รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
27 กรกฎาคม 2564
อักษรฯ จุฬาฯ ชวนผู้สนใจติวเข้มภาษาและวัฒนธรรมสเปนใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันกับคอร์สแรกในประเทศไทย “ภาษาสเปนกับนางงาม” ซึ่งจะพาผู้เรียนไปรู้จักโลกของสตรีและวัฒนธรรมความงาม เศรษฐกิจการเมืองโลกบนเวทีการประกวด ครบเครื่องทุกมิติโดยวิทยากรผู้มากประสบการณ์
ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ ร่วมกับสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดคอร์สเรียน “ภาษาสเปนกับนางงาม” (ออนไลน์) โดย อาจารย์ธง – ฐิติพงษ์ ด้วงคง นักวิชาการด้านสตรีศึกษาและลาตินอเมริกาฯ ผู้ชำนาญการประกวดนางงามและคณะทำงานเตรียมความพร้อมให้แก่นางสาวอแมนด้า ออบดัม (Amanda Obdam) ในเวทีประกวด Miss Universe รวมทั้งผู้พากย์ในเวทีประกวดนางงามจักรวาลครั้งล่าสุด
นับเป็นคอร์สเรียนภาษาสเปนที่ตั้งประเด็นการเรียนรู้ได้โดดเด่นเร้าใจ ทำให้เมื่อประกาศเปิดคอร์ส ก็มีผู้สนใจสมัครเข้ามาอย่างล้นหลามจนต้องปิดรับสมัครในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยจำนวนผู้เข้าเรียนตามที่ตั้งไว้ 30 คน และเริ่มเรียนกันไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา
“หัวข้อเรียนรู้ในครั้งนี้เปิดกว้างให้คนที่มีความสนใจจากหลากหลายพื้นฐาน เรามีน้องเล็กสุดอายุเพียง 15 ปี นักศึกษาและคนวัยทำงาน บางคนมีพื้นฐานภาษาสเปนมาก่อนและบางคนเป็นศูนย์เลยก็มี แต่แค่ 1 เดือน คนที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนก็สามารถสื่อสารทำคลิปแนะนำตัวเองได้ดีมากเหมือนเรียนมานาน” อาจารย์ธงกล่าวพร้อมเปิดใจถึงที่มาและประเด็นสำคัญในการเปิดคอร์สที่ไม่ธรรมดา “ภาษาสเปนกับนางงาม”
ที่อื่นก็มีสอนภาษาสเปน แต่ที่นี่จะเรียนต่างออกไป คอร์สนี้ถูกออกแบบมาเป็น Affective Learning ที่จะสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้เรียน และถือเป็นมิติใหม่ของการเรียนภาษาที่ใช้ Theme-based ซึ่งเลือก “วัฒนธรรมการประกวดนางงาม” เป็นหัวข้อหลักในการเรียนการสอน
เราต้องการสร้างความแตกต่างจากสถาบันอื่น และที่เลือกหัวข้อนี้เพราะวัฒนธรรมการประกวดความงามเป็นที่นิยมเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบอเมริกาใต้และอเมริกากลาง โดยเชื่อมโยงเวทีการประกวดกับประเด็นทางสังคม เหตุการณ์การเมืองในประเทศต่างๆ จนกลายเป็นเวทีสะท้อนภาพของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน และอาจนับเป็นส่วนหนึ่งของกระแสความเปลี่ยนแปลงบนเวทีโลก เราจึงเลือกเรื่องนางงามเป็นธีมสำหรับการเรียนรู้ไปพร้อมกับภาษาสเปน
หากมองถอยกลับไปในอดีต ก่อนมีประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในอาณานิคมสเปนซึ่งหมายถึงส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ขยายไปถึงแถบ West Indies เช่น คิวบา ล้วนผูกพันและชื่นชอบนางงามกันมากจนกลายเป็นของคู่กัน ซึ่งนี่เองที่ถูกมองว่าเป็นการปกครองด้วยอำนาจอ่อน (soft power) หรืออำนาจทางวัฒนธรรมแทนการใช้อำนาจปกครองแบบเดิมๆ และการปกครองด้วยอำนาจทางวัฒนธรรมเช่นนี้ก็ได้รับการสืบทอดต่อมาในสมัยที่สหรัฐฯ กลายเป็นมหาอำนาจโลกผู้ครอบงำทางวัฒนธรรมมวลชนในประเทศลาตินอเมริกา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมทั้งประเทศไทยที่สมัยหนึ่ง “อเมริกันสไตล์” กลายเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ประชาชน การแสดงแบบอเมริกันถูกเผยแพร่กระจายไปตามสื่อบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งเวทีประกวดนางงามก็เป็นหนึ่งในกระแสนิยมนี้
จากวัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคมและมหาอำนาจโลก เวทีประกวดวันนี้ได้กลายเป็นโอกาสของตัวแทนพลเมืองประเทศที่ถูกกดขี่ได้ใช้แสดงออกถึงความต้องการสิทธิและเสรีภาพทางเพศ ได้เปล่งเสียงแห่งความคับแค้นจากความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในประเทศตนบนพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนทั่วโลกต่างเฝ้าจับตา และได้อวดความภูมิใจในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนที่แม้แต่ในประเทศตัวเองก็หาโอกาสนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มิติทางการเมืองวัฒนธรรมของการประกวดจึงสำคัญโดดเด่นยิ่งกว่าภาพการแข่งขันความงามของสตรีตัวแทนแต่ละประเทศ
อย่างไรก็ตาม เวทีการประกวดก็ยังเป็นพื้นที่ของโอกาสในชีวิตของผู้หญิงอีกหลายคน โดยเฉพาะผู้หญิงจากประเทศกลุ่มลาตินอเมริกาและบางประเทศในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ ซึ่งบรรยากาศการประกวดหญิงงามในประเทศเหล่านี้ดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีอัตราการแข่งขันกันสูงมาก เพราะผลตอบแทนสำหรับผู้ชนะ นอกจากเงินรางวัลก้อนโตแล้ว ยังหมายถึงโอกาสสำคัญที่สุดในชีวิตนี้ที่จะยกระดับเศรษฐานะของตน หน้าที่การงาน ชื่อเสียง และตำแหน่งแห่งที่ในสังคม
นางงามที่ชนะการประกวดในโลกทัศน์ของพลเมืองในประเทศอดีตอาณานิยมสเปนจะได้รับความชื่นชมยกย่องเสมือนเป็นวีรสตรีแห่งชาติ เธอจะได้รับการปฏิบัติระดับเดียวกับบุคคลสำคัญของประเทศ ภาพลักษณ์ของนางงามผู้ชนะการประกวดจึงมีความหมายแฝงถึง “ความเป็นชาติ” แทนศักดิ์ศรีและความภูมิใจของคนทั้งประเทศ นัยยะนี้ เวทีประกวดความงามของเธอจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป หากเป็นสมรภูมิรบครั้งสำคัญของคนทั้งชาติ เสมือนการต่อสู้ครั้งใหญ่ของผู้คนทั้งประเทศ
นอกจากนี้ ในภาพตัวแทนของสตรีเพศ เธอยังต้องทำหน้าที่สำคัญอีกอย่างคือการเป็นปากเสียงให้แก่ผู้หญิงที่มักตกเป็น “พลเมืองชั้นสอง” ทั้งในครอบครัวและพื้นที่ชีวิตในสังคมนอกบ้าน ด้วยเหตุนี้ เสียงต้อนรับงานประกวดจึงคึกคักเสมอในสังคมลาตินอเมริกาหรือที่ใดก็ตามที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์โภคผลจากความเจริญของประเทศ
เนื้อหาที่อัดแน่นบวกกับการสอนที่สนุกทำให้ผู้เรียนภาษาสเปนกับนางงามหลายคนเข้าห้องเรียนออนไลน์ก่อนเวลา และไม่ยอมเลิกแม้จะถึงเวลาอาหารกลางวันแล้วก็ตาม ดังเสียงสะท้อนความสนุกของผู้เรียน เป็นต้นว่า
“ผมชอบและรักคลาสนี้มากๆ มันเป็นการบูรณาการการสอนที่เป็นการเรียนรู้ผ่าน passion หรือ inspiration ของตัวเอง ทำให้เรารับรู้และเรียนได้เร็วขึ้น สนุกและอยากพัฒนาให้เก่งขึ้น แถมยังได้ความรู้ใหม่ๆ การเมือง ประวัติศาสตร์ด้วย”
“เคยเรียนภาษาสเปนมาแล้ว แต่คอร์สนี้มีเนื้อหาที่ไม่มีสถาบันใดเปิดสอน เราได้เรียนทั้งทักษะด้านภาษาและความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมเรื่องนางงาม”
“ไม่เคยคิดที่จะเรียนภาษาสเปน แต่เนื้อหาคอร์สน่าสนใจ เช่น เฟมินิสต์ หรือการให้คุณค่ากับความเป็นผู้หญิง”
“สนใจประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมในประเทศไทยและแถบลาตินอเมริกา ชอบบทเรียนที่อาจารย์เตรียมมาสอนทุกครั้ง เรียนสนุก เข้าถึงและย่อยเนื้อหาง่าย นำไปใช้ได้จริง”
“สำหรับคนที่ไม่เคยเรียนภาษาสเปนมาก่อน คอร์สนี้คือ Free space ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนภาษาสเปน เป็นพื้นที่ที่มีอิสระ ขจัดทุกความกลัว ความกังวล ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องเขินอายที่จะกลัวผิด ลบภาพจำของการเรียนภาษาแบบเดิมๆ ได้เลย”
เสียงสะท้อนของผู้เรียนทำให้อาจารย์ธงมั่นใจว่าคอร์สภาษาสเปนกับนางงามต้องมีภาคต่ออย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังจะเสริมด้วยรายการอื่นๆ เช่น รายการทอล์กวิชาการผ่าน Zoom ในหัวข้อน่าสนใจอย่าง “มองผู้หญิงลาตินอเมริกันในสื่อ สู่เส้นขอบฟ้าใหม่ของการเรียนรู้ภาษาสเปน” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้
ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญผู้สนใจเข้าฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง “มองผู้หญิงลาตินอเมริกันในสื่อ สู่เส้นขอบฟ้าใหม่ของการเรียนรู้ภาษาสเปน (A Look at Latin American Women’s Presence in the Media towards a New Horizon to Learn Spanish)” โดยวิทยากร อาจารย์ฐิติพงษ์ ด้วงคง นักวิชาการด้านสตรีศึกษา ลาตินอเมริกาศึกษา อาจารย์ภาษาสเปนและ Pageant expert ในวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 น.-15.00 น.
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้