Highlights

ส่อง “ฉลากยา” ใช้ฟ้าทะลายโจรต้านโควิด-19 อย่างปลอดภัย

ส่อง “ฉลากยา” ใช้ฟ้าทะลายโจร ต้านโควิด-19 อย่างปลอดภัย

เภสัช จุฬาฯ ชี้ประโยชน์และข้อควรระวังของฟ้าทะลายโจร ชวนเข้าใจฟ้าทะลายโจรให้มากขึ้น  แนะผู้บริโภคใส่ใจ “ฉลากยา” เพื่อเลือกและใช้ยาฟ้าทะลายโจรอย่างได้ผลและปลอดภัย


ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรไทยที่เป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงสาธารณสุขประกาศบรรจุตัวยาฟ้าทะลายโจรเป็นหนึ่งในยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ ก็เกิดกระแสความต้องการสมุนไพรชนิดนี้อย่างมากจนทำให้สินค้าขาดตลาดในช่วงนั้น เรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรก็ออกมาท่วมท้นพื้นที่โซเซียลมีเดีย ทั้งสรรพคุณว่าฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิดได้ บ้างก็ว่าเพียงบรรเทาอาการ อีกทั้งมีคำเตือนว่าอาจเป็นอันตรายต่อตับ ฯลฯ หลายข้อมูลที่ขัดกัน สร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการใช้ยาที่ผิดและเกิดโทษได้

ดร.ภก.กิติยศ ยศสมบัติ อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับตัวยาสมุนไพรนี้ มาให้ทุกคนทราบถึงประโยชน์และข้อควรระวังต่าง ๆ เพื่อที่จะได้สามารถใช้ยาฟ้าทะลายโจรได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นในช่วงวิกฤตหรือใช้รักษาอาการโดยทั่วๆ ไปก็ตาม

Kittiyot Yotsombut
ดร.ภก.กิติยศ ยศสมบัติ

ฟ้าทะลายโจรคืออะไร

ฟ้าทะลายโจร (ชื่อวิทยาศาสตร์: Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall. ex Nees) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดจากแถบประเทศอินเดีย ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งเป็นพุ่มเล็ก ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปใบหอก ใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ มีความสูงประมาณเข่า (ประมาณ 30-60 ซม.) ซึ่งมีอายุอยู่ได้ประมาณ 3-5 ปี สามารถพบเห็นได้ง่าย เนื่องจากฟ้าทะลายโจรจะมีผลเป็นฝักสีเขียวอมน้ำตาล ปลายแหลม เมื่อผลแก่จะแตกเป็นหลายซีก ดีดเมล็ดออกมา คล้ายฝักต้อยติ่ง จึงเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายมาก และยังมีการปลูกเป็นพืชสวนครัวอย่างแพร่หลายในประเทศไทยมาอย่างยาวนานแล้วอีกด้วย

โดยทั่วไปพืชแต่ละชนิดมักจะมีสารพฤกษเคมีอยู่เป็นร้อยชนิดอยู่แล้ว แต่สารตัวสำคัญที่ฟ้าทะลายโจรมีอยู่นั้นก็คือ กลุ่มสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolides) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสและยับยั้งการอักเสบได้ จึงนิยมนำมาใช้ในการรักษาอาการไข้หวัด ท้องเสีย เป็นต้น

green chiretta
ต้นฟ้าทะลายโจร

สรรพคุณของฟ้าทะลายโจร

ตามตำรายาแผนโบราณของไทย ฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์หลัก ๆ ได้แก่ ลดไข้ ฆ่าเชื้ออ่อน ๆ และลดการบีบตัวของลำไส้ ในประเทศไทยจึงนิยมใช้รักษาไข้หวัดและอาการท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อเป็นหลัก

จริง ๆ แล้วสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรนั้นมีอีกมาก ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ เพราะในฟ้าทะลายโจรนั้นมีสารพฤกษเคมีอยู่จำนวนมากที่เป็นประโยชน์

“ในตำรายาของบางประเทศ ใช้ฟ้าทะลายโจรได้ครอบจักรวาลมาก เช่น รักษากรดไหลย้อน แน่นหน้าอก อาการไอ เบาหวาน หรือแม้กระทั่งทาภายนอก แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฝี บางที่ก็มีการนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอาง เป็นต้น” อ.กิติยศ ยกตัวอย่างสรรพคุณอื่น ๆ ของฟ้าทะลายโจร ที่นำไปใช้อย่างกว้างขวาง

“อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ลึกขนาดนั้น สิ่งสำคัญก็คือ คุณภาพของยา เราควรจะทราบว่า แม้จะเป็นฟ้าทะลายโจรเหมือนกัน แต่ยังมีกระบวนการผลิตของบริษัทต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน สัดส่วนของสารออกฤทธิ์ที่ได้รับก็อาจจะแตกต่างกันไป ซึ่งส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน” อ.กิติยศ ชวนให้ตระหนักในการใช้ยาฟ้าทะลายโจร 

ดังนั้น การอ่าน “ฉลาก” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายขึ้น

ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดได้จริงหรือ

“ตอนที่โควิด-19 เกิดขึ้น โรคนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน เพราะฉะนั้นในระยะแรก การรักษาโควิด-19 ก็รักษาเหมือนไข้หวัด ก็คือรักษาตามอาการ” อ.กิติยศ เท้าความถึงช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงแรก ๆ

“เมื่อเกิดโรคใหม่ขึ้นมา การคิดค้นยาขึ้นมาใหม่สักตัวให้ทันใช้เป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการนำยาที่มีอยู่แล้วมาทดสอบว่าสามารถฆ่าเชื้อได้หรือไม่” อ.กิติยศ อธิบายต่อ

จากการทดสอบโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโดยตรงและยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสในฟ้าทะลายโจร แต่ไม่มีฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งใกล้เคียงกับงานวิจัยโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ที่วิจัยโดยการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน ในผู้ป่วยโควิด-19 ระดับไม่รุนแรง พบว่าฟ้าทะลายโจรอาจช่วยลดโอกาสการดำเนินโรคโควิด-19 จากระดับน้อยไปเป็นปอดอักเสบได้  

กล่าวได้ว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ยาหลาย ๆ ชนิดที่เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เช่น ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เองก็เป็นยาที่มีมาแต่โบราณแล้วเช่นกัน ซึ่งฟ้าทะลายโจรก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ถูกนำมาทดสอบ เนื่องจากฟ้าทะลายโจรนั้นมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสอยู่แล้ว และมีข้อมูลอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นแม้ว่าจากผลการวิจัยที่ผ่านมาจะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าฟ้าทะลายโจรนั้นสามารถรักษาโควิด-19 ได้ แต่อย่างน้อยฟ้าทะลายโจรก็สามารถช่วยลดอาการไข้หวัดได้ จึงกลายเป็นหนึ่งในตัวยาที่นำมาใช้เพื่อรักษาอาการกันอย่างแพร่หลายนั่นเอง

ฟ้าทะลายโจร ใช้อย่างไรให้ได้ผลและปลอดภัย

ขนาดและวิธีใช้

  • หากใช้เพื่อรักษาไข้หวัดทั่วไป แนะนำให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ 20 มิลลิกรัม 3 มื้อ หรือ 60 มิลลิกรัมต่อวัน
  • หากใช้เพื่อรักษาโควิด-19 จะใช้ที่ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์มากกว่า คือ 60 มิลลิกรัม 3 มื้อ หรือ 180 มิลลิกรัมต่อวัน

ทั้งนี้ ฟ้าทะลายโจรนั้นยังสามารถใช้ได้เฉพาะในกลุ่มที่มีอาการน้อย เพื่อบรรเทาอาการ ส่วนกลุ่มที่อาการรุนแรง และกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน) และสตรีมีครรภ์ ก็ยังไม่แนะนำให้รับประทาน เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยรองรับ

อ่านฉลากให้ง่ายขึ้น

ฉลากของยาฟ้าทะลายโจรบางยี่ห้อไม่มีการระบุข้อมูลปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ บางฉลากหรือข้อมูลในแผ่นพับหรือตามโซเชียลมีเดียมีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด อาจเป็นการจงใจหลอกหลวง หรือด้วยความไม่รู้ของผู้ค้า ยิ่งไปกว่านั้น บางยี่ห้อเลี่ยงโดยใช้การขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือเป็นประเภทอื่นที่ไม่ใช่ยา และอาจจะไม่มีสมุนไพรฟ้าทะลายโจรประกอบอยู่

สิ่งที่สำคัญในการดูฉลากยาฟ้าทะลายโจร อ.กิติยศ แนะว่า “หากบนฉลากไม่ระบุปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ไว้ ก็ไม่ควรรับประทาน”

การซื้อยาฟ้าทะลายโจร ผู้บริโภคต้องตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อดูปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่ถูกต้องเหมาะสมกับการบริโภค ที่สำคัญ ให้สังเกตเลขทะเบียน อย. เนื่องจากยาว่าฟ้าทะลายโจรจัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ฉลากต้องมีเลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย “G”

ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่ไม่ถูกต้องได้จากเว็บไซต์ของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา

ข้อควรระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจร

อาการแพ้ยา

แม้จะเป็นสมุนไพรก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจรอาจจะเกิดอาการผื่นคัน ลมพิษ หรือหากมีอาการแพ้อย่างรุนแรง อาจทำให้หลอดลมบวมจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากยังไม่ทราบว่าแพ้ฟ้าทะลายโจรหรือไม่ ควรจะสังเกตอาการตนเองตั้งแต่รับประทานครั้งแรก

ไม่ควรใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น

เนื่องจากในฟ้าทะลายโจรนั้นมีสารพฤกษเคมีอยู่หลากหลายชนิด ซึ่งมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการที่หลากหลายมากดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้นหากนำไปรับประทานร่วมกับยาชนิดอื่น เช่น ยาลดความดันเลือด ยารักษาเบาหวาน ยาโรคไต โรคตับ ยาต้านไวรัส เป็นต้น อาจทำให้ยาตีกัน ผู้ใช้อาจเกิดอาการหน้ามืดใจสั่นจากความดันเลือดต่ำหรือน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

ไม่ควรรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขระบุไว้ คือ ไม่เกิน 5 วัน เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือเท้าชา ดังนั้น หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 3-5 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

โดยสรุปแล้ว ฟ้าทะลายโจร ถือว่าเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่อยู่คู่คนไทยและนำมาใช้บรรเทาอาการไข้หวัดและท้องเสียมาอย่างยาวนาน เมื่อมีวิกฤตโรคระบาดอย่างโควิด-19 ขึ้น ฟ้าทะลายโจร จึงได้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่ถูกนำมาใช้ต่อสู้กับวิกฤตในครั้งนี้ และได้มีการพยายามศึกษาหาความเป็นไปได้ในการรักษามากมาย ฟ้าทะลายโจรช่วยบรรเทาอาการในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยได้ และมีข้อมูลการวิจัยที่พบศักยภาพในการยับยั้งเชื้อไวรัสได้ แต่ในที่สุดแล้วก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรจะสามารถรักษาโควิด-19 ให้หายขาดได้

“เหรียญย่อมมีสองด้าน ทุกอย่างมีประโยชน์ก็ต้องมีโทษ สมุนไพรก็เป็นทางเลือกที่ดี หากมีข้อมูลการศึกษาอย่างเพียงพอ ก็มั่นใจได้มาก แต่ถึงแม้ว่ามาจากธรรมชาติ ก็มีโอกาสทำให้เกิดการแพ้ เกิดอาการข้างเคียง หรือว่าตีกับยาตัวอื่นเหมือนกับยาแผนปัจจุบันเช่นกัน เพราะฉะนั้นก่อนใช้ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน” อ.กิติยศ ฝากทิ้งท้าย

เอกสารอ้างอิง

  1. https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/dtam-news/dn/8165-dn0073.html
  2. https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2021/07/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94-19.pdf

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า