รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
11 เมษายน 2565
ผู้เขียน ชาติสยาม หม่อมแก้ว
อาจารย์ชีวเคมี จุฬาฯ เผยผลวิจัย พบเครื่องดื่มกัญชาที่สุ่มตรวจกว่า 30 % มีปริมาณสาร THC เกินกำหนด เตือนผู้บริโภคดื่มแต่น้อย เด็กไม่ควรดื่ม แนะรัฐออกมาตรการควบคุม สื่อสารทั้งคุณและโทษของกัญชา
หลังจากที่กัญชาและกัญชงถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติด เปิดทางสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจ ตลาดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาก็คึกคักและขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีทั้งชากัญชา กาแฟกัญชา ตลอดจนตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีกัญชาผสม ปัจจุบัน กัญชาจึงกลายเป็นเครื่องดื่มที่เข้าถึงง่ายและกระจายสู่ทุกกลุ่มผู้บริโภค
ข้อมูลจากการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เพื่อการพัฒนาศักยภาพการวิจัย และนักวิชาการการเสพติด ครั้งที่ 9 ที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ 2565) เผยว่าคนไทยที่ใช้กัญชามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ เกือบเท่าตัว โดยผลสำรวจล่าสุด (ปี 2564) มีคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ใช้กัญชา จำนวนประมาณ 1.89 ล้านคน หรือคิดเป็น 4.3% เทียบกับผลสำรวจเมื่อปี 2563 ที่มีผู้ใช้กัญชาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน
เทรนด์การบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาทำให้แพทย์และนักวิจัยด้านสารเสพติดหลายท่านรู้สึกกังวลถึงผลกระทบของสาร THC ในกัญชา ที่หากผู้บริโภคได้รับในปริมาณที่สูงและอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า จิตเภท หลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งอัณฑะ เป็นต้น
ด้วยความห่วงใยต่อสุขภาพของผู้บริโภค รองศาสตราจารย์ ดร.เกื้อการุณย์ ครูส่ง อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำร่องศึกษาวิจัยหาปริมาณสาร ∆9-THC หรือ delta9-tetrahydrocannabidol ในเครื่องดื่มกัญชาที่จำหน่ายในร้านขายเครื่องดื่มทั่วไป เพื่อหาว่ามีปริมาณสาร ∆9-THC เกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดหรือไม่
“เมื่อมีการนำกัญชามาเป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่มอย่างเสรี ทำให้คนทั่วไป รวมถึงเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สื่อหรือโฆษณาต่างๆ ก็มักพูดถึงแต่ข้อดีของกัญชา ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ทางสันทนาการ หรือนำมารักษาโรค โดยลืมไปว่าผลเสียหรือโทษของกัญชาก็ยังคงมีอยู่หากได้รับในปริมาณที่เกินกำหนด แพทย์หลายท่านก็ออกมาเตือนด้วยว่าไม่ให้เด็กรับประทานโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจส่งผลต่อระบบประสาท สมองและพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งจิตแพทย์ก็ชี้ว่าสาร ∆9-THC ในกัญชามีผลต่อสุขภาพจิต สมาธิ และเรื่องของภาวะอารมณ์ด้วย” รศ.ดร.เกื้อการุณย์เล่าถึงที่มาของโครงการวิจัย ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)
โครงการวิจัยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านที่เข้ามาร่วมวิจัย อาทิ รองศาสตราจารย์ พญ.รัศมน กัลยาศิริ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการ ศศก. เป็นที่ปรึกษางานวิจัย รองศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สรกนก วิมลมั่งคั่ง ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับกัญชาและสารธรรมชาติจากกัญชาอยู่ก่อนแล้ว เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ มาช่วยดูเรื่องปริมาณสาร ∆9-THC ในเครื่องดื่มที่เก็บตัวอย่างมา
คณะผู้วิจัยได้เก็บตัวอย่างเครื่องดื่มกัญชาและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา ที่ขายอยู่ทั่วไปในร้านขายเครื่องดื่มและคาเฟ่ต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร 30 กว่าตัวอย่าง มีทั้งเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ โซดา และประเภทที่ใส่นม โดยกรรมวิธีการตรวจสอบตัวอย่างเครื่องดื่มนั้นใช้วิธีมาตรฐานระดับสากลที่ใช้ตรวจหาสาร ∆9-THC ในอาหาร ได้แก่เทคนิคที่เรียกว่า GC-MS (Gas chromatography-Mass spectroscopy) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้แยกและระบุสารต่างๆ ภายในตัวอย่างทดสอบ และ HPLC (High Performance Liquid Chromatography) ในการแยกสารผสมและการหาเชิงปริมาณของสารเป้าหมาย โดยใช้เครื่องสูบแรงดันสูง (high pressure pump)
“ถามว่าเพราะอะไรจึงต้องเป็นเฉพาะเครื่องดื่มกัญชาจากร้านทั่วไป คือหากเป็นเครื่องดื่มกัญชาประเภทสำเร็จรูป พวกนั้นจะมีการขอ อย. และมีฉลากแสดงชัดเจนว่ามีส่วนประกอบของสาร ∆9-THC ปริมาณเท่าไรต่อ 100 มิลลิลิตร หรือต่อ 1 หน่วยบริโภค แต่เครื่องดื่มที่ขายในร้านประเภทคาเฟ่ ส่วนมากสูตรของเครื่องดื่มจะทำกันขึ้นมาเอง แม้กระทั่งเมนูเดียวกัน ก็ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าแต่ละแก้วมีปริมาณสาร ∆9-THC เท่ากันหรือเปล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว”
สำหรับผลการสุ่มตรวจหาปริมาณสาร ∆9-THC ดังกล่าว รศ.ดร.เกื้อการุณย์ เผยว่า “เครื่องดื่มที่สุ่มตรวจส่วนใหญ่มีสาร ∆9-THC ในปริมาณที่ไม่เกินจากที่สาธารณสุขกำหนด แต่ราว 30 % พบว่ามีปริมาณสาร ∆9-THC เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือแนะนำให้ไม่เกิน 0.015 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ซึ่งหากผู้บริโภคเจอร้านหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณสาร THC เกินกำหนดเหล่านี้ก็จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้สาร ∆9-THC”
อย่างไรก็ดี งานวิจัยไม่สามารถเปิดเผยหรือระบุว่าเครื่องดื่มใด จากร้านใด มีปริมาณสาร ∆9-THC เท่าไร แต่อาจนำเสนอในรูปแบบรายงานของ ศศก. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับงานด้านนโยบายต่อไปในอนาคต
งานวิจัยสำหรับปีนี้ (2565) ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และในอนาคต รศ.ดร.เกื้อการุณย์ คาดว่าจะวิจัยโดยมีการเก็บตัวอย่างมากขึ้น อาจจะเป็นการขยายพื้นที่เก็บตัวอย่างไปยังส่วนภูมิภาค หรือเก็บตัวอย่างในอาหารชนิดอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากเครื่องดื่ม
สำหรับผู้บริโภค สิ่งที่ รศ.ดร.เกื้อการุณย์ รู้สึกเป็นกังวลคือปริมาณของสาร ∆9-THC ที่ได้รับต่อวัน ด้วยประเทศไทยยังไม่เคยมีการกำหนดหรือมีข้อแนะนำว่าควรหรือไม่ควรบริโภคในปริมาณเท่าไรต่อวัน ยกตัวอย่างเช่น ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ควรบริโภคเกินกี่ไมโครกรัม หากเกินกว่านั้นอาจจะได้รับผลข้างเคียง เป็นต้น ซึ่งแม้แต่ในต่างประเทศเองก็ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะยังไม่มีงานวิจัยในเรื่องผลระยะยาวจากการบริโภค ทั้งนี้ อาจจะกำหนดการบริโภคเครื่องดื่มกัญชาหรือที่มีส่วนผสมของกัญชาให้เหมือนเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง ที่มีคำเตือนที่คุ้นหูว่าไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด เป็นตัวอย่าง
“แม้แต่ร้านค้าหรือผู้ประกอบการเอง ปัจจุบันก็น่าจะยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าห้ามไม่ให้มีปริมาณสาร ∆9-THC เท่าไรต่อเครื่องดื่ม 1 แก้ว หรือต่อให้ทราบ ก็ไม่น่าจะสามารถควบคุมปริมาณได้ เพราะไม่เคยมีการตรวจ อีกทั้งกรรมวิธีที่ใช้ในการผลิตของแต่ละร้านก็ต่างกัน หากใช้ใบนำมาต้มผสมเครื่องดื่ม อันนั้นอาจจะไม่ค่อยน่าห่วง เพราะได้ปริมาณสาร ∆9-THC ออกมาค่อนข้างน้อย แต่ถ้ามีการสกัดด้วยความร้อน หรือใช้เป็นน้ำมันสกัด อันนั้นน่ากังวลมาก และไม่มีทางที่ผู้ประกอบการจะรู้เลยว่า อาหารหรือเครื่องดื่มของตนต่อ 1 serve มีปริมาณ ∆9-THC เท่าไร”
ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.เกื้อการุณย์ จึงแนะนำผู้ที่ต้องการทดลองดื่มเครื่องดื่มที่ผสมกัญชาหรือกัญชงให้ใช้ความระมัดระวังและบริโภคแต่น้อย เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสาร ∆9-THC มากจนเกิดอันตราย และไม่แนะนำเด็ดขาดสำหรับเด็กในวัยเรียน เนื่องจากยังไม่ทราบผลในระยะยาว
ร้านที่ขายเครื่องดื่มกัญชาหรืออาหารที่ผสมกัญชา ควรมีป้ายหรือประกาศแจ้งให้ผู้บริโภครับทราบอย่างชัดเจน เพื่อผู้ที่ไม่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชาและผู้ปกครองจะได้ระมัดระวัง
การส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อพัฒนากัญชาและกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจมีส่วนทำให้หลายฝ่าย รวมถึงสื่อ เน้นกล่าวถึงคุณประโยชน์ของกัญชา โดยละเลยและมองข้ามโทษของกัญชา
“ปัจจุบัน ในสื่อต่างๆ มักจะนำเสนอแต่ด้านและประโยชน์ของกัญชา ในฐานะพืชสมุนไพรที่สร้างรายได้ มีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูด ทำให้เห็นว่าเป็นสินค้าน่าซื้อ ไม่มีอันตราย ซึ่งหากมีใครออกมาพูดถึงข้อเสีย เสียงก็คงไม่ดังเท่าไร เพราะเป็นด้านที่ไม่ทำเงินและฟังดูล้าสมัย”
“แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากัญชาก็ยังมีด้านที่เป็นโทษ จริงๆ แล้ว ในกัญชามีสารอีกหลายตัวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ตัวที่มีผลเสียมากที่สุดก็คือสาร ∆9-THC นี่แหละ หากบริโภคโดยไม่ระวัง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มักจะอยากรู้อยากลองและบริโภคตามกระแส จึงอยากให้มีการรณรงค์ทั้งสองด้าน คือ พูดเรื่องประโยชน์ แต่ก็ไม่ลืมเรื่องโทษด้วยเช่นกัน” รศ.ดร.เกื้อการุณย์ กล่าวเน้นด้วยความห่วงใยแม้ในปัจจุบัน กัญชาและกัญชงจะได้รับการปลดล็อคถอดออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้ได้โดยทั่วไปอย่างเสรี หากมีปริมาณสาร ∆9-THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ก็ยังถือว่าเป็นยาเสพติด ดังนั้น ผู้บริโภคควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากกัญชาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้