Highlights

ก้าวใหม่การรักษาด้วยจุลินทรีย์ ผ่านเครื่องสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเฉพาะบุคคล เพื่อปรับสมดุลร่างกาย เสริมภูมิและต้านโรค


เครื่องสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเฉพาะบุคคล นำส่งจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพให้ตรงความต้องการของร่างกาย แพทย์จุฬาฯ คิดค้นเพื่อรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการที่หาสาเหตุของโรคไม่เจอและผู้มีภาวะความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ (dysbiosis)


จากงานวิจัย การวิเคราะห์จุลชีพเชิงเปรียบเทียบสำหรับการพัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติก ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ช่วยลดไขมันในเลือด ไขมันพอกตับ และไขมันในชั้นผิวหนังได้ จึงเกิดแนวคิดต่อยอดงานวิจัย ประดิษฐ์เครื่องสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเฉพาะบุคคล เพื่อนำส่งจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีให้ตรงตามที่ร่างกายของแต่ละบุคคลต้องการ

“เครื่องนี้สามารถสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกแก่ผู้ที่มีภาวะสมดุลของจุลชีพไม่ดี ผู้ที่ขาดจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์บางชนิด รวมถึงผู้ที่มีอาการป่วยโดยหาสาเหตุของโรคไม่พบ เพื่อเสริมจุลินทรีย์ชนิดดีและรักษาสมดุลจุลินทรีย์ที่อยู่ภายในร่างกาย” รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมชิ้นนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์
รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์
อาจารย์ประจำภาควิชาเวชสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุลินทรีย์สมดุล สุขภาพแข็งแรง

ในร่างกายของคนเรามีจุลินทรีย์นับร้อยชนิดอาศัยอยู่ ซึ่งมนุษย์จำต้องพึ่งพิงจุลินทรีย์เจ้าถิ่นในลำไส้เหล่านี้เพื่อช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย

“จุลินทรีย์ที่ดี ในปริมาณที่เหมาะสมในร่างกายจะช่วยให้ระบบเมตาบอลิซึม การเผาผลาญไขมันและน้ำตาลทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกัน-ลดการเกิดภูมิแพ้ ต่อต้านเชื้อก่อโรค รวมถึงป้องกัน-รักษาโรคมะเร็งบางชนิดได้” รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าว อีกทั้งเสริมว่าปัจจุบันกำลังศึกษาวิจัยเปรียบเทียบจุลินทรีย์ของผู้ป่วยมะเร็งต่างๆ อาทิ มะเร็งปากมดลูก1-2 มะเร็งลำไส้3-4 มะเร็งเต้านม5-6 และมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

ภาวะความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ มีอาการอย่างไร

ในกรณีที่ร่างกายขาดจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์บางชนิด ร่างกายก็จะเกิดภาวะความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ (Dysbiosis) โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น ท้องอืดบ่อย ท้องเสีย ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น มีกลิ่นปาก มีอาการภูมิแพ้เรื้อรัง ผิวหยาบ ผิวมันเกิน นอนไม่หลับ เครียดง่าย และแก่กว่าวัย เป็นต้น

“คนไข้บางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการป่วยหยุมหยิมถึง 5 อาการ คือ นอนไม่หลับ มีผื่นขึ้น มีอาการจาม อ้วน และอารมณ์แปรปรวนง่าย อาการเหล่านี้เป็นปัญหาสุขภาพที่ยังไม่ได้คำตอบถึงสาเหตุ จากการตรวจทั่วๆไป (Unexplained health problem) แพทย์ก็จะรักษาตามอาการป่วยซึ่งเป็นที่ปลายเหตุ ซึ่งหลายราย พบว่ามีภาวะความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ และเมื่อรักษาด้วยด้วยวิธีปรับสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายแล้ว พบว่าอาการป่วยของคนไข้ดีขึ้นตามลำดับ” รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าว

ชุดตรวจจุลินทรีย์ในร่างกายด้วยตนเอง

ร่างกายของแต่ละคนต้องการจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่างชนิดกัน และในแต่ละวัน จุลินทรีย์ในร่างกายก็ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงตลอดทั้งปริมาณและชนิด การบริโภคผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดอาจไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป รศ.ดร.นพ. กฤษณ์ แนะให้ตรวจสอบว่าร่างกายของเราขาดจุลินทรีย์ชนิดใด แล้วจึงเลือกเติมจุลินทรีย์ที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

“ปัจจุบัน ตามโรงพยาบาลมีห้องแลปสำหรับตรวจวัดสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย มักนิยมใช้เทคโนโลยีการตรวจหาเชื้อที่มีชื่อเรียกว่า  “16s rRNA Sequencing”  สำหรับการจำแนกจุลินทรีย์แต่ละชนิด แต่ราคาค่าตรวจค่อนข้างสูงและใช้เวลาวิเคราะห์ผล 2-3 สัปดาห์ ทำให้กว่าจะนำผลตรวจมารักษาอาการ จุลินทรีย์ในร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว”

จากปัญหาดังกล่าว รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ จึงพัฒนา Test kit ชุดตรวจชนิดจุลินทรีย์โพรไบโอติกแบบพกพา” (ราคา 2,500 บาทต่อชุด) ซึ่งคนทั่วไปสามารถตรวจได้เองที่บ้าน

“ปัจจุบันชุดตรวจ 1 ชุด มี Test kit 5 อัน วิธีตรวจเป็นการนำอุจจาระมาละลายในสารละลายบัฟเฟอร์แล้วหยอดลงใน Test kit ทั้ง 5 อัน ต่อมา หยอดน้ำยาตรวจเชื้อจุลินทรีย์ 5 ชนิดลงใน Test kit อันละชนิด รอประมาณ 15 นาที ก็สามารถอ่านและบันทึกผล แล้วส่งต่อให้แพทย์ที่ทำการวินิจฉัยเพื่อสั่งชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ที่เหมาะสมแก่ร่างกายแบบเฉพาะบุคคลได้” รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ อธิบายการใช้ชุดตรวจ

รักษาด้วยจุลินทรีย์โพรไบโอติกอย่างตรงจุด

เมื่อตรวจพบว่า ร่างกายของเราพร่องจุลินทรีย์ตัวใด การเลือกเติมจุลินทรีย์ก็ต้องการความจำเพาะ จึงเป็นที่มาของเครื่องสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเฉพาะบุคคลที่ช่วยรักษาคุณภาพของจุลินทรีย์ให้สดใหม่และยังมีชีวิตเกือบ 100%

รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ อธิบายขั้นตอนการใช้นวัตกรรมดังกล่าวว่า “เมื่อคนไข้ได้ผลการตรวจชนิดของจุลินทรีย์ในร่างกายแล้ว แพทย์จะนำผลวินิจฉัยเพื่อวางแนวทางรักษาต่อไป” ซึ่งมีกระบวนการทำงาน 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การรับข้อมูลและส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ คือการนำผลการตรวจจุลินทรีย์ของคนไข้เข้าระบบเพื่อคำนวณหาสัดส่วนและชนิดของจุลินทรีย์ที่เหมาะสมกับคนไข้
  2. การเก็บจุลินทรีย์โพรไบโอติกแบบแยกส่วนจำเพาะ คือการเตรียมผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ให้อยู่ในการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น
  3. การสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเฉพาะบุคคล คือการสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ผ่านเครื่อง
เครื่องสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเฉพาะบุคคล
กระบวนการทำงานของเครื่องสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเฉพาะบุคคล

“เครื่องจะสั่งจ่ายในรูปแบบของเหลว คนไข้สามารถดื่มได้ทันทีเพื่อคงความสดใหม่และมีชีวิตของจุลินทรีย์ ทั้ง 23 ชนิดที่ตรงตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” รศ.ดร.นพ. กฤษณ์ กล่าวรับรอง

“การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมจุลินทรีย์ในท้องตลาดอาจจะรักษาคุณภาพของจุลินทรีย์ได้เพียง 50% เท่านั้น ทำให้มีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูปรับสมดุลร่างกายได้ผลต่างกันอย่างชัดเจน”

นอกจากนี้ เครื่องสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเฉพาะบุคคลยังสามารถสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกได้ทั้งแบบสายพันธุ์เดียว และแบบผสมสายพันธุ์ อีกทั้ง สามารถสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกได้ตามประเภท ชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์โพรไบโอติกตามสัดส่วนที่ต้องการ

ก้าวใหม่ของการรักษาด้วยจุลินทรีย์ปรับสมดุลร่างกาย

ปัจจุบันเครื่องสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเฉพาะบุคคลได้จดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ตัวเครื่องต้นแบบอยู่ระหว่างการผลิต ซึ่งการใช้งานเครื่องสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเฉพาะบุคคลจะต้องอยู่ใต้การควบคุมของแพทย์ที่ผ่านการอบรมเท่านั้นเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของคนไข้

“สำหรับผู้ที่สนใจปรับสมดุลทางชีวภาพด้วยจุลินทรีย์สามารถมาขอคำปรึกษาแพทย์ได้ที่อาคารภปร. ชั้น 16 เวชศาสตร์ป้องกัน เปิดทุกวันพุธเช้า ซึ่งการปรับสมดุลควรทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ครั้ง (1 คอร์ส) โดยช่วงแรกๆ แพทย์จะนัดมาตรวจร่างกายและให้ดื่มจุลินทรีย์ทุกๆ 2 สัปดาห์ เมื่อร่างกายปรับสมดุลได้แล้ว คนไข้สามารถเว้นช่วงการพบแพทย์ให้ห่างออกไปได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท/คอร์ส”

รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ คาดว่าในปีหน้า (2565) Test kit ชุดตรวจชนิดจุลินทรีย์แบบพกพาและเครื่องสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเฉพาะบุคคลจะผลิตเสร็จและวางจำหน่าย พร้อมใช้งานในโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพต่างๆ

นอกจากนี้ รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าวถึงการร่วมลงทุนกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ช่วยย่อยไขมันในรูปแบบพร้อมดื่มอีกด้วย

กินอยู่อย่างสมดุลช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ดีให้ร่างกาย

รศ.ดร.นพ. กฤษณ์ กล่าวว่า 96% ของการมีสุขภาพดี เกิดจากการดูแลป้องกันร่างกายให้ไม่เกิดโรค ซึ่งการเพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อร่างกายก็เป็นหนึ่งในการดูแลร่างกายให้มีความสมดุลทางชีวภาพ การกินโยเกิร์ต กิมจิ และของหมักดองในชีวิตประจำวันก็ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในร่างกายได้ในเบื้องต้น

“การเลือกกินโยเกิร์ตให้เหมาะกับร่างกายสามารทำได้โดยการสังเกต เพราะโยเกิร์ตแต่ละยี่ห้อจะมีชนิดจุลินทรีย์ที่ต่างกัน ดังนั้น หากต้องการเสริมจุลินทรีย์ให้เหมาะกับร่างกาย ควรลองกินโยเกิร์ตยี่ห้อเดิมจนครบ 7 วันแล้วค่อยเปลี่ยนยี่ห้อ และให้สังเกตร่างกายว่ามีอาการท้องอืด ท้องเสียหายหรือไม่ และควรจดบันทึกอาการทุกๆ วัน เพื่อวิเคราะห์การตอบสนองของร่างกาย ก็จะทำให้เราพบชนิดของจุลินทรีย์ที่ร่างกายต้องการในช่วงเวลานั้นๆ” รศ.ดร.นพ. กฤษณ์ กล่าวแนะนำทิ้งท้าย

ผู้สนใจปรับสมดุลทางชีวภาพด้วยจุลินทรีย์สามารถมาขอคำปรึกษาแพทย์ได้ที่อาคารภปร. ชั้น 16 เวชศาสตร์ป้องกัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดทุกวันพุธเช้า เบอร์โทรศัพท์  0-2256-5425

หรือสนใจสนับสนุนการวิจัย ติดต่อ รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีเมล doctorkrit@gmail.com

เอกสารอ้างอิง

1.   Jahanshahi, M.; Maleki Dana, P.; Badehnoosh, B.; Asemi, Z.; Hallajzadeh, J.; Mansournia, M. A.; Yousefi, B.; Moazzami, B.; Chaichian, S., Anti-tumor activities of probiotics in cervical cancer. J Ovarian Res 2020, 13 (1), 68.

2.   Qiu, G.; Yu, Y.; Wang, Y.; Wang, X., The significance of probiotics in preventing radiotherapy-induced diarrhea in patients with cervical cancer: A systematic review and meta-analysis. Int J Surg 2019, 65, 61-69.

3.   Brady, L. J.; Gallaher, D. D.; Busta, F. F., The role of probiotic cultures in the prevention of colon cancer. J Nutr 2000, 130 (2S Suppl), 410S-414S.

4.   Wollowski, I.; Rechkemmer, G.; Pool-Zobel, B. L., Protective role of probiotics and prebiotics in colon cancer. Am J Clin Nutr 2001, 73 (2 Suppl), 451S-455S.

5.   de Moreno de LeBlanc, A.; Matar, C.; Perdigon, G., The application of probiotics in cancer. Br J Nutr 2007, 98 Suppl 1, S105-10.

6.   Mendoza, L., Potential effect of probiotics in the treatment of breast cancer. Oncol Rev 2019, 13 (2), 422.

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า