รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
9 สิงหาคม 2564
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาเครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ (Automated Vaccine) ดูดและบรรจุวัคซีนแอสตราเซเนกาลงเข็มฉีดยาได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว ปลอดภัย ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ได้รับวัคซีนอีก 20 % นำร่องใช้เครื่องต้นแบบแล้วที่ศูนย์บริการวัคซีนจุฬาฯ วางแผนผลิตเครื่องเพิ่มเพื่อเสริมทัพเจ้าหน้าที่ด่านหน้าในหลายจุดฉีดวัคซีน เร็วๆ นี้
การกระจายวัคซีนสู่ประชาชนจำนวนมากอย่างทั่วถึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้เร็วที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทั้งรูปแบบของวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ต้องมีการแบ่งใส่เข็มฉีดวัคซีนให้แต่ละคนในปริมาณเท่าๆ กัน อีกทั้งบุคลากรการแพทย์ที่ต้องรับหน้าที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ขบคิดหาทางออกและได้พัฒนาเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ (Automated Vaccine) ที่มีความแม่นยำในการแบ่งวัคซีน ช่วยเพิ่มปริมาณผู้รับวัคซีนได้อีก 20 % และแบ่งเบาความเหนื่อยล้าของบุคลากรการแพทย์
นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ “แอสตราเซเนกา” เป็นวัคซีนหลักของประเทศ ซึ่งจะมีการนำมาใช้ฉีดประชาชนชาวไทยจำนวน 61 ล้านโดส โดยบุคลากรการแพทย์เป็นผู้ฉีด แอสตราเซนเนกาเป็นวัคซีนประเภท multiple dose คือหนึ่งขวดบรรจุ 10 โดส หรือฉีดได้ 10 คน แต่ทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเติมปริมาตรวัคซีนให้เป็น 13 โดสในแต่ละขวด เนื่องจากแต่ละรอบที่บุคลากรการแพทย์ดูดวัคซีนขึ้นมาจะมีการสูญเสียวัคซีน จึงทำให้ใส่ส่วนเกินมา ซึ่งปริมาณส่วนที่เพิ่มเข้ามานี้เป็นโอกาสในการกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้น ดังนั้นที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการจัดฝึกบุคลากรการแพทย์จากสถาบันบำราศนราดูรให้ดูดวัคซีนออกจากขวดให้ได้มากกว่า 10 โดส ซึ่งบางครั้งก็ได้ 11-12 โดส ไม่แน่นอน
“ในฐานะที่เราอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอยู่แล้ว เราเห็นว่าเรื่องนี้เครื่องจักรกลสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ เราจึงประดิษฐ์เครื่องที่ดึงวัคซีนออกมาจากขวดได้เป็นจำนวน 12 โดสอย่างเม่นยำ ทำให้แต่ละขวด สามารถฉีดวัคซีนได้ 12 คน นอกจากนี้ ในแต่ละเข็มจะมีปริมาณวัคซีนที่ถูกต้องเท่ากันด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้พัฒนาเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ ร่วมกับ อาจารย์ศรันย์ กีรติหัตถยากร สำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
“ปัจจุบันวัคซีนมีจำนวนจำกัด การที่เราสามารถเพิ่มการฉีดวัคซีนได้ 20 % ตรงนี้มีคุณประโยชน์กับประเทศชาติมาก” ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวเน้น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชนหลายแห่ง ผลิตและพัฒนาเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ ให้มีความปลอดภัย ปลอดการปนเปื้อน และมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญใช้งานง่ายโดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องเพียงคนเดียวเท่านั้นและไม่จำเป็นต้องเป็นการแพทย์
“เจ้าหน้าที่จะเตรียมเข็มฉีดยาวางไว้บนแท่นจำนวน 12 หลอด จากนั้นนำขวดวัคซีนวางไว้ในจุดที่กำหนดบนสายพานหัวดูดสุญญากาศของเครื่องแบ่งจะดูดวัคซีนจำนวน 6.5 มิลลิลิตรออกจากขวดจนหมด มาใส่ไว้ในกระบอกไซริงค์ฉีดยาขนาด 10 มิลลิลิตร ด้วยหลักการดูดของเหลวโดย Air Cushion วัคซีนจะไม่สัมผัสกับหัวดูดโดยตรงจึงหมดห่วงเรื่องการปนเปื้อน จากนั้นเครื่องจะแบ่งบรรจุวัคซีนลงเข็มฉีดยาตามจำนวนที่กำหนดไว้ คือ 0.5 มิลลิลิตรเท่ากันทั้ง 12 หลอด และมีการเปลี่ยน ตัวเข็มและกระบอกไซริงค์ทุกครั้ง ปลอดภัยไม่ปนเปื้อนแน่นอน” ผศ.ดร.จุฑามาศ อธิบายกระบวนการทำงานของเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ
“เครื่องทำงานแบบระบบสายพาน ทำให้แบ่งบรรจุวัคซีนลงหลอดฉีดยาได้อย่างต่อเนื่องรวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 4 นาที จากนั้นปิดหลอดด้วยเข็มฉีดยา และนำมาเก็บใส่ถาดบรรจุวัคซีนเพื่อนำไปฉีดได้ทันที ซึ่งตรงนี้ช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าในการดูดวัคซีนออกจากขวดได้มาก ลดเวลาทำงานในส่วนนี้ เพิ่มโอกาสให้ผู้รับฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 20% ในหนึ่งวันสามารถเพิ่มการฉีดได้ถึง 1,700 โดส”
ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวว่าหลักการทำงานของเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติสามารถนำไปประยุกต์ตั้งค่าใช้กับการแบ่งบรรจุวัคซีนทางเลือกอื่นๆ ที่มาในรูปแบบ multiple dose ได้เช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน เครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติต้นแบบมีการนำร่องใช้งานจริงแล้วที่ศูนย์บริการวัคซีน จุฬาฯ ซึ่งขั้นต่อไป ผศ.ดร.จุฑามาศ เผยว่าได้เตรียมแผนการผลิตอีกจำนวน 100 เครื่องเพื่อจัดสรรกระจายไปยังจุดฉีดวัคซีนใหญ่ๆ ที่มีปริมาณการฉีดวัคซีนมากกว่า 1,000 โดสต่อวัน เช่น จุดฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ ยังเล็งโอกาสการส่งออกนวัตกรรมไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีการใช้วัคซีนคล้ายๆ กันกับประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างหารือและรอความชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ เครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติยังสามารถต่อยอดใช้การวัคซีนชนิด mRNA ชนิดอื่น เช่น วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งทีมวิจัยกำลังพัฒนาโดยใช้หลักการเดียวกันโดยมีการปรับเปลี่ยนในบางชิ้นส่วนเท่านั้น
Doll House ของเล่นสอนความเห็นอกเห็นใจ รู้อยู่กับผู้พิการในสังคม
สุดยอด! สารสกัดทุเรียนอ่อนระยะตัดแต่งผล ต้านอนุมูลอิสระ ทีมวิจัยจุฬาฯ เล็งผลิตเครื่องสำอาง สร้างมูลค่าของเหลือการเกษตร
StemAktiv นวัตกรรมใหม่จากเภสัชจุฬาฯ กระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิด ฟื้นฟูสุขภาพผิว
Sex Creator อาชีพชายขอบในช่องทางใหม่ ที่ต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช่ป้องปราบ
ความหวังผู้ป่วยมะเร็ง! ศูนย์ความเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร จุฬาฯ ผนึกแพทย์สหสาขา เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
จุฬาฯ แตกกลยุทธ์ “เรือเล็ก” รับมือโลกพลิกผัน ชูธงมหาวิทยาลัยวิจัยนวัตกรรม บ่มเพาะผู้นำสร้างสังคมอนาคต
ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย