Highlights

ดนตรีบำบัดคลายเครียด บรรเทาปวดได้ผล จุฬาฯ ต่อยอดงานวิจัย เพิ่มนักเยียวยาในสังคม


ผลทางการแพทย์ชี้ ดนตรีบำบัดลดความดันเลือด บรรเทาความเจ็บปวดระหว่างรับการรักษาด้วยคีโม ฟอกไต กระตุ้นสมองผู้สูงวัย ศิลปกรรมฯ จุฬาฯ เปิดหลักสูตรผลิตนักดนตรีบำบัด หวังเยียวยาผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสังคม


ในต่างประเทศ ดนตรีบำบัด (Music Therapy) ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ซ้ำยังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ตรงข้ามกับสังคมไทยที่หลายฝ่ายยังขาดความเข้าใจในกระบวนการบำบัดด้วยศาสตร์นี้ ส่งผลให้ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่มีแผนการสร้างบุคลากรด้านดนตรีบำบัด ขาดแคลนทั้งคนและความรู้ คุณค่าและความหมายของดนตรีในสังคมไทยจึงไปไม่พ้นแวดวงวิชาการและบันเทิงคดี

คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เห็นความสำคัญของศาสตร์นี้ต่อสังคม ที่ผ่านมาจึงได้ศึกษาวิจัยดนตรีบำบัดกับผู้ป่วยโรคไตที่กำลังฟอกไต ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่กำลังรอผลการวินิจฉัยโรค และผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น โดยผลการศึกษาพบว่าดนตรีบำบัดช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ลดความดันโลหิต รักษาความปกติของอัตราการเต้นของหัวใจ คลายความกังวลให้ผู้ป่วยทั้งระหว่างได้รับการรักษาและระหว่างรอผลการวินิจฉัยโรค อันส่งผลให้ขั้นตอนการรักษาดำเนินไปอย่างราบรื่น

“ดนตรีบำบัดคือการใช้ดนตรีและวิธีการทางดนตรีในการช่วยฟื้นฟู รักษา และพัฒนาด้านอารมณ์ ร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ก่อนบำบัดก็ต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญโดยดนตรีจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บำบัดกับผู้เข้ารับการบำบัด และทุกกิจกรรมบำบัด ไม่ว่าจะขับร้อง ฟังเพลงบรรเลงหรือดนตรี ล้วนถูกออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เข้ารับการบำบัด” ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงศาสตร์แห่งดนตรีบำบัดที่ทางคณะฯ เปิดหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีบำบัด (หลักสูตรนานาชาติ) เพื่อผลิตนักดนตรีบำบัด รองรับสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและมีแนวโน้มการป่วยด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์
คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดนตรีบำบัดผู้สูงวัย

 หนึ่งในงานวิจัยของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาปฏิกิริยาทางอารมณ์และพฤติกรรมทางสังคมของผู้สูงอายุหลังการฟังเสียงเพลงจากเครื่องดนตรี “อังกะลุง” ผลสรุปว่าเสียงดังกล่าวได้กระตุ้นพลังใจและความเบิกบานให้แก่คนวัยนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ ความกระชุ่มกระชวยกลับมาอีกครั้งเช่นเดียวกับกำลังใจและความทรงจำ วันคืนของบั้นปลายชีวิตไม่ได้ผ่านเลยไปอย่างไร้ความหมาย ความมีชีวิตชีวาถูกปลุกขึ้นภายในซึ่งทำให้คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ได้รับการฟื้นฟู รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเริ่มปรากฏจากทัศนคติเชิงบวก และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมบำบัดคือชุมชนคนขิงแก่

 “เพียงเสียงดนตรีอย่างเดียว ยังไม่มีนักดนตรีบำบัด ก็ช่วยรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ได้ ขอเพียงหูยังได้ยินเสียง ฟังเพลงที่เขาเคยร้อง สักพักก็ร้องตามได้ เราเชื่อว่าสมองส่วนดนตรีเก็บข้อมูลไว้ได้นาน ขณะที่สมองส่วนที่ใช้ไม่ได้ก็จะหมดสภาพ สมองส่วนดนตรีจึงเป็นเสมือนกล่องข้อมูลเก่าที่รอวันเสียงดนตรีดังขึ้น กระตุ้นการทำงานของสมองส่วนนี้ให้ทำงานอีกครั้ง เซลล์สมองข้างเคียงก็จะกระชุ่มกระชวยตามไปด้วย” ศ.ดร.บุษกร กล่าว

ออกแบบดนตรีบำบัด

ศ.ดร.บุษกร อธิบายว่าดนตรีบำบัดมีรายละเอียดมากกว่าการฟังเพลงเพื่อการผ่อนคลายและบันเทิง ศาสตร์นี้มุ่งเน้นทุเลาความเจ็บปวดและขจัดความวิตกกังวลของผู้ป่วย ซึ่งในการบำบัดจำต้องมีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้ารับการบำบัด เช่น สภาพร่างกายปัจจุบัน ความสามารถในการขยับตัว บุคลิกภาพ พื้นฐานครอบครัว ปูมหลังชีวิต และที่สำคัญต้องรู้คือแนวดนตรีและเครื่องดนตรีที่ชื่นชอบ ซึ่งนักดนตรีบำบัดจะประมวลข้อมูลเหล่านี้จากการพูดคุยกับผู้ป่วยและคนใกล้ชิดก่อนออกแบบดนตรีในรูปแบบ Bedside Music Therapy ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

กิจกรรมดนตรีบำบัดเป็นไปได้หลากหลายแบบ ขึ้นกับความเหมาะสมและความต้องการของผู้รับการบำบัด ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านดนตรีก็ได้

“อยู่ๆ เราจะไปเปิดเพลงเพื่อลดความเจ็บปวดไม่ได้ นักบำบัดต้องพูดคุยกับคนไข้และคนใกล้ตัวคนไข้ก่อน สำหรับคนไข้ที่ขยับตัวไม่ได้ ก็จะฟังดนตรีอย่างเดียว แต่ถ้าคนไหนขยับตัวได้ ก็เพิ่มเครื่องดนตรีเข้าไปให้สัมผัสซึ่งจะช่วยทำให้เกิดผลของการใช้ดนตรีบำบัดที่ดีมากยิ่งขึ้น ความสุขคือประเด็นสำคัญที่สุดในการใช้ดนตรีบำบัด” ศ.ดร.บุษกร กล่าวเน้น

รูปแบบการบำบัด

ดนตรีบำบัดมี 2 รูปแบบ ได้แก่

การบำบัดแบบเดี่ยว (Individual Music Therapy) เหมาะสมกับผู้ที่ชอบเก็บตัวและผู้ป่วยที่ถูกควบคุมใกล้ชิด แต่กระนั้น ถ้าผู้ป่วยภาวะปกติสนใจการบำบัดแบบเดี่ยวก็ทำได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความพร้อมของผู้เข้ารับการบำบัด


ให้ผู้ป่วยฟังเพลงขณะทำการรักษา

การบำบัดแบบกลุ่ม (Community Music Therapy) เหมาะสมกับผู้ที่ไม่อาจใช้ดนตรีบำบัดตัวเองเพียงลำพัง ข้อดีของการบำบัดแบบกลุ่มคือโอกาสที่ผู้เข้ารับการบำบัดจะได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นซึ่งการเรียนรู้ร่วมกันนี้ก็จะลดทัศนคติเชิงลบของตน คลายความเหงาได้จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ส่วนดนตรีที่นำมาใช้บำบัดก็จะคัดสรรจากค่าเฉลี่ยแนวดนตรีที่ทุกคนในกลุ่มนิยมฟัง

อังกะลุงรูปแบบการบำบัดแบบกลุ่มกับผู้สูงวัย

หลักสูตรสร้างนักดนตรีบำบัด

นักดนตรีบำบัดอาจทำหน้าที่คล้ายนักจิตวิทยาแต่ไม่ใช่นักจิตวิทยาเนื่องจากใช้การสื่อสารผ่านภาษาที่ไม่ใช่คำพูด (Nonverbal Communication) โดยวินิจฉัยและประเมินผู้ป่วยผ่านสีหน้าและท่าทางที่สังเกตเห็น ไม่จำเป็นต้องพูดให้กำลังใจใด ๆ เพราะทุกอย่างจะถูกสื่อผ่านดนตรี นักดนตรีบำบัดจึงต้องมีความรู้หลากหลายสาขา ทั้งระบบประสาท การทำงานของสมอง จิตวิทยา และทักษะการเขียนเพลงสำหรับการด้น (improvise) ที่พอเหมาะพอดีกับสภาพของผู้เข้ารับการบำบัด ซึ่งทักษะที่ว่านี้ต้องฝึกฝนมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 900 ชั่วโมง พร้อมประกาศนียบัตรรับรองความถนัดทางวิชาชีพ

“แต่นักดนตรีบำบัดที่ผ่านการฝึกฝนและได้รับใบรับรองที่ถูกต้องมีน้อยถึงน้อยมาก เราจึงเปิดสาขาวิชาดนตรีบำบัดขึ้นเพื่อสร้างนักดนตรีบำบัดที่มีคุณภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงด้านดนตรีบำบัดระดับโลกมาเป็นประธานหลักสูตร” ศ.ดร.บุษกร กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีบำบัด (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นหาข้อมูลเพิ่มใน https://www.faa.chula.ac.th/subjectmain/indexcourse/147

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า