Highlights

แพทย์ไทยสำเร็จ! ผลิตข้อสะโพกเทียมครั้งแรก เพื่อผู้สูงวัยเดินได้ คุณภาพชีวิตดี


ทีมแพทย์และวิศวฯ จุฬาฯ พัฒนาข้อสะโพกเทียมสำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย รักษาผู้ป่วยสูงวัยที่ข้อสะโพกหักได้ผลไว ค่าใช้จ่ายถูกลง พร้อมต่อยอดผลิตข้อเข่าและข้อเทียมอื่นๆ ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตสังคมสูงวัย


ข้อสะโพกหักเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยและบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ทำให้หลายคนเดินไม่ได้ เข้าสู่ภาวะพึ่งพิงและมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา มีการประมาณการณ์ว่าผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาข้อสะโพกหักในประเทศไทยมีมากถึง 8,000 รายต่อปี และแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีตามสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้น 

รศ.นพ.วัชระ วิไลรัตน์

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชระ วิไลรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยศัลยศาสตร์ข้อเข่าและสะโพกเทียม ฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงปัญหาข้อสะโพกหักในผู้สูงวัยว่า “การเสื่อมสภาพของกระดูกสะโพกเป็นไปตามวัย ผู้สูงอายุจะมีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง ถ้ามีการทรงตัวไม่ดี มีโอกาสล้มได้มากขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้กระดูกข้อสะโพกหักได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่นๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยจะไม่สามารถเดินได้ เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แผลกดทับ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีภาวะปอดบวมตามมาและอาจเสียชีวิตในที่สุด”

ที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าข้อสะโพกเทียมจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง และบางครั้งมีขนาดไม่เหมาะกับกระดูกของผู้ป่วยชาวไทยที่มารับการรักษา รศ.นพ.วัชระ จึงริเริ่มโครงการพัฒนาข้อสะโพกเทียม โดยร่วมมือกับภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผลิตข้อสะโพกเทียมได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย

“เราอยากให้ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาข้อสะโพกหักได้ใช้งานข้อสะโพกเทียมแล้วสามารถเดินได้และใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ” รศ.นพ.วัชระ กล่าวถึงความตั้งใจในการพัฒนานวัตกรรมข้อสะโพกเทียมมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี จนคว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2563 ระดับดีมาก จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

วัสดุประกอบสะโพกเทียม

ข้อสะโพกเทียมฝีมือคนไทย ปลอดภัยได้มาตรฐาน

            รศ.นพ.วัชระ เผยว่าข้อสะโพกเทียมทำมาจากโลหะประเภทโคบอลต์ โครเมียม และไทเทเนียม ผ่านการทดสอบต่างๆ ทั้งเรื่องการเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อมนุษย์ การกัดกร่อนและแรงต้านของโลหะ ความไม่เป็นพิษในระดับเซลล์หรือทดสอบการแพ้ต่อผิวหนัง และได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต ISO 10993 และมาตรฐานจากการทดสอบความทนทานแข็งแรงและใช้งานได้นานตามหลัก ISO 7206

            “นวัตกรรมนี้ผ่านกระบวนการทดสอบครบทุกด้าน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย ข้อสะโพกเทียมนี้สามารถนำมาใช้งานได้จริงในผู้ป่วย ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด รวมทั้งยังสามารถอ้างอิงจากโครงสร้างทางสรีระของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเป็นรายบุคคลได้อีกด้วย ทำให้การใช้งานข้อสะโพกเทียมนั้นใกล้เคียงกับข้อสะโพกเดิมของผู้ป่วย”

ภาพเอ็กซเรย์เมื่อใส่อุปกรณ์ข้อสะโพกเทียม

คุณภาพชีวิตดีหลังเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

นอกจากการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ แล้ว รศ.นพ.วัชระ ยังได้ทดสอบประสิทธิภาพของข้อสะโพกเทียมกับผู้ป่วยสูงอายุที่ประสบอุบัติเหตุข้อสะโพกหัก โดยเปิดเป็นโครงการพิเศษให้บริการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแก่ผู้สูงวัยจำนวน 30 ราย ในสถานพยาบาล 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ และโรงพยาบาล ณ ศรีราชา แห่งละ 10 ราย ทั้งนี้ ผู้เข้าโครงการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมต้องมีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ไม่มีภาวะติดเชื้อหรือโรคทางสมอง สื่อสารเข้าใจได้ดีและสามารถให้ความร่วมมือกับแพทย์ได้

ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยข้อสะโพกหักที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมในโครงการพิเศษนี้แล้วจำนวน 8 ราย ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่ง รศ.นพ.วัชระ กล่าวว่าผลตอบรับการรักษาเป็นที่น่าพอใจมาก

ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 2 – 3 วัน ลดระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้มาก ไม่เป็นภาระในการดูแลของครอบครัว ที่สำคัญ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยอันเนื่องมากจากการติดเชื้อในระบบต่างๆ ของร่างกายอีกด้วย ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วยิ่งขึ้น เดินและทำกิจกรรมประจำวันได้ดีเหมือนก่อนผ่าตัด

นอกจากการดูแลสุขภาพหลังการผ่าตัดตามมาตรฐาน อาทิ การติดเชื้อ ภาวะ ลิ่มเลือดอุดตัน ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจติดตามเป็นระยะๆ โดยทุกปี ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจค่าโลหะต่างๆ ในร่างกาย เพื่อไม่ให้ปริมาณโลหะมากจนเป็นอันตรายกับร่างกาย

ผู้ป่วยหลังการผ่าตัด

นวัตกรรมของคนไทยตอบโจทย์สังคมสูงวัย

รศ.นพ.วัชระ ย้ำความภูมิใจที่คนไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีข้อสะโพกเทียมได้สำเร็จ ลดการนำเข้าวัสดุข้อสะโพกเทียมจากต่างประเทศ และสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นข้อเทียมอื่นๆ ในร่างกาย โดยปัจจุบัน โครงการฯ กำลังร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผลิตข้อสะโพกเทียมแบบ 2 ชิ้น (total hip arthroplasty) ทั้งเบ้าของกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อสะโพกเสื่อมแต่ไม่หัก นอกจากนี้ ก็กำลังพัฒนาโครงการประดิษฐ์ข้อเข่าเทียมสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมซึ่งพบจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมสูงวัยอีกด้วย  

ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อสะโพกหัก สามารถติดต่อขอรับการรักษาได้ที่แผนกโรคข้อและกระดูก​ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์​ ได้ตลอด​ 24​ ชั่วโมง

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า