Highlights

อาจารย์จุฬาฯ และนักวิชาการกรมควบคุมโรค แนะมาตรการ 4 เร่ง ลดการระบาดโควิด-19 ในไทย


ผศ.ดร.ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ  อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเงิน สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาฯ และนายพงษ์สุธีร์ ทองเกลี้ยง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์สารสนเทศ กรมควบคุมโรคนำเสนอบทความ ‘มาตรการ 4 เร่ง เพื่อลดการระบาดวิกฤติการณ์โควิด 19 ประเทศไทย’ ชี้การบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์อย่างจริงจังและเข้มข้นสามารถที่จะควบคุมการระบาดลงได้จริง ย้ำหากไม่เข้มงวดในมาตรการ ประชาชนจะเสียชีวิตในปริมาณที่สูงภายในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมเสนอ ‘มาตรการ 4 เร่ง’ เพื่อช่วยลดการระบาดของวิกฤติการณ์โควิด 19 ประเทศไทย ประกอบด้วย 4 มาตรการดังนี้


รูปที่ 1: จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของทั้ง 4 ฉากทัศน์ เทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อจริง

1. เร่งตรวจและรักษากักตัวผู้ป่วยไม่ให้แพร่เชื้อต่อให้ได้มาก ทั่วถึง และเร็วที่สุด

ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มอาสาสมัครจากหลายภาคส่วน เช่น กลุ่มแพทย์ชนบท ได้เข้ามาช่วยกรุงเทพฯ โดยการเร่งทำการตรวจเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit (ATK) กระจายไปตามชุมชนต่างๆ เพื่อที่จะเร่งคัดกรองหาจำนวนผู้ป่วยในแต่ละชุมชนเพื่อให้ยารักษาแก่ผู้ป่วยเหล่านี้หายเร็วที่สุด ยิ่งรีบรักษาได้เร็วเท่าใด โอกาสที่พวกเขาจะกลายเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีแดงก็จะน้อยลง ทำให้ช่วยลดภาระของระบบสาธารณสุขไปได้ อีกทั้งให้คำแนะนำในการกักตัวและป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อต่อให้คนรอบข้าง ซึ่งเป็นการช่วยยับยั้งการระบาดได้ไม่ให้ทวีความรุนแรงขึ้นไปจากระดับปัจจุบัน

อีกวิธีในการเพิ่มการตรวจ ATK ให้ได้ครอบคลุมมากที่สุดคือการกระจายชุดตรวจ ATK ไปให้ทุกภาคส่วนในระบบสาธารณสุข ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาล ไปจนถึงระดับคลินิกเอกชน หน่วยอนามัยประจำตำบลหรือหมู่บ้าน เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการกระจายการตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงให้เข้ามาอยู่ในระบบการรักษาและกักตัวโดยเร็ว

2. เร่งวิธีการบังคับใช้มาตรการห้ามการรวมกลุ่มให้เข้มข้น

มาตรการที่ได้ประสิทธิผลสูงที่สุดในการคุมการระบาดในหลายประเทศคือการห้ามการรวมกลุ่มของประชาชนอย่างเข้มข้น แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่เดินตรวจตามถนนเหมือนที่หลายประเทศทำอยู่ ทางกรมควบคุมโรคมีวิธีการที่จะมีประสิทธิภาพและจะช่วยยับยั้งการระบาดได้ดีกว่า คือการใช้ระบบแจ้งเบาะแส ซึ่งเป็นการรวมพลังความร่วมมือจากประชาชนทั้งประเทศ ช่วยกันสอดส่องดูแลแจ้งเบาะแสผู้ที่กระทำผิดมั่วสุมตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในตรอกซอกซอย หรือการลักลอบเปิดบ่อนการพนันมั่วสุม ซึ่งเป็นแหล่งเริ่มต้นของการระบาดในอดีตที่ผ่านมา

ระบบนี้สามารถเชื่อมต่อโดยตรงกับทางตำรวจเจ้าของพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อมีการแจ้งเบาะแสเข้ามา ตำรวจในพื้นที่ก็จะเข้าไประงับเหตุที่จุดนั้นทันทีเพื่อที่จะยับยั้งกิจกรรมดังกล่าว เป็นการบังคับใช้มาตรการได้อย่างเข้มข้นแท้จริง อีกทั้งระบบนี้เป็นระบบกรอกข้อมูลผ่านทางมือถือทำให้ไม่ต้องรอสาย ผู้แจ้งเบาะแสสามารถแจ้งได้ทุกเวลาทันที และตำรวจจะเห็นข้อมูลที่ส่งมาในระยะเวลาแทบจะทันทีเช่นกัน โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาแจ้งเบาะแสในระบบได้ที่ http://bit.do/ddccovid-19thailand ซึ่งถ้าประชาชนรวมพลังกันช่วยสอดส่องดูแล จะช่วยระงับยับยั้งการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

3. เร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ได้มากและเร็วที่สุด

รัฐบาลควรจัดหาวัคซีนในปริมาณที่มากกว่าปัจจุบัน ไม่ควรเลือกหรือรอยี่ห้อที่ต้องการ ควรจัดหามาเพื่อให้ฉีดได้เร็วที่สุด ยิ่งได้วัคซีนมาเร็วก็จะช่วยให้การระบาดลดลงเร็วขึ้น กดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลงและลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้มากขึ้น ปัญหาหลักปัจจุบันของไทยคือไม่สามารถหาวัคซีนมาได้อย่างทันการ ทางรัฐบาลจำต้องปลดล็อคขั้นตอนราชการต่าง ๆ เพื่อให้หลายหน่วยงานมาสามารถเข้ามาช่วยด้านการจัดหาวัคซีนมาให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่ทำหน้าที่ช่วยลดการระบาดก่อนเป็นอันดับแรก เช่น แพทย์ พยาบาล บุคลากรด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการบังคับใช้มาตรการป้องกันการระบาด และกลุ่มที่จำเป็นต่อปัจจัย 4 ของประชาชน เช่น โรงงานผลิตอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ ในทางกลับกัน ไม่จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่เพิ่มการระบาดและไม่มีความจำเป็นต่อปัจจัย 4 ของประชาชน เช่น ผู้ชุมนุมประท้วง สถานบริการสถานบันเทิง บ่อนการพนัน ควรยับยั้งกิจกรรมเหล่านี้โดยการปิดและเพิ่มโทษ ลงโทษขั้นสูงสุดถ้ามีการฝ่าฝืน เพื่อลดกิจกรรมที่เพิ่มการระบาดเหล่านี้ให้มีน้อยที่สุด

4. เร่งสร้างความตระหนกและตระหนักให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์วิกฤติที่แท้จริง

การที่ประชาชนรับทราบถึงภาวะวิกฤติ จะช่วยให้ประชาชนตระหนักและลดการเคลื่อนที่ ซึ่งความเข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงจะทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือ และเพิ่มความระมัดระวังตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลดการระบาด เมื่อประชาชนรับทราบและเข้าใจถึงสถานการณ์จริง โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จะยิ่งช่วยให้ประชาชนตระหนักและช่วยกันระมัดระวัง ป้องกัน และลดการระบาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ได้มีการปรับขั้นตอนการตรวจคัดกรองและส่งตัวผู้ป่วย เพื่อป้องกันการรักษาล่าช้าตามแผนการทำงานใหม่ที่เปลี่ยนให้ผู้ป่วยระดับสีเขียวไม่ต้องตรวจ RT-PCR แล้ว ให้รับยาและรักษาที่บ้าน ผลจากการปรับขั้นตอนนี้ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่รายงานจะลดลง เพราะตัวเลขดังกล่าวรายงานเฉพาะผู้ติดเชื้อจากการตรวจ RT-PCR เท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้จะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากในขั้นตอนใหม่นี้จะตรวจ RT-PCR เฉพาะผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง และผู้ที่เข้า community isolation เท่านั้น ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงานช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ลดลงต่ำกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริง ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อจริง ไม่ได้ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้น การที่ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วเมื่อเห็นตัวเลขที่รายงานลดลง อาจส่งผลให้ลดความระมัดระวังตนเองลง ซึ่งอาจจะส่งผลเสียทำให้เพิ่มการระบาดมากขึ้น จึงต้องเร่งแก้ไข สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน เช่น ปรับการรายงานเป็นรายงานผลรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อจาก RT-PCR และ ATK รวมกันแทน เพื่อให้เห็นภาพสถานการณ์การระบาดที่แท้จริง

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า