รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
27 กันยายน 2564
ผู้เขียน ธิติรัตน์ สมบูรณ์
สัตวแพทย์ จุฬาฯ ร่วมรณรงค์วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก 28 กันยายนนี้ ให้ความรู้ สร้างความตระหนักพิษภัยโรคพิษสุนัขบ้า จัดกิจกรรมฉีดวัคซีนให้นิสิตสัตวแพทย์จิตอาสา ที่ลงชุมชน ย้ำคนกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่ออันตรายถึงชีวิต เรียกได้ว่าเป็นโรคที่ติดแล้วเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นการรักษาโรคที่ดีที่สุดในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกจึงได้ประกาศให้ทุกวันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักรู้ถึงความรุนแรงและอันตรายของโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งเห็นความสำคัญของการให้ความร่วมมือในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป
“โรคโควิด-19 ที่อันตรายถึงชีวิตแล้ว โรคพิษสุนัขบ้าก็เป็นโรคที่อันตรายไม่แพ้กัน ถ้าทิ้งไว้จนเกิดอาการแล้วก็เสียชีวิตค่อนข้างแน่ แต่ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่แรกรับเชื้อก็มีทางรอด และที่สำคัญ โรคนี้ป้องกันได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวย้ำ พร้อมเผยถึงโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่นิสิต สัตวแพทย์ จัดโดยชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อร่วมรณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า
“เป็นประจำทุกปีชมรมเราดำเนินโครงการเป็น 2 กลุ่มหลักคือ 1.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับนิสิตสัตวแพทย์ ซึ่งจะต้องศึกษาภาคปฏิบัติการและมีการปฎิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับสุนัขและแมว และ 2. กิจกรรมค่ายรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งนิสิตที่เข้าร่วมจะต้องได้รับการฝึกฝนเพิ่มทักษะและประสบการณ์เกี่ยวกับวิชาชีพสัตวแพทย์ ทั้งเป็นการปลูกฝังให้นิสิตตระหนักถึงการเรียนรู้ในการทำหน้าที่จิตอาสาฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวในชุมชน รวมถึงให้ความรู้และข้อมูลที่จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในชุมชนอีกด้วย” ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ อธิบายกิจกรรมและเป้าหมายโครงการ ซึ่งแม้การฉีดวัคซีนจะเน้นให้กับนิสิต แต่ก็ต้องการส่งสารไปถึงบุคคลกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ที่ต้องปฎิบัติงานใกล้ชิดกับสัตว์ ผู้ดูแลฟาร์มสุนัขและแมว รวมถึงผู้ปฎิบัติงานด้านการอาบน้ำตัดขนสัตว์ (อาจหมายรวมถึงบุรุษไปรษณีย์และพนักงานส่งเอกสาร) ฯลฯ ให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำด้วย
นอกจากนี้ ชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ก็ยังเป็นหน่วยงานให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งการป้องกัน และวิธีการปฎิบัติตนหากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมวกัดหรือข่วน เป็นต้น ทั้งนี้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและช่องทางต่างๆ รวมถึงเพจเฟสบุ๊กของชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า Facebook: CURabies club โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้าหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Rabies เป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาท ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) ที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว โค กระบือ หมู หนู กระต่าย ค้างคาว แพะ แต่ที่เรียกติดปากว่า “พิษสุนัขบ้า” เพราะพบโรคนี้ครั้งแรกในสุนัข และจากสถิติพบว่ากว่าร้อยละ 95 ของผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในประเทศไทยเกิดจากสุนัข รองลงมาคือแมว
เชื้อไวรัส Rabies ติดต่อเข้าสู่คนได้เมื่อถูกสุนัขหรือแมวที่มีเชื้อปะปนในน้ำลายกัด ข่วน หรือเลีย โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล รวมถึงเยื่อเมือก เช่น ชองปาก จมูกหรือตาได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เคยพบกรณี ผู้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากการบริโภคเนื้อดิบที่มาจากโค กระบือที่ติดโรคพิษสุนัขบ้าอีกด้วย
อาการของสุนัขที่ติดโรคพิษสุนัขบ้ามี 3 ระยะด้วยกัน ซึ่งหากพบในระยะแรกยังพอรักษาได้ แต่หากการดำเนินโรคไปถึงระยะที่ 2 และ 3 แล้ว เตรียมใจบอกลากันได้เลย
ระยะที่ 1 อารมณ์ อุปนิสัยของสัตว์เปลี่ยนไปจากเดิมไม่ว่าจะเป็นความก้าวร้าวหรือเซื่องซึม
ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการทางประสาท หงุดหงิด กระวนกระวาย ทรงตัวไม่ได้ แสดงอาการแปลกๆ เช่น มีความพยายามกัดไม่เลือก ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ เริ่มมีอาการอัมพาตบางส่วนของร่างกายในส่วนของกล้ามเนื้อคอและกล่องเสียง สังเกตได้ว่ามีลักษณะลิ้นห้อย น้ำลายไหล กลืนน้ำและอาหารไม่ได้
ระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้าย จะเกิดการอัมพาตทั้งตัวอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตในที่สุด จากการอัมพาตของระบบประสาทและทางเดินหายใจ ระบบหายใจล้มเหลว รวมระยะเวลาเริ่มแสดงอาการจนตายประมาณ 10 วันเท่านั้น
เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดเนื่องจากในอดีตอาจสังเกตเห็นสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าว่ามีอาการ กลัวน้ำ คือร้องและแสดงการทุรนทุรายเวลากินน้ำ จึงเรียกว่าเป็นโรคกลัวน้ำ แต่แท้ที่จริงแล้ว สัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้กลัวน้ำ แต่ไม่สามารถกลืนน้ำหรืออาหารได้ เนื่องจากเป็นการอัมพาตของกล้ามเนื้อคอ กล่องเสียง และหลอดอาหาร ทำให้เมื่อกินจะสำลักและเจ็บปวดมาก จึงมีอาการเหมือนกลัวน้ำ
เมื่อถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน ไม่ว่าสุนัขที่กัดเรานั้นจะเป็นสุนัขที่เรา “เลี้ยงเอง” “ของคนอื่น” หรือ “ไม่มีเจ้าของ” (สุนัขจรจัด) ก็ตาม ให้จำหลักการให้ขึ้นใจเลยว่า “ล้างแผล ใส่ยา ขังหมา หาหมอ” โดยรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ เพื่อขจัดน้ำลายที่อาจมีเชื้อปะปนจากนั้น ใส่ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจเป็นทิงเจอร์ไอโอดีนหรือเบตาดีนก็ได้ หากเป็นสัตว์ที่ไม่รู้จักหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่ฉีดพิษสุนัขบ้าแล้วก็อย่าเพิ่งวางใจ ให้ขังหรือกักบริเวณสัตว์ไว้เพื่อเฝ้าดูอาการประมาณ 2 สัปดาห์ หากสัตว์มีอาการผิดปกติหรือเสียชีวิตให้รีบแจ้งแพทย์ผู้รักษา เมื่อใส่ยาแล้วให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าและป้องกันบาดทะยัก
ในกรณีที่ถูกสัตว์กัดเป็นแผลใหญ่และลึก หรือเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงอยู่จำนวนมาก เช่น บริเวณใบหน้าหรือใกล้สมอง แพทย์อาจจะพิจารณาฉีดอิมมูโนโกลบูลินเพื่อทำลายเชื้อไวรัสบริเวณบาดแผลให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคอันตรายถึงตาย แต่ถ้าพบแพทย์โดยเร็วก็รอดได้
ในอดีตเราอาจเคยผวาเพราะได้ยินว่าวิธีการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าที่จะต้องถูกฉีดวัคซีนรอบสะดือถึง 21 เข็ม ในปัจจุบัน การรักษาเป็นการฉีดวัคซีนเพียง 4-5 เข็มเท่านั้น (ในวันที่ 0, 3, 7,และ 28) และไม่ต้องฉีดรอบสะดืออีกด้วย ทั้งนี้โปรแกรมการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าผิวหนัง รวมถึงต้องฉีดอิมมูโนโกลบูลินหรือไม่นั้น จะอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์
การป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงควรพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเป็นประจำปีตามที่สัตวแพทย์นัดโดยฉีดได้ตั้งแต่สุนัขและแมวอายุที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป และมีการกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี นอกจากนั้น ผู้ที่มีความจำเป็นต้องสัมผัสเป็นประจำหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกกัด อาทิ สัตวแพทย์ช่างตัดขนและอาบน้ำสัตว์ผู้ดูแลฟาร์มสัตว์และบุคคลที่ต้องใกล้ชิดกับสัตว์เป็นประจำ (อาจรวมถึงหลายอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการถูกกัด เช่นบุรุษไปรษณีย์ หรือผู้ส่งเอกสารตามบ้าน) ก็ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่นเดียวกัน (แต่เป็นคนละชนิดกับที่ให้ในสัตว์เลี้ยง)
การรับวัคซีนพิษสุนัขบ้าในกรณีถูกสุนัขกัด ในช่วงที่มีการนัดหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำคู่ขนานกันไปได้โดยไม่จำเป็นต้องเว้นระยะเวลา เพียงแต่ให้ฉีดคนละจุดกันเท่านั้น เนื่องจากเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตทั้งคู่ ดังนั้น หากจำเป็นต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลกับวัคซีนโควิด-19 แต่อย่างใด ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ กล่าวเตือนทิ้งท้ายว่า “ระมัดระวังและป้องกันตัวจากโควิด-19 แล้ว ก็อย่าลืมป้องกันตัวจากโรคพิษสุนัขบ้าด้วย เพราะเป็นโรคที่อันตรายเช่นกัน”
สถิติของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 มีสูงถึง18 ราย มีจำนวนสัตว์ติดเชื้อที่ให้ผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าสูงถึง 1,476 ตัวอย่างซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว แต่ในปี 2563 พบผู้เสียชีวิตลดลงเหลือเพียง 3 ราย มีจำนวนสัตว์ติดเชื้อ 236 ตัวอย่าง ซึ่งในปีนี้ข้อมูลถึงเดือนสิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากพิษสุนัขบ้า 3 รายและมีจำนวนสัตว์ติดเชื้อ 128 ตัวอย่าง ซึ่งคาดอัตราการติดเชื้อที่น้อยลงนี้ อาจเป็นผลจากการที่ผู้คนกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ค่อยออกไปพบเจอสัตว์ที่อาจจะเป็นโรค อย่างไรก็ตาม การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเข้าใจวิธีการป้องกันและรักษาโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อรักษาชีวิตสัตว์และผู้คนจากโรคร้ายที่คงยังไม่หมดไปจากประเทศไทยง่ายๆ เนื่องจากสุนัขจรจัด (ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคหลัก) ในประเทศไทยยังมีจำนวนมาก การควบคุมการประชากรสุนัขจรจัด รวมถึงการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขจรจัดที่ระแวงและหวาดกลัวคนนั้นก็ทำได้ยาก นอกจากนี้ หลายจังหวัดก็ยังมีพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งหลบซ่อนของสุนัขจรจัดได้ อีกทั้งพรมแดนของประเทศไทยนั้นติดต่อกับหลายประเทศ ดังนั้นแนวทางการควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้านั้นจึงไม่ประสบความสำเร็จได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาคอีกด้วย
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้