รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
14 มกราคม 2565
ผู้เขียน ศุภวรรณ พิพิธสมบัติ
จุฬาฯ นำร่องเปิดศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงทางการแพทย์ เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศที่ได้การรับรองมาตรฐานทัดเทียมศูนย์ฝึกฯ ในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของโลก เตรียมนิสิตและบุคลากรทางการแพทย์ให้เชี่ยวชาญในการรักษาและดูแลสุขภาพคนไข้อย่างมั่นใจ
การเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติผ่านอาจารย์ใหญ่ทำให้นิสิตแพทย์มีความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์ แต่ประสบการณ์ในการลงมือรักษากับผู้ป่วยจริงเป็นชั่วโมงบินสำคัญที่จะเพิ่มความเชี่ยวชาญและเชื่อมั่นในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยยิ่งขึ้น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ก่อตั้งศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงทางการแพทย์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Healthcare Advanced Multi-Profession Simulation Center หรือ ศูนย์ CHAMPS) เพื่อเตรียมนิสิตแพทย์ให้พร้อมสำหรับสนามจริงของชีวิตให้มากที่สุด
“ศูนย์นี้จะช่วยฝึกฝนทักษะด้านสุขภาพให้นิสิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความพร้อม เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโดยการใช้ simulation ทางการแพทย์ การจำลองสถานการณ์ผู้ป่วย การฝึกทักษะการแพทย์ร่วมกับหุ่น อุปกรณ์ และทีมสหวิชาชีพทางการแพทย์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่หลากหลายและถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุชัย สุเทพารักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ CHAMPS ของจุฬาฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเดียวกันกับศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงด้านสุขภาพในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของโลก
ผศ.นพ.สุชัย เล่าถึงการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ว่าในช่วงปีแรกๆ นิสิตจะได้เรียนความรู้เชิงทฤษฎีจากห้องเรียน เช่น ระบบประสาท ระบบเลือด ปรสิตวิทยา เภสัชวิทยา ฯลฯ และเรียนกับร่างอาจารย์ใหญ่เพื่อศึกษากายวิภาคศาสตร์ จนเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4 นิสิตแพทย์จะได้ฝึกทางคลินิก ซึ่งจะได้โอกาสเรียนรู้และทดลองดูแลคนไข้จริงตามโรงพยาบาลต่างๆ ก่อนจะสำเร็จการศึกษา
“การเรียนกับร่างอาจารย์ใหญ่เป็นการศึกษาจากร่างไร้ชีวิต ซึ่งมีข้อจำกัด นิสิตแพทย์ไม่สามารถฝึกฟังเสียงการหายใจและเสียงการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่ป่วยตามอาการของโรคต่างๆ อีกทั้งไม่สามารถฝึกวินิจฉัยโรคจากการสัมผัส และการซักประวัติ” ผศ.นพ.สุชัย กล่าวและเสริมว่าการขาดโอกาสในการฝึกฝนทักษะกับสนามจริงทำให้นิสิตไม่สู้จะมั่นใจในการรักษา จนเมื่อมีศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงทางการแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์
“การฝึกฝนทักษะที่ศูนย์ฯ ช่วยให้นิสิตแพทย์สามารถวินิจฉัยพยาธิสภาพหรือสภาพโรค (Disease) ได้จากฝึกซักประวัติจากอาสาสมัครคนไข้ภายใต้การจำลองสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงฝึกสัมผัส ฟังเสียงอวัยวะในร่างกาย ลองทำหัตถการ (เย็บแผล) บนหุ่นแบบต่างๆ เช่น ฝึกทำคลอดจากหุ่นจำลองสถานการณ์ทำคลอดขั้นสูง ฝึกการเจาะหลอดเลือดดำจากหุ่นจำลองสำหรับฝึกแทงหลอดเลือดดำในเด็ก ฝึกใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ ฝึกทำหัตถการหรือเย็บแผลบนแผ่นหนังเทียม อีกทั้งยังสามารถศึกษาระบบร่างกายมนุษย์ แบบสามมิติด้วยโต๊ะผ่าตัดเสมือนจริงสอนกายวิภาค (Anatomage Table) เป็นต้น” ผศ.นพ.สุชัย อธิบาย
“นิสิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ผ่านการอบรมจากศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงทางการแพทย์จะได้พัฒนาทักษะและเทคนิคใหม่ๆ ในการรักษาคนไข้ และเพิ่มความมั่นใจในการรักษาผู้ป่วยร้ายแรงในสถานการณ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม (Multi professional team) ภายใต้การจำลองสถานกาณณ์การรักษาที่ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ซึ่งการเรียนการสอนที่นี่จะมีการบันทึกเทปวิดีทัศน์ไว้ตลอด ผู้เรียนสามารถรับชมย้อนหลังได้เพื่อปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องในการรักษาของตนและทีมต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ.สุชัย กล่าวว่าห้องเรียนเสมือนจริงทางการแพทย์มีข้อจำกัดอยู่บ้าง ในแง่ที่ยังไม่สามารถจำลองวิกฤต หรือเหตุการณ์ด้านสาธารณสุขใหญ่ๆ ได้ เช่น เหตุการณ์ตึกถล่ม เป็นต้น
ศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงทางการแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์ ประกอบด้วยศูนย์ฝึก 2 หน่วยงาน คือ ศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง (Clinical Skills and Simulation Center: CSSC) และศูนย์ฝึกกู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริง (Simulation and CPR Training Center: SCTC)
ศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง (CSSC) ตั้งอยู่ที่ชั้น 11 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นศูนย์การฝึกทักษะสำหรับนิสิตแพทย์ ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางที่สามารถเรียน 3 วิชาพร้อมกันและจุผู้เรียนได้สูงถึง 150 คน
“ศูนย์เพียบพร้อมด้วยห้องเรียนและเครื่องมือทันสมัย เช่น โต๊ะผ่าตัดเสมือนจริงสอนกายวิภาค (Anatomage Table) การเรียนการสอนแบบ 3 มิติ โดยใช้เทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR ที่มาช่วยเพิ่มความเสมือนจริงในการฝึกฝนทักษะ ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือต่างๆ ให้คล่องแคล่ว” ผศ.นพ.สุชัย กล่าว
“นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังมีหุ่นหัตถการจำลองแบบต่างๆ ที่สามารถปรับฟังก์ชันความเจ็บป่วยให้เหมาะสมกับความต้องการฝึกฝน เช่น หุ่นจำลองสถานการณ์การทำคลอดขั้นสูง หุ่นฝึกช่วยชีวิตเด็กขั้นสูง หุ่นจำลองฝึกวินิจฉัยโรคทางระบบหายใจและปอด หุ่นฝึกตรวจภายใน หุ่นฝึกฉีดยาที่ข้อมือ อีกทั้ง ยังเปิดให้มีการฝึกทักษะพื้นฐานทั่วไป เช่น การฝึกแทงเข็ม น้ำเกลือ การฝึกกู้ชีพ จนถึงการทำหัตถการที่ซับซ้อน อาทิ การผ่าตัดโรคตา เป็นต้น”
ศูนย์ฝึกกู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริง (SCTC) ตั้งอยู่ที่ชั้น 16 อาคารสิรินธร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์ที่เปิดให้เจ้าหน้าที่พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล แพทย์ประจำบ้าน และบุคลากรทางการแพทย์ เข้ามาฝึกทักษะต่างๆ ผ่านการจำลองสถานการณ์เสมือนจริง ซึ่งเป็นแนวทางการฝึกอบรมที่ใช้เป็นมาตรฐานในสถาบันแพทย์ชั้นนำทั่วโลก เป็นการเรียนการสอนที่เชื่อมต่อการเรียนทฤษฎีกับการปฏิบัติงานในผู้ป่วย รวมทั้งการฝึกในสถานการณ์ที่ไม่เคยประสบมาก่อน
เพียงปีเดียวที่ก่อตั้งศูนย์ขึ้นมาอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2564 ศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงทางการแพทย์ แห่งจุฬาลงกรณ์ ก็ได้รับ Official Accreditation (Provisional) จาก SSH — Society for Simulation in Healthcare สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานการบริการงานในระดับนานาชาติ มาตรฐานเดียวกันกับศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงด้านสุขภาพในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของโลกและทวีปเอเชีย อาทิ ศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงด้านสุขภาพในโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยดุ๊กร่วมกับมหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ (Duke-NUS) และมหาวิทยาลัยการแพทย์ไทเป (TMU) เป็นต้น
“การรับรองมาตรฐานเป็นเพียงก้าวแรกที่จะกำกับการบริหารงานของศูนย์ CHAMPS ให้เติบโตและพัฒนาตามแบบสากลระดับโลก ในปี 2564 นี้ เราได้รับการรับรองมาตรฐานระดับพื้นฐาน และเราตั้งใจว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า เราจะก้าวสู่การรับรองมาตรฐานเต็มรูปแบบ เรามั่นใจว่าจะไปถึงจุดนั้นแน่นอน” ผศ.นพ.สุชัย กล่าวด้วยความมุ่งมั่นและทิ้งท้ายว่า “ศูนย์ CHAMPS มีความพร้อมที่จะให้บริการด้านการเรียนการสอน และงานสนับสนุนการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเราจะไม่หยุดพัฒนาศักยภาพของเราให้ทันสมัยตลอดเวลา”
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยงานด้านสาธารณสุขภายนอกที่สนใจร่วมฝึกทักษะกับศูนย์ฝึกทักษะเสมือนจริงทางการแพทย์ แห่งจุฬาลงกรณ์ (ศูนย์ CHAMPS) สามารถแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าได้ที่ ศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0 2256 4000 ต่อ 81105 และอีเมล cssc.mdcu@chula.md และสามารถเยี่ยมชมศูนย์ CHAMPS แบบ 360 Virtual Tour ได้ที่นี่ https://shorturl.asia/IJz5F
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้