จึงจำเป็นต้องเร่งหาวิธีคลายเหงา บรรเทาปัญหาด้านจิตใจด้วยการติดต่อเพื่อนหรือใครก็ได้ที่พอคุยกันแล้วสบายใจขึ้น หากิจกรรมทำร่วมกับคนอื่นๆ และอาจต้องขอความช่วยเหลือตามความเหมาะสมถ้าจำเป็นจริงๆ เพื่อเลี่ยงโอกาสที่จะเกิดความรู้สึกแปลกแยกกับโลกและสังคม
ในทางกลับกัน การอยู่ร่วมกับคนอื่นก็อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกอ้างว้างได้เช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการต้องใช้พื้นที่กลางร่วมกันภายในครอบครัวเพื่อเรียนหรือทำงานออนไลน์ ซึ่งจำเป็นต้องแบ่งสรรพื้นที่และเวลากับสมาชิกคนอื่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงจนเกิดความรู้สึกอึดอัดในที่สุด เหตุเพราะขาดพื้นที่และความเป็นส่วนตัวในบ้านของตัวเอง
กรณีเช่นนี้แก้ไขได้ด้วยการเปิดใจพูดคุยกันภายในครอบครัว แลกเปลี่ยนข้อมูลข้อเท็จจริงและความจำเป็นต้องการของแต่ละคนเพื่อจัดสรรตารางเวลาการใช้พื้นที่กลางในบ้านร่วมกันโดยกระทบต่อความรู้สึกของทุกคนน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี จากข้อจำกัดนี้ก็อาจนำโอกาสดีมาสู่ทุกคนในครอบครัวได้รู้จักกันมากขึ้นกว่าเดิม
ผศ.ดร.ณัฐสุดา ให้แนวทาง 4 วิธีที่จะช่วยให้เราสำรวจใจและฝึกฝนทักษะสร้างภูมิคุ้มใจต่อความเครียดต่างๆ ในชีวิต โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด
เทคนิคที่ 1 การจัดการกับปัญหาอย่างเหมาะสม
การเข้าจัดการกับปัญหาอย่างเหมาะสมเมื่อไม่สบายใจเป็นสิ่งที่ควรถูกสำรวจและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ การเผชิญกับปัญหา คือ การรับรู้และประเมินสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และให้เข้าใจเสมอว่าเราแก้ไขได้ด้วยต้นทุนทางปัญญาที่เรามี เทคนิคนี้แบ่งย่อยเป็น 2 วิธี ที่สามารถเลือกใช้ได้ คือ
เผชิญปัญหาแบบมุ่งไปที่จัดการกับปัญหา (Problem-focused Coping)
ความพยายามจัดการปัญหาโดยตรงไปที่เหตุของปัญหา เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง วางแผนและตั้งเป้าหมายในการแก้ปัญหา พร้อมใช้ประสบการณ์ชีวิตประกอบการพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม จากนั้นก็ลงมือแก้ไข ในข้อนี้ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเราด้วย
เผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับอารมณ์ (Emotion-focused Coping)
สำหรับสถานการณ์ที่เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอะไรได้ ให้เรากลับมาควบคุมอารมณ์ คลี่คลายความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าอารมณ์กลัว โกรธ เศร้า คับข้องใจ วิธีที่ทำได้เพื่อระบายอารมณ์ เช่น การบอกให้ใครสักคนได้รับฟังความรู้สึกที่เรามี
เทคนิคที่ 2 ฟื้นพลัง (Resilience)
ความสามารถในการฟื้นพลังคือแนวคิดที่เห็นว่าทุกคนล้มแล้วลุกขึ้นได้เสมอ ทุกชีวิตต้องประสบปัญหาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เราเองก็เช่นกัน ความสามารถในการฟื้นพลังเป็นเสมือนไม้ค้ำยันให้เราลุกยืนขึ้นอีกครั้งหนึ่งและก้าวผ่านปัญหานั้นๆ ไปได้ในที่สุด
เทคนิคนี้ประกอบด้วย 3 แนวคิดสำคัญ ได้แก่
การตระหนักรู้ในสิ่งที่ตนมีอยู่โดยหันกลับไปมองว่าเรามีอะไรและมีใครที่เป็นที่พึ่งหรือขอความช่วยเหลือได้ มีใครที่เข้าใจและเห็นคุณค่าในตัวเรา เป็นที่พึ่งทางใจให้เราได้ เช่น สมาชิกในครอบครัว เพื่อน และคนรัก
การยอมรับคุณค่าในตัวเอง มองเห็นจุดแข็งหรือศักยภาพตนเอง เช่น ความซื่อสัตย์ ความอดทน ตระหนักในความสำคัญของการดำรงอยู่ของตน คุณค่าของตนต่อคนรอบข้าง
การรับรู้ความสามารถของตน ความสามารถที่จะคิด กระทำ พูดคุยหรือซักถามเพื่อจัดการกับปัญหาให้ลุล่วง รวมทั้งการร้องขอความช่วยเหลือและเชื่อว่าตนจะผ่านพ้นปัญหาได้ในที่สุด
ความสามารถนี้ถือเป็นทักษะสำคัญต่อการก้าวพ้นปัญหายากๆ และยังหมายถึงความสามารถที่จะกลับไปเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วย
เทคนิคที่ 3 เมตตากับตัวเอง (Self-compassion)
ความเมตตาต่อตนเองคือทัศนะใหม่ที่ทุกคนพึงมี มองตัวเองโดยไม่ตัดสินถูกหรือผิด ดีหรือไม่ ได้หรือไม่ได้ เทคนิคนี้ชี้แนะให้เรายอมรับหรือเห็นคุณค่าในตัวเองเช่นเดียวกับที่เห็นคุณค่าของคนอื่น อาจเรียกว่าใจดีกับตัวเองเหมือนที่เราใจดีกับผู้อื่น ไม่โบยตีตนเองเมื่อเกิดความผิดพลาดหรือผิดหวัง รู้จักให้อภัยตัวเองบ้าง และมองเห็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับเราก็อาจเกิดขึ้นกับคนอื่นได้
เทคนิคที่ 4 ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ (Gratitude)
ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ ถือเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ควรฝึกฝน โดยแต่ละวัน เราอาจทดลองมองสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งเหล่านั้นที่ช่วยให้เรารู้สึกสุขได้แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สัตว์เลี้ยง ข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งข้าวปลาอาหาร ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรารถนาให้ปรากฏกับตัวเราคือความรู้สึกบวกในจิตใจ กำลังใจ ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังความสัมพันธ์กับผู้อื่น
การแพร่ระบาดของไวรัสระลอกแล้วระลอกเล่าเป็นสถานการณ์ภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ขืนกังวลไปก็รังแต่จะทำให้จิตตก หมดแรง หมดกำลังจะรับมือกับปัญหาอื่นในชีวิต ใครที่เริ่มรู้ตัวว่าเครียดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็อาจทดลองปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น เช่น ยุติกิจกรรมที่ทำอยู่ตรงหน้า ลองขยับปรับเปลี่ยนอิริยาบถ พักความคิดไว้ชั่วขณะแล้วลองออกไปทำกิจกรรมอื่นที่ผ่อนคลายกว่า ถอยห่างจากสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีต่อการบรรเทาความเครียดแล้ว
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้